'โควิด-19' กับการระบาด 'ระลอก2' และ 'ระลอกใหม่' ต่างกันยังไง?
เพจ “หมอเวร” ให้ข้อมูลว่าคำทั้งสองมีความหมายที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นคำเชิงวิชาการ ที่คนทั่วไปอาจจะไม่เข้าใจ ชวนรู้ความแตกต่างของคำว่า “ระบาดระลอก 2” และ “ระบาดระลอกใหม่” ว่าคืออะไรแน่?
ยอดตัวเลขของผู้ติดเชื้อ “โควิด-19” ในประเทศไทยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในวันนี้ (21 ธ.ค.) ศบค. แถลง "ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 " ไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 382 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 5,289 ราย
โดยจุดเสี่ยงสูงของการติดเชื้อโควิด-19 ในครั้งนี้เกิดขึ้นในจังหวัด “สมุทรสาคร” ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ และผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ประกาศ "ล็อกดาวน์" จังหวัดตั้งแต่คืนวันที่ 19 ธ.ค. 63 พร้อมกับนายแพทย์ ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงยืนยันถึงภาวะการแพร่เชื้อที่เพิ่มขึ้น แต่ยังคงยืนยันว่าสถาณการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยไม่ถือเป็นการ “ระบาดระลอก 2” แต่คือ “การระบาดระลอกใหม่”
ฟังอย่างไรความหมายของทั้งสองคำก็ดูไม่ต่างกัน ทำให้ชาวโซเชียลตั้งคำถามว่าคำทั้งสองคำมีความแตกต่างกันอย่างไร เพจ “หมอเวร” ให้ข้อมูลว่า คำทั้งสองมีความหมายที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นคำเชิงวิชาการที่คนทั่วไปอาจจะไม่เข้าใจ โดยสรุปความแตกต่างของ “ระบาดระลอก 2” และ “การระบาดระลอกใหม่” มีดังนี้
- คำว่า "ระบาดระลอกใหม่" เรียกว่า newly emerging
เมื่อดูลักษณะการระบาด พบว่าเกิดจากการติดเชื้อใหม่จากอีกกลุ่มก้อนหนึ่งซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าว ซึ่งไม่ได้เชื่อมโยงกับการระบาดในระลอกแรกอย่างตอนสนามมวยหรือผับที่ทองหล่อ
- คำว่า "ระบาดระลอกสอง" เรียกว่า re-emerging
พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องมีผลพวงอันเกิดจากการระบาดรอบแรกด้วยถึงจะใช้คำนี้ได้ ซึ่งเคสในจังหวัดสมุทรสาครครั้งนี้ ไม่ได้เชื่อมโยงกัน และเป็นเชื้อจากข้างนอกเข้ามาใหม่ ไม่ใช่เชื้อเดิมที่เคยตกค้างในประเทศแล้วแพร่อีกรอบ
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศ ณ ขณะนี้จึงถูกเรียกว่า “ระบาดระลอกใหม่” เมื่อเปรียบเทียบง่ายๆ คล้ายกับการการดูภาพยนตร์ภาคต่อยาวถึง 7 ภาค แล้วผู้กำกับตัดสินใจทำภาพยนต์เกี่ยวกับตัวละครในเรื่องแยกออกมา ดังนั้นจึงนับภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นเรื่องใหม่ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง 7 ภาคที่ผ่านมา
นอกจากให้ เพจหมอเวร ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การเรียกแยกกันระหว่าง “การระบาดระลอก 2” และ “การระบาดระลอกใหม่” ยังส่งผลดีในแง่ของการบันทึก และสามารถใช้อ้างอิงในการสืบค้นทางระบาดวิทยาในอนาคตได้ง่ายกว่า เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการวิเคราะห์โรค