เมื่อโควิดมา! ‘พรีมาฯ’ เร่งเดินแผนนวัตกรรม จากเลเซอร์สู่หน้ากากนาโน
"พรีมาฯ" ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย โชว์นวัตกรรมใหม่แกะกล่อง "หน้ากากหน้าอนามัยชนิดใช้ซ้ำได้" ตอบโจทย์การป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 และฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 หวังเสริมเกราะนักรบเสื้อกราวน์-ประชาชนทั่วไป ในวันที่โควิดกลับมาเยือนใหม่อีกครา!
จากความเชี่ยวชาญทางด้านนวัตกรรมเลเซอร์ของ “เจริญ ตั้งตรงเบญจศีล” นำมาสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมดูแลสุขภาพหลายรายการ เช่น แสงเลเซอร์กำลังต่ำเพื่อการบำบัด หมวกเลเซอร์สำหรับผู้มีปัญหาผมร่วงบาง และรองเท้าเลเซอร์สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน แบ็คอัพด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และการวิจัยพัฒนาร่วมกับสถาบันการศึกษาในไทย รวมถึงการทดสอบจากแล็บต่างประเทศ โดยเฉพาะหมวกเลเซอร์ที่ก้าวเข้าสู่การขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา
พลิกโควิดให้เป็นโอกาส
มาวันนี้ “เจริญ” ได้แตกไลน์การผลิตสู่นวัตกรรมอีกครั้งกับ “หน้ากากอนามัยชนิดใช้ซ้ำได้” และ “นวัตกรรมหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะชนิดมีพัดลมพร้อมชุดกรองอากาศ” ผ่านการสนับสนุนเงินอุดหนุนในรูปแบบ “การสนับสนุนด้านวิชาการ” จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ ภายใต้โครงการนวัตกรรมมุ่งเป้า จำนวน 2.895 ล้านบาท
เจริญ ตั้งตรงเบญจศีล กรรมการผู้จัดการบริษัท พรีมา เลเซอร์ เทอร์ราพี จำกัด กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการทำหน้ากากอนามัยฯ มาจากการที่ประเทศไทยประสบกับภาวะฝุ่นละออง พีเอ็ม 2.5 เกินมาตรฐาน ทำให้เกิดภาวะวิกฤติของคุณภาพอากาศ และปัญหาขยะหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง ประกอบกับเป็นช่วงที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การเข้าถึงหน้ากากอนามัยเป็นไปได้อย่างลำบาก
เนื่องด้วยความต้องการใช้จำนวนมากและเกิดการกักตุน จนไม่เพียงพอต่อบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไป อีกทั้งวัตถุดิบหลักในส่วนของฟิลเตอร์คือ Melt brown ผลิตไม่ทันต่อความต้องการ และประมาณการใช้หน้ากากยังเป็นการสร้างขยะอันมหาศาลในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากส่วนประกอบทำมาจากโพลีเมอร์
จึงได้ทำการศึกษาโครงสร้างหน้ากากทั่วไป พร้อมกับคิดหาวัสดุที่สามารถใช้ทดแทนและมีความต้องการใช้ต่ำในตลาด แต่มีฟังก์ชั่นการใช้งานเทียบเท่ากับ Medical grade mask หรือ Surgical mask ที่ยังมีคุณสมบัติกรองฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ได้ด้วย จนได้ผลสรุปเป็น PTFE หรือ Teflon กระทั่งผ่านมาตรฐานการทดสอบเครื่องมือแพทย์ อีกทั้งในส่วนของหน้ากากผ้าได้มีการถักทอเส้นใยผสมกับของซิลเวอร์นาโน เพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียจากภายในออกสู่ภายนอก อีกทั้งยังเป็นการลดกลิ่นน้ำลาย เมื่อใส่เป็นระยะเวลานานผู้ใช้จะไม่รู้สึกอึดอัดสามารถใส่ได้สบายตลอดทั้งวัน
หลังจากนั้นจึงส่งตัวอย่างไปที่ Nelson labs ในสหรัฐอเมริกา ทำการทดสอบการป้องกันไวรัส (VFE) และป้องกันฝุ่น (PFE) จากผลการทดสอบ พบว่า มีความสามารถในการกรองทั้งฝุ่น และ เชื้อโรค (ไวรัสและแบคทีเรีย) ที่มีขนาด 0.1-0.3 ไมครอน ได้ที่ 95% และ 0.5 ไมครอน หรือใหญ่กว่าที่ 99% อีกทั้งเมื่อสวมใส่แล้วช่วยให้หายใจสะดวก ไม่ทำให้ใบหน้าระคายเคือง สามารถถอดแยกเพื่อทำการซักล้างได้ จากการทดลองใช้ประมาณ 9 เดือน พบว่ายังสามารถใช้งานได้ดีตามปกติ
ทั้งนี้ ยกตัวอย่างการรับรองของมาตรฐานหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เช่น EN14683 และมีการทดสอบ Biocompatibility เพื่อดูว่าไม่เป็นพิษต่อเซลล์ ทดสอบความระคายเคือง ตามมาตรฐานที่เรียกว่า ISO10993 เมื่อทดสอบจะพบว่านุ่มไม่ระคายเคืองและลดการเหม็นน้ำลาย ลดการแพ้ ผื่นแดง และอัตราการเกิดสิวจะน้อยลง
เส้นทางธุรกิจนวัตกรรม
“แผนธุรกิจในช่วงแรกมุ่งตลาดในประเทศเป็นอันดับแรก อีกทั้งการบริหารจัดการเรื่องของ cash flow เมื่อมีฐานลูกค้าในประเทศที่ดีในลำดับหนึ่ง การขยายสู่ตลาดต่างประเทศสามารถไปทีละขั้นตอน ส่วนตลาดเป้าหมายที่เล็งไว้คือ ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน”
ช่องทางการตลาดในระยะเวลาเดือนกว่าๆ ที่ผ่านมาได้โฟกัสทางโซเชียลมีเดียเป็นหลัก เพราะจากที่ประเมินธุรกิจในช่วงโควิดพบว่า หลายๆ ธุรกิจล้มหายตายจากเพราะค่าเช่าที่ ส่วนแบรนด์ที่สามารถอยู่รอดและเข้าถึงผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ส่วนใหญ่พึ่งพาช่องทางออนไลน์ ขณะเดียวกันก็จับคู่กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องให้เป็นผู้จัดจำหน่าย อย่างเช่น หมวกเลเซอร์ที่จับคู่กับ “ชลาชล แฮร์ สตูดิโอ” ส่งผลให้ยอดขายเติบโต 2 เท่า แม้กระทั่งช่วงโควิดแพร่ระบาดก็ไม่กระทบยอดขาย
“ธรรมชาติการทำตลาดสินค้านวัตกรรม ซึ่งเป็นสิ่งใหม่สำหรับผู้บริโภคจึงต้องสร้างการรับรู้เกี่ยวกับตัวนวัตกรรมให้เกิดกับผู้บริโภคผ่านช่องทางต่างๆ โดยจะเน้นนำเสนอเนื้อหาที่เป็นผลการทดสอบ เพื่อสร้างความเข้าใจ เชื่อมั่นและยอมรับในผลิตภัณฑ์ทั้งด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย กระทั่งเกิดความรู้สึกคุ้มค่าที่จะซื้อใช้ จึงถือเป็นความท้าทายในการเป็นบริษัทที่ผลิตสินค้านวัตกรรม"
เจริญ กล่าวอีกว่า “ความเชื่อ” เป็นสิ่งที่เปลี่ยนยาก แต่สามารถเปลี่ยนได้โดยอาศัยการพูดคุยให้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ พร้อมทั้งดูว่าผู้บริโภคมีความกังวลอะไรแล้วนำประเด็นที่กังวลนั้นมาแปลงเป็นคอนเทนต์โดยประสานให้แพทย์เป็นผู้อธิบายสร้างความเข้าใจ ตลอดจนการใช้อินฟลูเอนเซอร์ทำหน้าที่สื่อสารในช่องทางออนไลน์ต่างๆ