‘การบินไทย’เล็งยื่นศาล เลื่อนส่งแผนฟื้นฟู 1 เดือน

‘การบินไทย’เล็งยื่นศาล เลื่อนส่งแผนฟื้นฟู 1 เดือน

“ชาญศิลป์” ดันการบินไทยเดินหน้าปี 2564 วางเป้าหมายรายได้สูงสุด 2.5 หมื่นล้านบาท เผยคืบหน้าแผนฟื้นฟู เตรียมยื่นศาล ก.พ.นี้ รับกระแสเงินสดในมือมีเพียงพอ พ.ค.ปีหน้า รับโควิดระบาดรอบใหม่ กระทบเที่ยวบินในประเทศลด 10% หันเพิ่มรายได้นอนแอร์โร

กระบวนการฟื้นฟูกิจการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นเมื่อวันที่ 14 ก.ย.2563 เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้การบินไทยดำเนินการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งก่อนหน้านี้การบินไทยมีเป้าหมายออกจากแผนฟื้นฟูภายใน 5 ปี และขณะนี้อยู่ระหว่างการทำแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อเสนอศาลล้มละลายกลาง

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์หน้าการบินไทยเตรียมยื่นศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอขยายเวลาส่งแผนฟื้นฟูกิจการออกไปอีก 1 เดือน จากเดิมที่มีกำหนดส่งแผนวันที่ 2 ม.ค.2564 เป็นวันที่ 2 ก.พ.2564 ซึ่งขั้นตอนหลังจากนั้น เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ จะมีการเรียกประชุมเจ้าหนี้ คาดว่าจะจัดประชุมในกลางเดือน มี.ค.2564

ทั้งนี้ หากเจ้าหนี้เห็นชอบแผนฟื้นตามที่การบินไทยเสนอ ก็คาดว่าศาลล้มละลายกลางจะพิจารณาเห็นชอบแผนฟื้นฟูอีกครั้งในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.2564 และการบินไทยมั่นใจว่าจะดำเนินการตามแผนที่วางไว้ เมื่อได้รับอนุมัติก็จะเดินหน้าดำเนินการตามที่กำหนด อย่างไรก็ดี ตามกฎหมายระบุไว้ว่าต้องดำเนินการตามแผนแล้วเสร็จในช่วงแรก 5 ปี และขยายได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ปี โดยรวมจึงจะใช้เวลาดำเนินการแผนฟื้นฟูไม่เกิน 7 ปี

“โควิดทำให้การเดินทางหายไปเยอะมากในปี 2563 มีผลรุนแรงอย่างยิ่งกับธุรกิจการบิน อุตสาหกรรมการบินทั่วโลก รายได้หายไป 9.8 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ก็ทำให้การบินไทยเกิดการปรับตัวอย่างมาก โดยในช่วงที่ผ่านมาการบินไทยมีเที่ยวบินในประเทศเริ่มกลับมา 60-70% แต่เมื่อเกิดโควิดเชียงรายและสมุทรสาคร ก็กระทบปริมาณหายไปเกือบ 10%”นายชาญศิลป์ กล่าว

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า การบินไทยยังคงสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงที่ผ่านมาสร้างรายได้ในประเทศ นอกเหนือจากธุรกิจการบิน ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากครัวการบิน รายได้ต่างประเทศก็เพิ่มรายได้จากการขนส่งสินค้า (คาร์โก้) และเที่ยวบินรับคนไทยกลับบ้าน ซึ่งแม้ว่าการเพิ่มรายได้ดังกล่าวจะไม่สามารถชดเชยกับรายได้ที่การบินไทยเคยมีเดือนละกว่า 1 หมื่นล้านบาทได้ แต่เป็นรายได้ที่ช่วยทำให้การบินไทยหาอย่างไม่หยุดนิ่ง

ปีหน้าลดรายจ่ายอีก30%

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า ในปี 2564 การบินไทยจะพยายามหารายได้จากทุกช่องทางที่สามารถดำเนินการได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้นอกเหนือธุรกิจการบิน (นอนแอร์โร) การสร้างให้การบินไทยเป็นศูนย์กลลางภาคพื้นที่ให้บริการด้านภาคพื้นแก่สายการบินอื่น ทั้งงานบริการด้านอาหาร ด้านการซ่อมบำรุง และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง อีกทั้งในปี 2564 การบินไทยยังคาดการณ์ว่าจะลดค่าใช้จ่ายลงอีก 30% โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านพนักงานที่จะลดจาก 1.3 หมื่นล้านบาท เหลือ 9 พันล้านบาท จากความร่วมมือของพนักงานทุกคน

นายชาย เอี่ยมศิริ ผู้รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงินและการบัญชี การบินไทย กล่าวว่าว่า รายได้ของการบินไทยลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งการบินไทยพยายามรักษากระแสเงินสดในมือให้ได้นานที่สุด เพราะไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าโควิด-19 จะคลี่คลายเมื่อไหร่ ทั้งนี้ การบินไทยประเมินว่าควรได้รับการเห็นชอบแผนฟื้นฟูจากศาลล้มละลายกลางภายในเดือน พ.ค.2564 เพื่อสอดคล้องกับกระแสเงินสดที่มีอยู่

“ปกติเรามีรายได้ 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท แต่ปัจจุบันเหลืออยู่ไม่กี่พันล้านบาทต่อเดือน เราก็พยายามลดค่าใช้จ่าย ไทม์ไลน์ตอนนี้คือไม่เกินเดือน พ.ค.นี้ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากศาล หากไม่ได้เราก็คงลำบาก ธุรกิจต่อเนื่องก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย เราพยายามดึงกระแสเงินสดให้ไปถึงไทม์ไลน์ที่พูดไว้ แต่ทั้งหลายทั้งปวงก็ขึ้นอยู่กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วยที่จะช่วยทั้ง คู่ค้า ภาครัฐและเจ้าหนี้” นายชาย กล่าว

เพิ่มรายได้"นอนแอร์โร"

นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หน่วยธุรกิจบริการการบิน การบินไทย กล่าวว่า ช่วงปกติการบินไทยสามารถสร้างรายได้คาร์โก้คิดเป็น 30% จากรายได้โดยรวม และคาดการณ์ว่าในปี 2563 คาร์โก้จะมีปริมาณขนส่งสินค้าสูงถึง 1.1 แสนตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงมากหากเทียบกับสถานการณ์การขนส่งช่วงโควิด-19 ระบาดเช่นนี้

อีกทั้งหน่วยธุรกิจบริการการบิน ยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างรายได้ให้องค์กรในช่วงวิกฤต โดยมีรายได้รวมช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.2563 ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 มีจำนวน 8,675 ล้านบาท และประมาณการรายได้รวมช่วงเดือน เม.ย.–ธ.ค.2563 มีจำนวน 5,204 ล้านบาท รวมรายได้ปี 2563 คาดว่าจะมีจำนวน 13,879 ล้านบาท ซึ่งแผนในปี 2564 หน่วยธุรกิจการบินจะเพิ่มรายได้ให้เกิดอย่างต่อเนื่องด้วยแผนขยายธุรกิจปาท่องโก๋ผ่านเฟรนไซส์ ขยายไม่บินก็ฟินได้ อร่อยล้นฟ้า และยังมีธุรกิจรับทำความสะอาดอากาศยานด้วย