'สวดมนต์ข้ามปี' สังคมมุ่งหวังและเสาะแสวงหาอะไรในบทสวด 'อุปปาตะสันติ' รับ 'โควิด-19' ระบาดรอบใหม่

 'สวดมนต์ข้ามปี' สังคมมุ่งหวังและเสาะแสวงหาอะไรในบทสวด 'อุปปาตะสันติ' รับ 'โควิด-19' ระบาดรอบใหม่

ถอดรหัส ความหมายที่แฝงเร้นอยู่ในกิจกรรม "สวดมนต์ข้ามปี" โดยเฉพาะในปีที่ "โควิด-19" ที่กลับมาระบาดครั้งใหม่ โดยเฉพาะ "อุปปาตะสันติ"

โดยปกติแล้ว ในช่วงวันส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่  ชาวพุทธหลายคนมักจะไปทำกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี เพื่อน้อมนำความเป็นสิริมงคลมาสู่ตนเอง และครอบครัว ตามความเชื่อ  แต่ด้วยในเทศกาลส่งท้ายปีเก่า พ.ศ. 2563 ต้อนรับปีใหม่ พ.ศ. 2564  นั้น  ประเทศไทย และทั่วโลกยังต้องเผชิญกับวิกฤติสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จึงให้งดการจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ตามวัดต่างๆ ทั่วประเทศ  เพื่อความปลอดภัย ห่างไกลจากโรค   และให้ประชาชนมาร่วมสวดมนต์ข้ามปีออนไลน์ แบบ New Normal ไปพร้อมๆ กันแทน 

นับตั้งแต่  พ.ศ. 2548 กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม  ได้ริเริ่มจัดกิจกรรมเคาท์ดาวน์ “สวดมนต์ข้ามปี” ในวัดเป็นครั้งแรก ภายใต้โครงการส่งท้ายปีเก่าวิถีไทย ต้อนรับปีใหม่ วิถีพุทธ  เพื่อกระตุ้นให้คนเข้าวัดกันให้มากขึ้น ซึ่งจัดทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ส่วนกลางจัดที่วัดชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ  นับเป็นการเริ่มต้นของการนำมิติทางศาสนาเข้ามาสู่กิจกรรมส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ นับถอยหลังหรือเคาท์ดาวน์ด้วยเสียงเจริญพระพุทธมนต์และสวดมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล  เริ่มต้นชีวิตใหม่  พร้อมกันกับการต้อนรับปีใหม่ ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา จนทำให้กิจกรรม “สวดมนต์ข้ามปี” กลายเป็นกิจกรรมยอดนิยมของพุทธศาสนิกชนที่แพร่หลายไปทั่วประเทศ

ที่เป็นไฮไลต์สำคัญคือ  “ความหมาย” ที่ซุกซ่อนอยู่ในมนต์ที่ใช้สวดกัน  ซึ่งพบว่าใช้สวดหลายบทหลายมนต์ด้วยกัน 

แต่บทหนึ่งที่นิยมสวดกันมาก คือ “อุปปาตะสันติ” หรือ “มหาสันติงหลวง”  โดยเฉพาะในวัดทางภาคเหนือจะนิยมมนต์บทดังกล่าวกันมากเป็นพิเศษหรือแม้แต่วัดทางภาคกลางหรือในกรุงเทพฯเองก็นิยมเช่นกัน

160941147992

  • สวดอุปปาตะสันติทำไม

อุปปาตะสันติ หรือที่คนเหนือเรียกว่า มหาสันติงหลวง เป็นบทสวดเพื่อสงบเคราะห์กรรม สวดเพื่อสงบเหตุร้าย และสวดเพื่อสงบสิ่งที่กระทบกระเทือน คำว่า อุปปาตะ แปลว่า เหตุร้าย, อันตราย, ภัยพิบัติ ส่วน สันติ แปลว่า ระงับ, ทำให้สงบ  เป็นบทสวดมนต์โบราณที่มีประโยชน์เพื่อระงับเหตุร้ายและสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในแผ่นดิน ประกอบด้วยคาถาล้วนจำนวน 271 บท โดยพระคาถานี้ จัดเป็นคัมภีร์ทางพุทธศาสนาในหมวด ‘‘เชียงใหม่คันถะ’’ คือ คัมภีร์ที่แต่งขึ้นที่เมืองเชียงใหม่ ในยุคที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองอย่างมากในอาณาจักรล้านนา

พระคันธสาราภิวงศ์ แห่งวัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง หนึ่งในผู้แปลพระคาถานี้ ระบุว่า ผู้รจนาคัมภีร์นี้ คือ พระสีลวังสเถระ วัดโชติการาม เมืองเชียงใหม่  แต่งขึ้นตามคำอาราธนาของพระเจ้าสามฝั่งแกนใน จุลศักราช 767 (พ.ศ. 1949) สาเหตุเนื่องมาจากพวกจีนฮ่อยกพลมารุกรานเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าแผ่นดินจึงอาราธนาให้แต่งขึ้น  แล้วนิมนต์พระสงฆ์สาธยายร่วมกับชาวเมือง

อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับผู้รจนาคัมภีร์นี้ ยังมีเสียงแตกเป็นหลายฝ่าย  นักวิชาการบางคนแย้งว่าไม่ทราบผู้แต่งที่แน่ชัดว่าเป็นใครกันแน่ แต่เรื่องนี้ก็ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่นักวิชาการที่จะศึกษากันต่อไป  โดยเราจะข้ามประเด็นนี้ไป  และไปดูกันที่ “ความหมาย”  ของอุปปาตะสันติ



160941150534

  • เดิมทีนั้น สวดไล่พวกจีนฮ่อ

ใน พ.ศ. 1949 รัชสมัยของพระเจ้าสามฝั่งแกนแห่งล้านนา มีกองทัพจีนยกพลมารุกรานเมืองเชียงใหม่   ครั้งนั้น พระสีลวังสมหาเถระได้แต่งคัมภีร์อุปปาตะสันติ มีกล่าวถึงอยู่ในพงศาวดารพม่าว่า พระเจ้าสามฝั่งแกนโปรดเกล้าฯ ให้สร้างมณฑปเล็กใหญ่ในทิศเฉียงทั้ง 3 ทิศ คือทิศตะวันตกเฉียงเหนือมีความหมายเป็นอายุ ทิศตะวันออกเฉียงใต้มีความหมายเป็นเตชะ และทิศตะวันตกเฉียงใต้มีความหมายเป็นสิริ

มีการประดิษฐานพระพุทธปฏิมาในท่ามกลางมณฑปใหญ่ และมีรูปหล่อของพระอินทร์อยู่หน้าพระพุทธรูป มีรูปหล่อของท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ในมณฑปเล็ก 4 แห่ง พระสงฆ์ได้สาธยายรัตนสูตร เมตตสูตร อาฏานาฏิยสูตร และอุปปาตะสันติ โดยเริ่มตั้งแต่สถานที่ซึ่งสมมุติทิศว่าเป็นอายุ เมื่อสาธยายพระปริตรและอุปปาตะสันติเช่นนี้

ผลปรากฏว่าภายในเวลาภายไม่เกิน 3 วัน ภัยพิบัติอันใหญ่หลวงได้เกิดขึ้นในกองทัพจีน ทำให้กองทัพระส่ำระสายและถอยทัพกลับไปในที่สุด

อย่างไรก็ตาม  คัมภีร์อุปปาตะสันติแต่งขึ้นในอาณาจักรล้านนา แต่ได้เสื่อมความนิยมไป  หลังจากอาณาจักรล้านนาตกอยู่ใต้อำนาจของพม่า (พ.ศ. 2101-2317) จนแทบไม่มีใครรู้จักอีกเลย และต้นฉบับได้สูญหายไปจากล้านนา

  • จากล้านนาสู่พม่า 

พระธัมมานันทมหาเถระ อดีตเจ้าอาวาสวัดท่ามะโอ กล่าวถึงการใช้พระคาถานี้ในประเทศพม่าว่า ในรัชสมัยของพระเจ้าต่าหลู่น (သာလွန်မင်း) แห่งราชวงศ์ตองอู ยุคฟื้นฟู  เมื่อเสด็จเถลิงราชสมบัติใน พ.ศ. 2173  ได้เกิดกบฏในพระราชวัง มีการสู้รบระหว่างกบฏกับทหาร ฝ่ายกบฏปราชัยถูกฆ่าตาย

ต่อมาผีของพวกกบฏได้ออกอาละวาด โดยแสดงรูปร่างให้เห็น ดึงผ้าห่มของคนที่นอนหลับอยู่บ้าง ดึงปิ่นผมของนางสนมบ้าง บางคราวก็หัวเราะ แล้วขว้างปาดอกไม้หรือผลไม้เข้าไปในพระราชวัง บางทีก็หลอกหลอนให้ตกใจ ทำให้คนในพระราชวังเดือดร้อน บางคนถึงขั้นจับไข้ไม่สบาย คราวนั้น พระธัมมนันทะได้ทำพิธีสาธยายมนต์พระปริตรเพื่อระงับเหตุร้ายเหล่านั้นในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ. 2217 พงศาวดารพม่ากล่าวว่า คัมภีร์อุปปาตะสันติก็ได้รับการสาธยายร่วมกับพระปริตรอื่น ๆ ในครั้งนั้น และจากการสาธยายมนต์พระปริตรนี้ ผีร้ายที่หลอกหลอนอยู่ในพระราชวังก็สาบสูญไปหมด ชาววังต่างได้รับความสุขถ้วนหน้าตั้งแต่นั้นมา

ครั้นต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแผ่นดินระหว่างรัชสมัยของพระเจ้าบ้ะจีด่อ (ဘကြီးတော် မင်းတရား) กับพระเจ้าต่าหย่าวดี (သာယာဝတီမင်း) หรือพระเจ้าชเวโบ (ရွှေဘိုမင်း) แห่งราชวงศ์คองบอง ใน พ.ศ. 2380 ได้เกิดความไม่สงบขึ้นภายในอาณาจักร พระอาจารย์พุธหรือพระอาจารย์แห่งยองกั่น ได้แปลอุปปาตะสันติให้พระสงฆ์กับชาวเมืองร่วมกันสาธยาย ความไม่สงบต่างๆ ก็อันตรธานไป

ทำให้ต่อมาคาถาอุปปาตะสันติกลายเป็นบทสวดที่ชาวพม่าต่างเข้าใจว่าเป็นบทสวดที่สามารถอำนวยให้พ้นจากอุปสรรคอันตรายทุกอย่างได้ จนได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในพม่า และได้รับการพิมพ์เผยแพร่ซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายครั้งติดต่อกันเรื่อยมา ทุกวันนี้ก็มีพระเจดีย์ชื่ออุปปาตะสันติ อยู่ที่เมืองเนปิดอว์ เมืองหลวงใหม่ของพม่า 

ต่อมาเจ้าคุณธรรมคุณนาภรณ์ (เช้า ฐิตปัญโญ) ป.ธ. 9 วัดมหาโพธาราม ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ได้ชำระคัมภีร์นี้เป็นภาษาบาลีอักษรไทย ซึ่งได้ต้นฉบับภาษาบาลีอักษรพม่าจากท่านพระอาจารย์ภัททันตะ ธัมมานันทมหาเถระ  อัครมหาบัณฑิตแห่งวัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง นับว่าเป็นการนำคัมภีร์ของล้านนากลับคืนมาอีกครั้งให้คนไทยในยุคปัจจุบันได้รู้จัก ได้สวด ได้ฟังกัน



  • สังคมมุ่งหวังและเสาะแสวงหาอะไร

อุปปาตะสันติเป็นบทสวดอย่างพิสดาร โดยกล่าวพระนามของพระพุทธเจ้า  พระธรรม  และพระอริยสงฆ์ไว้อย่างครบถ้วน ทั้งที่มีมาในอดีต ในปัจจุบันและที่จะมีในอนาคต รวมไปถึงบุคคลที่ทรงคุณ ทรงอำนาจ ทรงฤทธิ์ อย่าง  เทวดา  อินทร์ พรหม ยักษ์ นาค คนธรรพ์ ครุฑ อสูร  ปีศาจและเปรตบางจำพวก  

คัมภีร์อุปปาตะสันติมีข้อความขอความช่วยเหลือ  โดยขอให้พระรัตนตรัยและบุคคล ผู้ทรงอิทธิพลในจักรวาลดังกล่าว ช่วยสร้างสันติ หรือมหาสันติ ช่วยสร้างโสตถิ และอาโรคยะ ช่วยปรุงแต่งสันติและอาโรคยะ ขอให้ช่วยรวมสันติ  รวมโสตถิและรวมอาโรคยะ และขอให้ช่วยเป็นเกราะคุ้มครอง   กำจัดเหตุร้ายอันตรายหรือสิ่งกระทบกระเทือนต่างๆ  อย่าให้เกิดมีในตน ในครอบครัว ในหมู่คณะ หรือในวงงานของตน และในวงงานของคนอื่นทั่วไป 

กล่าวอย่างย่อที่สุด ในอุปปาตะสันติมีเรื่องราวเย็นอกเย็นใจที่สำคัญอยู่ 3 อย่าง ประกอบด้วย

1.สันติหรือมหาสันติ คือ ความสงบ ความราบรื่น ความเยือกเย็น

2.โสตถิ คือ ความสวัสดี ความปลอดภัย ความเป็นอยู่เรียบร้อย

3.อาโรคยะ คือ ความไม่มีสิ่งเป็นเชื้อโรค ความไม่มีโรคหรือความมีสุขภาพสมบูรณ์

ดังนั้นการสวดจึงต้องการขอความช่วยเหลือในเรื่องที่จะทำให้เย็นอกเย็นใจสามสิ่งสำคัญนี้  เพราะเชื่อกันว่าเมื่อสวดหรือฟังอุปปาตะสันติ ย่อมชนะเหตุร้ายทั้งปวงได้ และมีวุฒิภาวะคือความเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ และยังจะได้ประโยชน์ตามที่ต้องการด้วย

เรื่องราวที่จะทำให้เย็นอกเย็นใจสามประการดังกล่าวนั่นแหละคือสิ่งที่สังคมมุ่งหวังและเสาะแสวงหากันมาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน

อ้างอิง :

พระคันธสาราภิวงศ์ (2552). บทสวดอุปปาตสันติ. ลำปาง : วัดท่ามะโอ.

ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี  (2538). เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่.

Kala, U. (2006).  Maha Yazawin-gyi (the Great Chronicle). 5 th edition. Yangon: Yar-pyi  Sar-ok Taik Press.