7 เทคนิคใช้ 'บัตรเครดิต' ไม่ติดกับดัก 'หนี้บัตรเครดิต'
เปิด 7 วิธีใช้ "บัตรเครดิต" ให้ไม่ติดกับดักวังวน "หนี้" และ "ดอกเบี้ย" แถมยังทำให้คุร "รวย" ขึ้น!
"บัตรเครดิต" จะเป็นเพื่อนรักหรือศัตรูตัวฉกาจ ขึ้นอยู่กับการใช้งานของเรา บางครั้งบัตรเครดิตทำหน้าที่เป็นเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่อง และมีสิทธิประโยชน์ แต่บางครั้งถ้าใช้ไม่เป็น ขาดความรู้ความเข้าใจจะติดกับดักที่หอมหวาน และอาจกลายเป็นผู้ที่มีหนี้สินที่ไม่ควรจะมีได้ง่ายๆ
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนไปดูวิธีใช้บัตรเครดิตที่ควรทำ 7 ข้อ ที่จะเป็นเกราะป้องกันไม่ให้ติดกับดักหนี้ และทำให้คุณสนุกกับการบริหารเงินในฐานะ "ลูกหนี้ชั้นดี"
1. ไม่จ่ายแค่ "ขั้นต่ำ" เด็ดขาด!
การใช้บัตรเครดิตแบบผิดๆ คือ การให้บัตรเครดิตเป็น "เจ้าหนี้เงินกู้" คือใช้รูดสินค้าจำนวนมากในคราวเดียว หรือรูดรวมภายในยอดบิลเดียวกัน ยอดหนี้จะกองเพนินเป็นกองใหญ่ แล้วมาทยอยจ่ายขั้นต่ำทีหลัง
เช่น ยอดเต็ม 20,000 บาท จ่ายขั้นต่ำที่ 10% ของยอดที่ใช้ คือ 2,000 บาท บัตรเครดิตจะคิดดอกเบี้ยขั้นต่ำ 18-20% ต่อปีทันที ซึ่งหากจ่ายขั้นต่ำไปจนเรื่อยๆ ทุกๆ เดือนดอกเบี้ยจะพอกพูนเป็นเงินต้นและคิดดอกเบี้ยทับอีกตลบจนกลายเป็นหนี้ก้อนใหญ่ได้
สาเหตุที่ควรจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำโดยเด็ดขาดคือ เพราะหลังจากที่มีการจ่ายขั้นต่ำ ผู้ให้บริการจะคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิตแบบ 2 เด้ง ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ดอกเบี้ยเด้งที่ 1
วิธีการคิดดอกเบี้ยเด้งที่ 1 : ยอดที่ใช้จ่ายทั้งหมด x อัตราดอกเบี้ยต่อปี x จำนวนวันจากวันที่ทำรายการถึงวันที่สรุปยอดบัญชี / จำนวนวันใน 1 ปี
ดังนั้นดอกเบี้ยเด้งที่ 1 คือ 20,000 x 18% x 22 / 365 = 216.99 บาท
ดอกเบี้ยเด้งที่ 2
วิธีการคิดดอกเบี้ยเด้งที่ 2 : ยอดคงค้าง x อัตราดอกเบี้ยต่อปี x จำนวนวันจากวันที่ชำระคืนบางส่วน ถึงวันสรุปยอดบัญชีครั้งถัดไป / จำนวนวันใน 1 ปี
ดังนั้นดอกเบี้ยเด้งที่ 2 คือ 18,000 x 18% x 12 /365 = 168.66 บาท
เพราะฉะนั้น วันสรุปบัญชีรอบใหม่ จะต้องจ่าย 216.99 (ดอกเบี้ยเด้งที่ 1) + 168.66 (ดอกเบี้ยเด้งที่ 2) และ 18,000 (ยอดคงค้าง) รวมเป็น 18,385.65 บาท
โดยจะถูกคิดดอกเบี้ยในลักษณะนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะจ่ายครบทั้งต้นทั้งดอก ยิ่งไปกว่านั้น ถ้ายังจ่ายยอดเก่าไม่หมดแล้วรูดยอดใหญ่เพิ่มขึ้นไปอีก หนี้บัตรเครดิตเหล่านี้จะกระชากคุณลงสู่วังวนหนี้ในทันที และแน่นอนว่าถ้าไม่สามารถชำระได้หมดตามระยะเวลา คุณจะถูกตราหน้าเป็นลูกหนี้ชั้นแย่ และส่งผลกระทบต่อการขอสินเชื่อที่จำเป็นในอนาคตได้
2. จำกัดวงเงิน ต่อรอบบิล
ปกติวงเงินในบัตรเครดิตมักจะอนุมัติประมาณ 1.5 ของเงินเดือนขึ้นไป ซึ่งแน่นอนว่าการมีบัตรเครดิต ทำให้เราเหมือนมีเงินสำรองก้อนหนึ่งอยู่ในมือ แต่ถ้ารูดเต็มวงเปรี๊ยะตั้งแต่รอบแรก โดยไม่มีเงินสำรองจ่าย แล้วรอเงินเดือนที่จำนวนพอๆ กับเงินที่ใช้ไปล่วงหน้าไปจ่ายบัตรเครดิต ชีวิตคุณจะเปลี่ยนเป็นคนทำงานเพื่อถวายตัวให้หนี้บัตรเครดิตไม่รู้จบ
ฉะนั้น ก่อนใช้บัตรเครดิตในแต่ละเดือนจึงควร "จำกัดวงเงินที่จะใช้แต่ละเดือนให้ชัดเจน" โดยประเมินตามกำลังการจ่ายของตัวเอง เช่น วงเงินทั้งหมด 30,000 บาท จำกัดการใช้ต่อเดือน 10,000 บาท เพื่อเป็นกรอบเตือนสติไม่ให้ใช้เงินเกินกำลังในการชำระคืนในแต่ละเดือน ซึ่งวิธีนี้จะช่วยป้องกันการรูดเพลินเกินห้ามใจ และกลายเป็นภาระหนักอึ้งที่ตามมา
3. รูดเท่าไร จ่ายเท่านั้น
“จ่ายเต็มจำนวนทุกครั้ง” เป็นวิถีของลูกหนี้ชั้นดี ที่ทำให้บัตรเครดิตเป็นเครื่องมือทางการเงินที่มีประโยชน์ เพราะการชำระเต็มจำนวนตามเวลาที่กำหนด หรือจ่ายภายในระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย (แต่ละบัตรมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน) จะไม่ถูกคิดดอกเบี้ยใดๆ เลย ในทางตรงกันข้าม หากจ่ายแค่ยอดขั้นต่ำจะถูกคิดดอกเบี้ยแบบ 2 เด้งตามวิธีการคิดเบื้องต้นในข้อที่ 1 ด้วย
นอกจากการจ่ายเต็มวงเงินที่ใช้จะช่วยให้เป็นกันชนไม่ให้เราหลุดเข้าไปในกับดักของหนี้บัตรเครดิตที่ดอกเบี้ยโตเร็วมากๆ แล้ว ยังทำให้คุณกลายเป็นลูกหนี้ชั้นดีที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากการใช้บัตรเครดิตตามมาไม่หวาดไม่ไหวได้ในอนาคตอีกด้วย
4. ไม่มีเงินไม่รูด หรือเก็บเงินก่อนรูด
หลายคนเข้าใจว่า บัตรเครดิตทำหน้าที่เป็น "เงินอนาคต" ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วในอนาคตเราอาจจะไม่เงินก้อนนั้น และการรูดซื้อของไปล่วงหน้า เท่ากับเรากำลังมีเงินติดลบเสียด้วยซ้ำ
การเก็บเงินก่อนรูดเป็นการสร้างเงินสำรองขึ้นเพื่อให้มั่นใจว่าเรามีกำลังที่จะชำระเงินคืนได้อย่างแน่นอน อย่างน้อยที่สุดควรมีเงินสดสำรอง 50% ของสินค้าที่จะซื้อผ่านบัตรเครดิต เพื่อเตรียมสะสมสำหรับจ่ายเต็มจำนวนในเดือนถัดไป
หรืออีกหนึ่งวิธีคือการ "ซ้อมเป็นหนี้" ก่อนผ่อนชำระจริง เช่น ต้องการซื้อสินค้าราคา 30,000 บาท โดยใช้สิทธิประโยชน์ผ่อน 0% เป็นเงิน 3,000 เป็นเวลา 10 เดือน จะต้องมีการหักเงินเข้าบัญชีเพื่อซ้อมผ่อน ก่อนจ่ายจริงอย่างน้อย 3-5 เดือน เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉินทางการเงินเกิดขึ้นระหว่างที่อยู่ในโปรแกรมผ่อนชำระ เราจะยังสามารถผ่อนชำระได้ตรงตามเวลา แบบปลอดดอกเบี้ยได้สบายๆ
แม้จะดูเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก แต่เป็นเรื่องที่ควรทำ เพราะเกินครึ่งของคนที่ติดกับดักหนี้บัตรเครดิต คือคนที่เชื่อมั่นในตัวเองว่าจะสามารถหาเงินมาจ่ายได้ในอนาคต ทั้งๆ ที่ไม่มีเงินในมือ และปราศจากการวางแผนในจุดนี้กันทั้งนั้น
5. จ่ายตรงตามเวลาทุกเดือน
จ่ายตรงตามเวลาทุกเดือน การจ่ายเงินคืนบัตรเครดิตตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดทันทีที่สรุปยอดบิล หรือจ่ายก่อนวันครบกำหนดชำระ นอกจากเราจะไม่ต้องเสียดอกเบี้ยที่ไม่ควรเสียแล้ว การจ่ายเงินตามเวลาที่กำหนดยังช่วยรักษาสถานะลูกหนี้ชั้นดี ที่อาจส่งผลต่อการขอสินเชื่อในอนาคตด้วย
"บัตรเครดิต" จะเป็นเพื่อนรักหรือศัตรูตัวฉกาจ ขึ้นอยู่กับการใช้งานของเรา
6. ทำความเข้าใจ "ใบแจ้งหนี้"
เอกสารแจ้งหนี้ หรือใบแจ้งหนี้แบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นสิ่งที่หลายคนมองข้าม และไม่ยอมศึกษาอย่างละเอียด ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วการตรวจสอบใบแจ้งหนี้อย่างละเอียดทั้งวันที่สรุปยอด วันครบกำหนดชำระ โดยเฉพาะช่วงที่มีการผ่อนจ่าย ที่อาจมีการคำนวณดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น หากไม่ตรวจสอบและทำความเข้าใจการคิดอัตราดอกเบี้ย หรือรอบการจ่ายในแต่ละเดือนอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด จนนำไปสู่การวางแผนชำระหนี้ผิด อาจส่งผลกระทบด้านการเงินอื่นๆ ที่ตามมาได้
สำหรับผู้ให้บริการบัตรเครดิตในปัจจุบันสามารถตรวจสอบยอดเงินที่ใช้ ยอดเงินที่ชำระ ที่อัพเดทแบบเรียลไทม์ ผ่านแอพพลิเคชั่นของแต่ละธนาคาร ซึ่งช่วยให้สามารถตรวจสอบความเคลื่อนไหวของการใช้จ่ายของตัวเองได้อย่างละเอียด และสามารถระงับการใช้งานได้ทันท่วงทีเมื่อมีแจ้งเตือนการใช้บัตรที่ผิดปกติ
7. ใช้สิทธิพิเศษของบัตรให้เป็นประโยชน์
ข้อดีของการใช้เครดิตที่แตกต่างจากการใช้เงินสด คือ สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ "เงินสดให้ไม่ได้" ซึ่งการใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เหล่านี้จะตามมาอัตโนมัติ ถ้าใช้เราสามารถบริหารจัดการบัตรเครดิตได้ 6 ข้อด้านบน หรือรักษาสถานะลูกค้าชั้นดีมาอย่างต่อเนื่อง โดยบัตรเครดิตแต่ละธนาคาร หรือบัตรแต่ละประเภทย่อมให้สิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป
ฉะนั้นก่อนเลือกสมัครบัตรเครดิต ลองเลือกบัตรที่มีคุณสมบัติที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ตัวเองมากที่สุด เช่น สายช้อปปิ้ง เลือกบัตรที่ให้สิทธิประโยชน์ร่วมกับร้านรีเทล ศูนย์การค้า หรือร้านที่ใช้บริการเป็นประจำ เป็นต้น
สำหรับสิทธิพิเศษของบัตรมีหลายรูปแบบ ขอยก 3 ตัวอย่างที่มีให้ในบัตรเครดิตส่วนใหญ่ อย่าง การใช้แต้มบัตรเครดิต การผ่อน 0% และการรับเครดิตเงินคืน
ใช้แต้ม : ทุกครั้งที่มีการใช้และจ่ายคืนผ่านบริการผ่านบัตรเครดิตจะได้รับแต้มสะสมตามข้อกำหนดของแต่ละบัตร ซึ่งบรรดาแต้มเหล่านี้จะผุดขึ้นมาเรื่อยๆ เมื่อใช้จ่ายอย่างมีวินัย แต้มเหล่านี้สามารถสะสม เพื่อแลกรับของกำนัลรูปแบบต่างๆ ได้ ตั้งแต่ของเล็กๆ น้อยๆ อย่างชานมไข่มุก ไต่ขึ้นไปเป็นของใช้ เช่น กระเป๋า เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือแม้แต่ส่วนลดค่าบริการร้านอาหาร โรงแรมชั้นนำ ฯลฯ ซึ่งแต้มเหล่านี้คือกำไรที่สามารถลดต้นทุนการใช้เงินของเราในครั้งต่อๆ ไปได้
ผ่อน 0% : โปรโมชั่นยอดฮิตที่มีประโยชน์มากๆ สำหรับคนที่ต้องการซื้อสินค้าบางอย่างที่มีมูลค่าสูงได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินก้อนใหญ่ในคราวเดียว สามารถทยอยจ่ายเป็นก้อนเล็กๆ โดยไม่มีเสียดอกเบี้ยใดๆ เลย
อย่างไรก็ตาม การผ่อน 0% มีข้อควรระวัง คือการเลือกการผ่อนเป็นระยะเวลานาน พร้อมกันหลายๆ สินค้า ซึ่งทำให้ต้องแบกภาระต่อไปเป็นเวลานาน และอาจมีเงินไม่เพียงพอต่อการผ่อนจ่าย ซึ่งเป็นกับดักให้หลายต่อหลายคนเดินทางไปสู่วังวนของการชำระหนี้ไม่ตรงเวลาเพราะชักหน้าไม่ถึงหลัง และโดนหนี้ล้มทับได้เช่นกัน
เครดิตเงินคืน : หรือที่เรียกกันติดปากว่า Cashback เป็นสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้ได้เงินคืนเข้าสู่บัญชีบัตรเครดิตทุกครั้งที่ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต เสมือนได้ส่วนลดในการใช้จ่ายแต่ละรอบ ทั้งนี้ เงื่อนไขของการให้เครดิตเงินคืนแต่ละครั้ง มักจะมีเงื่อนไขกำหนดอยู่ เพราะฉะนั้นอย่ารูดเพื่อหวังเงินคืนจนลืมมองดอกจันตัวเล็กๆ ที่ระบุเงื่อนไขอยู่ด้วย
ที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายคนเผลอใช้บัตรเครดิตหละหลวมไปจาก 7 ข้อที่กล่าวถึงบ้าง บางข้ออาจไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตมาก แต่หากเกิดขึ้นต่อเนื่อง หรือบ่อยครั้งขึ้น ผลของการใช้บัตรเครดิตแบบไม่ระมัดระวังเหล่านี้จะกลับมาเล่นงานในระยาวได้เช่นกัน
เพราะเจ้าหนี้ในอนาคตของคุณจะสามารถตรวจสอบพฤติกรรมการชำระหนี้ย้อนหลังที่ปรากฏในเครดิตบูโร หรือ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (National Credit Bureau) เป็นเวลา 36 เดือนหรือ 3 ปี ซึ่งหากประวัติการชำระหนี้ไม่น่ารักอย่างที่ควรจะเป็น ก็มีส่วนทำให้โอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อที่มีความจำเป็นหลุดลอย (ในระยะเวลาหนึ่ง) ได้เช่นกัน
ฉะนั้น ก่อนที่จะสมัครบัตรเครดิต หรือก่อนหยิบบัตรเครดิตมาใช้ทุกครั้ง อย่าลืมทบทวนถึงวิธีการใช้บัตรเครดิตทั้ง 7 ข้อนี้ เพื่อสุขภาพการเงินที่ดีของตัวเอง