ไทยเร่งสร้าง“แพทย์นวัตกรรม” หนุนตลาดเครื่องมือแพทย์โต

ไทยเร่งสร้าง“แพทย์นวัตกรรม” หนุนตลาดเครื่องมือแพทย์โต

อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S curve) ที่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และดันประเทศไทยให้เป็น ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค

โดยปี 2563 คาดว่ามูลค่าการจําหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศจะเติบโต 3.0% ชะลอจาก5.5% ปี 2562 ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 4 ปี โดยกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์จะเติบโต ได้ต่อเนื่อง จากความต้องการใช้อุปกรณ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส โควิด-19 และมาตรการสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมการแพทย์ในช่วงสถานการณ์โควิด-19

ส่วนกลุ่มครุภัณฑ์การแพทย์ได้รับผลกระทบจากจํานวนผู้เข้ารับบริการในโรงพยาบาลที่มี แนวโน้มลดลงจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่เชื้อโดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2 มูลค่าการส่งออกคาดว่าจะเติบโต 20-24% จากความต้องการผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม วัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์และกลุ่มน้ํายาและชุดวินิจฉัยโรค ดังนั้น ปี 2564-2565 คาดว่ามูลค่าการจําหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศจะ เติบโตเฉลี่ย 6.5% ต่อปี ขณะที่มูลค่าการส่งออกจะเฉลี่ยที่5.0% ต่อปี

160967675349

ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาล และความต้องการของเครื่องมือทางการแพทย์ของโรงพยาบาลต่างๆ ทำให้สถาบันการศึกษาอีกหนึ่งหน่วยงานที่เร่งผลิตคิดค้น นวัตกรรมเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อลดการนำเข้า เพราะปัจจุบันไทยเป็นเพียงแหล่งประกอบ หรือผลิตยา เครื่องมือทางการแพทย์ โดยนำสารเคมี หรือชิ้นส่วนต่างๆ นำเข้าจากต่างประเทศ

นพ.อนวัช เสริมสวรรค์รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่าอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ มีอัตราการเติบโตสูงมาก เพราะด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมได้เข้ามามีบทบาทในวงการแพทย์ ยิ่งเกิดสถานการณ์โควิด-19 ได้มีการผลิตเครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์ต่างๆ ตอบสนองความต้องการของโรงพยาบาลต่างๆ

160967677235

รวมถึงกระแสรักสุขภาพ ทำให้คนหันมาดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้น ดังนั้น เมื่อมีความต้องการเครื่องมือทางการแพทย์มากขึ้น และรัฐบาลได้ให้ความสนับสนุนอุตสาหกรรมด้านนี้ จำเป็นที่ต้องสร้างแพทย์ หรือนักวิศวกรรมศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ที่มีองค์ความรู้ด้านการแพทย์ เทคโนโลยี และสามารถสร้างนวัตกรรม เครื่องมือทางการแพทย์ได้

การผลิตเครื่องมือ นวัตกรรมทางการแพทย์ ที่มาจากทีมแพทย์โดยตรงมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ นักวิศวกรรมศาสตร์ และมีแพทย์เข้ามาช่วยให้คำแนะนำ ขณะที่ภาคธุรกิจเองก็เป็นการนำเข้าอุปกรณ์ต่างๆ และเป็นการประดิษฐ์ คิดค้นนวัตกรรม เครื่องมือทางการแพทย์ที่ไม่ได้ดูแลรักษาโรคร้ายแรง หรือเป็นเครื่องมือแพทย์ที่นำเข้าสู่ร่างกายคน เนื่องจากการผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับการรักษาคนต้องผ่านการรับรองมาตรฐานสากล และหน่วยงานในประเทศไทยยังไม่สามารถรับรองได้ อีกทั้ง การผลิตบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่จะเป็นแพทย์เพื่อรักษาคนนพ.อนวัช กล่าว

160967650613

ดังนั้น สิ่งที่ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนา คือ การสร้างแพทย์นักวิจัย หรือเพิ่มศักยภาพ สนับสนุนให้แพทย์ทำงานวิจัยคิดค้นนวัตกรรมทางการแพทย์มากขึ้น รวมถึงต้องสนับสนุนให้โรงพยาบาลต่างๆ ใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่แพทย์ไทยเป็นผู้ผลิตด้วย

ทั้งนี้ สำหรับปัจจัยหนุนที่ทำให้อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เติบโตไว เนื่องจากการเจ็บป่วยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน 

อีกทั้ง จำนวน ผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้มีความต้องการใช้เครื่องมือแพทย์ตรวจวินิจฉัยโรคที่ทันสมัยและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น การลงทุนของธุรกิจโรงพยาบาลทั้งการสร้างใหม่และการขยายพื้นที่ให้บริการจะทำให้ความต้องการอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์เพิ่มขึ้น และนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ

160967679978

นพ.อนวัช กล่าวต่อว่าตอนนี้คณะแพทยศาสตร์ สจล.ได้มีการสร้างเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อแก้ปัญหาสังคม เช่นเครื่องช่วยหายใจ เครื่องฟอกอากาศ และส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือแพทย์ฉุกเฉิน เพราะถ้าเป็นเครื่องมืแพทย์โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากๆ ต้องได้รับการยอมรับมาตรฐาน ISO มาตรฐานระดับโลก เนื่องจากเป็นเรื่องของชีวิตคนเครื่องมือแพทย์ต้องได้รับการรับรองที่ได้มาตรฐาน ซึ่งในเครื่องมือแพทย์ฉุกเฉินก็ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานเช่นเดียวกัน

แต่สามารถยื่นรับรองในประเทศ หรือรับรองมาตรฐานโรงงานได้ และราคาเครื่องมือแพทย์เหล่านี้ หากผลิตเองต้นทุนไม่สูงเมื่อเทียบกับราคาขาย อาทิ เครื่องช่วยหายใจ ที่สจล.ดำเนินการผลิตขึ้นมา ต้นทุนประมาณ 50,000 กว่าบาท แต่ถ้าราคาขายในท้องตลาดที่เป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 300,000 บาท หากเราผลิตและใช้ในประเทศเชื่อว่าราคาขายต่ำกว่าราคาจากต่างประเทศอย่างแน่นอน

160967684820

ทุกสถาบันการศึกษา พยายามที่จะพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ รองรับอุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศรวมถึงอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ แต่ด้วยข้อจำกัดทั้งด้านบุคลากร และสถาบันในการรับรองเครื่องมือแพทย์ ที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะเครื่องมือที่ต้องเอาไปใช้ในร่างกายคน

นพ.อนวัช เสนอว่าประเทศไทย สามารถผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ได้ แต่จะต้องมีการสนับสนุนทั้งด้านวิจัย และนวัตกรรมมากกว่านี้ เพราะตอนนี้การส่งเสริมงานวิจัยยังจำกัดอยู่ในสถาบันใดสถาบันหนึ่ง อีกทั้งผู้ประกอบการด้านนี้ยังขาดการลงทุนอีกหลายอย่าง ขณะเดียวกันผู้ใช้ อย่างโรงพยาบาลเองก็ไม่นิยมใช้เครื่องมือทางการแพทย์ที่คนไทยผลิต 

ดังนั้น รัฐบาลต้องให้การสนับสนุนการสร้างกำลังคน แพทย์นักวิจัยแพทย์นวัตกรรม โอกาสช่องทางให้แก่มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน รวมถึงทุนวิจัยในการคิดค้นสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ ซึ่งถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกัน และเปิดโอกาส มีทุนส่งเสริม ประเทศไทยมีศักยภาพและทำให้อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เติบโตมากกว่าเดิมได้

160967686779