'รัฐบาล' ตุนเงิน 6 แสนล้านสู้โควิด สำนักงบฯ มั่นใจพอสู้ระบาดรอบใหม่
รัฐบาลตุนงบประมาณ 6.1 แสนล้านบาท ทั้งงบกลาง-เงินกู้ สู้โควิดระบาดรอบใหม่ สำนักงบฯ ชี้ เพียงพอดูแลเศรษฐกิจ ระบุหากไม่พอโอนงบส่วนราชการมาใช้เพิ่มได้ “คลัง” ชง ครม.ยืดคนละครึ่ง-เที่ยวด้วยกัน “ซีไอเอ็บบี” ชี้งบพอประคองแต่ไม่พอกระตุ้นเศรษฐกิจ
การระบาดของโควิด-19 ได้มีการทำสถิติใหม่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน รวมถึงการขยายพื้นที่สีแดงที่ต้องควบคุมสูงสุดเป็น 28 จังหวัด จากเดิมมีเพียงพื้นที่เดียว คือ จังหวัดสมุทรสาคร โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้เตรียมงบประมาณหลายส่วนเพื่อรับมือการระบาดข้ามปี
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้เตรียมงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีการทยอยอนุมัติต่อเนื่องตั้งแต่การระบาดรอบแรก และในปัจจุบันมีงบประมาณที่ใช้รับมือการระบาดรอบใหม่ได้มาจาก 2 ส่วน วงเงินรวม 6.11 แสนล้านบาท ได้แก่
1.เงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ขณะนี้เหลือวงเงิน 4.71 แสนล้านบาท
2.งบกลางกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วน พ.ศ.2564 ซึ่งอยู่ในอำนาจการอนุมัติของนายกรัฐมนตรี วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท
สำหรับงบกลาง 2564 ที่มีวงเงิน 1.4 แสนล้านบาท มาจากงบกลางปกติ 9.9 หมื่นล้านบาท และงบกลางที่กันออกมาสำหรับโควิด 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งงบกลาง 2564 เพิ่งใช้ไปเพียง 1,000 ล้านบาทเศษ
ส่วนวงเงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไปแล้ว 5.25 แสนล้านบาท ยังเหลือ 4.71 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 3 แผนงาน คือ
1.แผนงานเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท อนุมัติไป 2.5 พันล้านบาท คงเหลือ 4.24 หมื่นล้านบาท
2.แผนงานช่วยเหลือเยียวยาและชดเชยให้ประชาชนรวมทั้งการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร วงเงิน 5.55 แสนล้านบาท อนุมัติแล้ว 3.86 แสนล้านบาท คงเหลือ 1.68 แสนล้านบาท
3.แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4.4 แสนล้านบาท อนุมัติเงินไปแล้ว1.39 แสนล้านบาท คงเหลือ 2.6 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ได้ออกแบบไว้กรณีการระบาดโควิด-19 รอบใหม่จนต้องล็อคดาวน์หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถโยกเงินแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจไปแผนงานเยียวยาช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการได้
นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอดูแลเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ โดยมีวงเงินรวมกว่า 6 แสนล้านบาท จากงบกลาง 2564 และจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท
“ผมประเมินว่าวงเงินกว่า 6 แสนล้านบาท เพียงพอใช้ดูแลเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดรอบนี้ เพราะเชื่อว่าประชาชนทุกภาคส่วนจะร่วมมือป้องกันการระบาด และการติดเชื้อต่อวันที่สูงกว่าปีที่แล้ว ทำให้ประชาชนระวังมากขึ้น เชื่อว่า ภายใน 2 สัปดาห์ ถึง 1 เดือนนับจากนี้ เราน่าจะเห็นตัวเลขติดเชื้อลดลง”
ทั้งนี้ หากสถานการณ์ยืดเยื้อและรัฐบาลจำเป็นต้องใช้วงเงินเพิ่มก็สามารถดึงงบประมาณจากส่วนราชการมาใช้ได้อีก ซึ่งเหมือนปี 2563 ที่เราบังคับโอนงบประมาณมาใช้ได้ 8 หมื่นล้านบาท แต่ขณะนั้นเป็นช่วงยังไม่ออก พ.ร.ก.กู้เงิน แต่ขณะนี้มีวงเงินกู้ที่คงเหลือมากจึงเชื่อว่าจะเพียงพอและการบังคับโอนงบประมาณจากส่วนราชการเป็นทางเลือกสุดท้าย
ก่อนหน้านี้ นายเดชาภิวัฒน์ กล่าวว่า หากควบคุมสถานการณ์ได้ในเวลาสั้นและการล็อคดาวน์ไม่ต้องทำวงกว้างหรือต้องล็อคดาวน์ทั่วประเทศเชื่อว่ายังมีเงินพอที่จะดูแลเศรษฐกิจโดยที่ไม่ต้องกู้เงินเพิ่ม และการจัดทำงบประมาณยังอยู่ในกรอบของวินัยการเงินการคลังที่หนี้สาธารณะไม่เกิน 60% ของจีดีพี แต่หากจำเป็นต้องกู้เงินเกินกรอบก็ทำได้ โดยหารือร่วมกันของคณะกรรมการวินัยการเงินการคลัง แต่ตอนนี้ยังไม่จำเป็นต้องกู้เงินเพิ่ม
นางแพรตริเซีย มงคลวณิช ผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า การกู้เงินตามพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ได้กู้ไปแล้ว 3.7 แสนล้านบาท จากกรอบวงเงินที่ ครม.อนุมัติให้กู้ 5.1 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่กู้เพื่อใช้ในการเยียวยาประชาชนในปี 2563 วงเงิน 3.48 แสนล้านบาท สำหรับการกู้สำหรับฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้น ได้กู้ไปแล้ว 3.4 หมื่นล้านบาท จากวงเงินที่ ครม.อนุมัติ 1.3 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาวงเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน พบว่ารัฐบาลมีวงเงินเหลืออีก 4 แสนล้านบาทที่จะใช้ดูแลเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิดรอบใหม่ ส่วนจะพอหรือไม่ขึ้นกับนโยบาย
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การระบาดรอบใหม่ทำให้รัฐบาลอยู่กำลังทบทวนแผนและมาตรการทางเศรษฐกิจบางมาตรการที่ออกมาก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นมาตรการที่วางไว้สำหรับช่วงเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว โดยต้องหารือในการประชุมศูนย์บริหารเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดจากโควิด -19 (ศบศ.) ครั้งต่อไปภายในเดือน ม.ค.นี้
ทั้งนี้ การปรับแผนระยะสั้นจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ (5 ม.ค.) ขยายระยะเวลาสิ้นสุดมาตรการโครงการคนละครึ่ง และโครงการเราเที่ยวด้วยกันจากเดิมมาตรการคนละครึ่งสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.นี้ และมาตรการเราเที่ยวด้วยกันสิ้นสุดวันที่ 30 เม.ย.นี้ โดยจะขยายไปตามความเหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงจากการเดินทางและการไปใช้จ่ายจากมาตรการของรัฐที่จะเพิ่มความเสี่ยงการระบาดได้
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า หากดูงบประมาณที่เหลือภายใต้ พรก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท บวกงบปี 2564 ที่มีราว 2 แสนล้านบาท รวมเป็น 6 แสนล้านบาท เชื่อว่าพอแค่ประคองเศรษฐกิจแต่ไม่พอใช้กระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว เพียงแต่เป็นการประคองไม่ให้เศรษฐกิจหนักมากขึ้น
ดังนั้น งบที่เหลือส่วนนี้เชื่อว่า จะเป็นซื้อเวลาจนกว่าจะมีวัคซีน และจนกว่าต่างชาติจะกลับมาไทยได้ และไม่ให้ธุรกิจล้มละลายไปก่อนจากยอดขายที่ลดลง และลามไปสู่การเลิกจ้าง การว่างงาน ดั้งนั้นสิ่งที่ต้องเร่งทำ คือ การดูแลสภาพคล่อง หนุนให้บริษัทมีเงินจ่ายพนักงานและหนุนให้ครัวเรือน มีสภาพคล่องพอชำระหนี้ไม่ให้กระทบสถาบันการเงิน
ทั้งนี้ สิ่งรัฐบาลต้องเร่งทำ คือ การช่วยผู้ได้รับผลกระทบผ่านระบบประกันสังคมเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป รวมถึงช่วยธุรกิจที่รายได้ลดลงและธุรกิจที่เจอปัญหาจากโควิด-19 รอบแรก รวมถึงสถาบันการเงินต้องช่วยลูกหนี้ผ่านมาตรการต่างๆ รวมถึงซอฟท์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่อาจต้องมีบทบาทรับความเสี่ยง
นอกจากนี้ นอกจากภาครัฐต้องหาวิธีช่วยผ่านการแจกเงินช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบแล้ว สิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติม คือ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ผ่านการจ้างงาน พัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชนมากขึ้น
นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า เชื่อว่างบ 6 แสนล้านบาท เพียงพอดูแลผลกระทบรอบใหม่ แต่รัฐบาลคงทบทวนการใช้เงินมากขึ้น เพราะทรัพยากรมีจำกัด ดังนั้นการใช้จ่ายงบประมาณคงต้องอยู่ในโหมดระมัดระวังมากขึ้น เพื่อไม่ให้เป็นภาระสำหรับเศรษฐกิจในอนาคต
อีกทั้ง มองว่าภาครัฐก็อาจต้องมองไปถึงระยะข้างหน้าด้วย ว่าภายใต้งบดังกล่าว หากเกิดระบาดรอบใหม่เกิดขึ้นอีก จะมีเงินในการดูแลเศรษฐกิจเพิ่มหรือไม่ ทำให้ภาครัฐพยายามเก็บกระสุน ไม่ล็อกดาวน์ และไม่พยายามใช้ยาแรงสำหรับควบคุมการระบาดครั้งนี้
ดังนั้นสิ่งที่เร่งด่วนเฉพาะหน้า คือ การดูแลสาธารณสุขให้จำนวนผู้ติดเชื้อพีคเร็วที่สุด เพราะหากเพิ่มจำนวนเรื่อยๆจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น แต่หากคุมได้ภายใน ม.ค.นี้ โอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ในระยะข้างหน้าก็ยังมี