มาตรการเยียวยา'โควิด'รอบใหม่ เน้นลดค่าครองชีพประชาชน
นายกฯ สั่งทีมเศรษฐกิจทำแผนเยียวยาผลกระทบโควิดรอบใหม่ช่วย 40 ล้านคน ในช่วง 2 เดือน ยืนยันมีเงินพอดูแล “โฆษกรัฐบาล” เผยไม่มีหารือจ่ายเงินเยียวยาแบบเดิม เน้นมาตรการดูแลค่าครองชีพ เล็งหาข้อสรุปใน ศบศ.
แผนการดูแลเศรษฐกิจประเทศในช่วงที่ผ่านมาเข้าสู่ขั้นตอนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่เมื่อการรบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่ขยายวงกว้างเพิ่มมากขึ้นจนต้องประกาศพื้นที่สีแดงเพิ่มเป็น 28 จังหวัด และมีแนวโน้มขยายวงมากขึ้น ทำให้แผนการดูแลเศรษฐกิจต้องปรับมาเน้นการเยียวยาผลกระทบอีกครั้ง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 ม.ค.2564 ว่า การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ จะต้องดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วย และได้มอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หามาตรการในการช่วยเหลือเพิ่มเติมในช่วง 2 เดือนนี้เพื่อดูแลคนเกือบ 40 ล้านคนว่าจะทำอย่างไร
ทั้งนี้ การดูแลคงไม่ใช่แค่เพียงเฉพาะบางพื้นที่ มันต้องใช้เงินอีกจำนวนมากเหมือนกันแต่รัฐบาลก็ยืนยันว่าเรามีเงินเพียงพออยู่ โดยมาตรการที่ออกมาจะเพิ่มจากมาตรการเดิมที่มีอยู่แล้วบางอย่างที่มีอยู่แล้วต้องยืดระยะเวลาออกไป เช่น โครงการเที่ยวด้วยกันที่มีการจองโรงแรมและจ่ายค่ามัดจำไปแล้วก็ของให้ผู้ประกอบการยืดระยะเวลาออกไป
“ได้หารือกับสมาคมผู้ประกอบการต่างๆ แล้วขอความร่วมมืออย่าเพิ่งเก็บเงินตอนนี้ ก็ยืดระยะเวลาให้ทุกเรื่องที่เคยให้ไปแล้วก็ต้องหาวิธีบริหารจัดการให้ได้”นายกรัฐมนตรี กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การดูแลและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ครั้งนี้จะแตกต่างออกไปจากครั้งก่อน เนื่องจากครั้งนี้รัฐบาลไม่ได้ประกาศให้มีการล็อกดาวน์หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่เป็นการเข้มงวดมาตรการในบางพื้นที่ โดยใน ครม.ไม่ได้มีการพูดถึงการแจกเงินเยียวยาเหมือนในช่วงก่อนที่ใช้โครงการเราไม่ทิ้งกันที่มีการแจกเงินคนละ 5,000 บาท 3 เดือน แต่ให้หน่วยงานต่างๆไปทบทวนว่าจะปรับเปลี่ยนมาตรการที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจก่อนหน้านี้ได้หรือไม่ เพราะบางมาตรการอย่างคนละครึ่งหรือเราเที่ยวด้วยกันเป็นมาตรการที่ต้องขยายเวลาออกไป
“มีการช่วยเหลือในลักษณะอื่นๆที่เคยทำมาก็อาจจะมีการพิจารณาเช่นมาตรการลดค่าครองชีพ มาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดต่างๆจะมีการหารือกันที่ประชุม ศบศ. เพื่อออกมาเป็นชุดมาตรการทางเศรษฐกิจ โดยในปี 2564 ยังมีงบประมาณและเงินกู้ที่เหลืออยู่สามารถนำมาใช้ได้” นายอนุชากล่าว
นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณปี 2565ประกอบด้วย งบประมาณรายจ่าย 3.1 ล้านล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณก่อน 185,962 ล้านบาท หรือลดลง 5.66%
ขณะที่รายได้สุทธิ กระทรวงการคลังประมาณการว่าจะจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาท ลดลงจากการประมาณการรายได้สุทธิปีก่อนตามเอกสารงบประมาณ 277,000 ล้านบาท หรือลดลง 10.35% โดยในการจัดทำงบประมาณปีนี้ยังเป็นการจัดทำงบประมาณขาดดุลจำนวน 7 แสนล้านบาท
การจัดทำงบประมาณครั้งนี้ใช้สมมติฐานทางด้านเศรษฐกิจว่า เศรษฐกิจจะขยายตัว 3-4% และมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.7-1.17%
นอกจากนี้ หน่วยงานเศรษฐกิจ 4 แห่ง ได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงบประมาณ ได้มีความเห็นให้ทุกหน่วยงานควรมีการกำหนดเงื่อนไขของการใช้จ่ายเงินงบประมาณ
โดยเฉพาะการใช้จ่ายที่มีลักษณะเป็นการโอนเงินให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่น การให้ความเหลือแบบให้เปล่ากับผู้ถูกเลิกจ้างหรือผู้ที่อยู่ระหว่างการหางานทำ ต้องกำหนดเงื่อนไขให้มีการฝึกอบรมทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ถูกเลิกจ้างในการหางานทำต่อไปและทำให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้ทุกหน่วยงานจะกลับไปจัดทำคำของบประมาณ เพื่อเสนอให้สำนักงบประมาณพิจารณาภายในวันที่ 15 ม.ค.นี้