วช.ส่ง 'เครื่องพ่นละอองนาโนน้ำยาฆ่าเชื้อ-ที่นอนยางพาราง' สู่ รพ.สนามรับมือโควิด-19 

วช.ส่ง 'เครื่องพ่นละอองนาโนน้ำยาฆ่าเชื้อ-ที่นอนยางพาราง' สู่ รพ.สนามรับมือโควิด-19 

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ส่งมอบนวัตกรรม 'เครื่องพ่นละอองนาโนน้ำยาฆ่าเชื้อ' และที่นอนยางพารางานฝีมือจากวิสาหกิจชุมชน เพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ผ่านทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) หวังกระจายสู่โรงพยาบาลสนาม

161002545364
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึง การสนับสนุนนวัตกรรมเครื่องพ่นละอองนาโนน้ำยาฆ่าเชื้อดังกล่าว พร้อม ศาสตราจารย์ ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดี ด้านการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ ดร.พลกฤษ แสงวนิช คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศาสตราจารย์ ดร.สนอง เอกสิทธิ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกทั้งยังมีการสาธิตการใช้งานนวัตกรรมเครื่องพ่นละอองนาโนน้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อรับมือสถานการณ์โควิด-19 ด้วย 
สำหรับนวัตกรรมเครื่องพ่นละอองนาโนน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 เป็นผลงานวิจัยโดย ศาสตราจารย์ ดร.สนอง เอกสิทธิ์ และคณะ และเป็นผลงานที่ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัย ประจำปีงบประมาณ 2563 จาก วช. อว. และยังเป็นผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้นประจำปี 2564 และได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งใน 11 ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเด่นตอบรับชีวิตวิถีใหม่และการปรับตัวอันเนื่องมาจากภาวะวิกฤติโควิด-19 จาก อว. 
ทั้งนี้นวัตกรรมเครื่องพ่นละอองนาโนน้ำยาฆ่าเชื้อจะพ่นละอองไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่มีศักยภาพในการกำจัดไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา และสปอร์ของเชื้อราได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ทิ้งสารเคมีตกค้างที่เป็นอันตราย สามารถกำจัดได้ทั้งเชื้อในอากาศและเชื้อที่อยู่บนพื้นผิววัสดุ และนักวิจัยได้พัฒนานวัตกรรมเครื่องพ่นละอองนาโนน้ำยาฆ่าเชื้อ 2 รุ่น คือเครื่อง VQ20 ที่พ่นละอองไอไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ความเข้มข้น 3-7% เพื่อฆ่าเชื้อ และเครื่อง VQ20+HP35 ที่พ่นละอองไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ขนาดเล็กกว่า 5 ไมโครเมตร และล่องลอยในอากาศได้นาน
161002549736
สำหรับนวัตกรรมที่นอนยางพาราเป็นผลงานต่อยอดจากโครงการวิจัยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหมอนยางพาราระดับชุมชน โดยใช้กรรมวิธีเติมส่วนผสมของด่างตีจนเกิดฟอง และใส่ซิงค์ออกไซด์ เพื่อทำให้ฟองที่เกิดคงรูป ทำให้ได้ที่นอนยางพาราที่สามารถระบายอากาศได้ดี มีความยืดหยุ่นสูง ไม่สะสมฝุ่น แบคทีเรีย และเชื้อโรค โครงการวิจัยดังกล่าวดำเนินการโดยนายชาย คงแก้ว สำนักงานสหกรณ์จังหวัดพัทลุง ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก วช. เพื่อปรับปรุงการผลิตและขยายกำลังการผลิตหมอนยางพาราระดับชุมชนให้ได้มาตรฐาน เพียงพอและตรงต่อความต้องการของตลาด โดยสามารถเพิ่มมูลค่ายางพาราจาก 30 บาท/กิโลกรัม เป็น 300 บาท/กิโลกรัม และขยายกำลังการผลิตได้ไม่น้อยกว่าวันละ 300 ใบตามความต้องการของตลาด อีกทั้งกลุ่มอาชีพสหกรณ์บ้านพังดานได้เปิดจุดสาธิตการแปรรูปหมอนยางพาราให้องค์กรต่าง ๆ เข้ามาเรียนรู้ อีกด้วย
161002550855