ดัชนีเชื่อมั่น‘ทอง’พุ่ง รับโควิดระลอกใหม่

ดัชนีเชื่อมั่น‘ทอง’พุ่ง รับโควิดระลอกใหม่

ดัชนีเชื่อมั่นราคา”ทอง”ม.ค.64 เพิ่มขึ้น เผยจากความกังวลโควิดระบาดระลอกใหม่ กระทบเศรษฐกิจโลก

ดร.พิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล แถลงดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำประจำเดือน มกราคม 2564 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา จากระดับ 50.81 จุด มาอยู่ที่ระดับ 63.43 จุด เพิ่มขึ้น 12.62 จุด หรือคิดเป็น 24.84% โดยมีปัจจัยที่ทำให้ดัชนีฯปรับเพิ่มขึ้นมาจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และการกระตุ้นเศรษฐกิจจากสถานการณ์ของเชื้อไวรัส COVID-19

ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำระยะสามเดือนในไตรมาสแรกของปี 2564 (ม.ค.–มี.ค.) ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสสุดท้าย ของปี 2563 จากระดับ 61.01 จุด มาอยู่ที่ระดับ 69.57 จุด เพิ่มขึ้น 8.56 จุด หรือคิดเป็น 14.02% โดยดัชนีฯที่ปรับเพิ่มขึ้นมานั้น น่าจะมีสาเหตุมาจาก สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

คาดการณ์ความต้องการซื้อทองคำในช่วงเดือน มกราคม 2564 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 342 ตัวอย่าง พบว่าร้อยละ 40.35  ไม่แน่ใจว่าจะซื้อทองคำหรือไม่ ขณะที่ร้อยละ 33.33 คาดว่าจะซื้อทองคำในช่วงเดือนนี้ และร้อยละ 26.32 ยังไม่ซื้อทองคำในเดือน มกราคม 2564

สรุปกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำจำนวน 13 ตัวอย่าง โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าราคาทองคำในเดือน มกราคม 2564 จะเพิ่มขึ้น มีจำนวน 8 ราย และคาดว่าจะลดลง มีจำนวน 3 ราย ส่วนที่คาดว่าจะใกล้เคียงกับราคาทองคำในเดือน ธันวาคม 2563 มีจำนวน 2 ราย

สำหรับการคาดการณ์ราคาทองคำในเดือน มกราคม 2564 ของผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่มีมุมมอง ดังนี้ Gold Spot ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 1,799 – 1,975 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ด้านราคาทองคำแท่งในประเทศความบริสุทธิ์ 96.5% ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 25,900 – 28,000 บาทต่อน้ำหนัก 1 บาททองคำ และด้านค่าเงินบาท ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 29.61 – 30.34 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ

การลงทุนทองคำในเดือน มกราคม 2564 ผู้ค้าทองคำรายใหญ่แนะนำหากราคาทองคำสามารถยืนเหนือแนวรับที่บริเวณ 1,806 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ได้ คาดว่าราคาน่ากลับขึ้นไปทดสอบแนวต้านโซน 1,911 - 1,966 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ แต่หากไม่สามารถยืนอยู่เหนือระดับแนวต้านดังกล่าวได้ อาจต้องระมัดระวังแรงขายที่ออกมา ซึ่งอาจเป็นผลให้ราคาย่อตัวลงสู่แนวรับเดิมที่ 1,806 หรือแนวรับถัดไปที่บริเวณ 1,765 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ทั้งนี้ ยังคงต้องระมัดระวังในการซื้อขาย หรือชะลอการเข้าซื้อเพื่อรอดูสถานการณ์