'คลัง'เจาะเงินฝากคัดสิทธิ 'เราชนะ' กันกลุ่มอิสระรายได้สูงออก
“คลัง”เปิดเกณฑ์เยียวยา“เราชนะ”ตัดสิทธิคนรวย แรงงานนอกระบบ-เกษตรกรรายได้สูง งัดตรวจสอบรายได้จากฐานบัญชีเงินฝาก หวังเงินถึงผู้เดือดร้อนตัวจริง “สุพัฒนพงษ์” เผย จ่ายผ่านแอพแทนกดเงินสด
การแจกเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่ อยู่ในขั้นตอนการเร่งทำหลักเกณฑ์ผู้ได้รับความช่วยเหลือ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 19 ม.ค.2564 ซึ่งจะจ่ายเงินให้ประชาชนคนละ 3,500 บาทต่อเดือน รวม 2 เดือน และภาครัฐประเมินไว้ที่ 30 ล้านคน และใช้วงเงิน 210,000 ล้านบาท
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หนึ่งในเกณฑ์ที่ใช้ในการคัดกรองบุคคลที่ไม่ควรได้รับสิทธิเยียวยาในโครงการ “เราชนะ” ที่รัฐจะจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ จำนวน 3,500 บาท ระยะเวลา 2 เดือน คือ เกณฑ์เงินในบัญชีเงินฝากขั้นต่ำที่จะได้รับสิทธิ์ แต่กระทรวงการคลังจะไม่ประกาศให้ทราบว่าเงินฝากขั้นต่ำอยู่ที่เท่าไหร่ ถือว่าเป็นความลับ เพื่อป้องกันการหลบเลี่ยง เพื่อขอสิทธิ
สำหรับเกณฑ์การให้เงินเยียวยาครั้งนี้ ยังใช้หลักเกณฑ์ การต้องเป็นแรงงานนอกระบบที่ประกอบอาชีพอิสระ และ เกษตรกร ที่จะทำควบคู่กับการตรวจสอบบัญชีเงินฝาก ก็เหมือนกับการเยียวยา “เราไม่ทิ้งกัน” รอบที่แล้วที่จ่ายให้รายละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ก็ใช้เกณฑ์เรื่องบัญชีเงินฝากเช่นเดียวกัน
แหล่งข่าว กล่าวว่า การคัดกรองผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยานั้น จะต้องตรวจสอบในถังข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อคัดกรองคนมีสิทธิและตัดคนที่ไม่มีสิทธิออกไป เช่น คนที่อยู่ในข่ายทั้งประเทศมี 40 ล้านคน ก็จะต้องเอาข้อมูลของคนเหล่านี้ ไปตรวจสอบในถังข้อมูลประกันสังคมว่า เป็นคนในระบบประกันสังคมหรือไม่ หรืออยู่ในระบบประกันสังคม แต่ส่งเงินเข้ากองทุนไม่ถึง 6 เดือน ซึ่งยังไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนประกันสังคม รวมถึงการเข้าไปตรวจสอบถังข้อมูลในระบบธนาคารด้วย
“การเยียวยาครั้งที่แล้ว รัฐบาลใช้งบ 3.9 แสนล้านบาท แต่ก็ยังมีบางรายที่มาประท้วงที่หน้ากระทรวงว่าไม่ได้รับสิทธิ์รับเงินเยียวยา 5 พันบาท ปรากฏว่าเมื่อตรวจสอบในระบบแล้วพบว่า ผู้ประท้วงรายนั้นกลับมีเงินในบัญชีกว่าสิบล้านบาท ซึ่งเป็นเหตุที่ไม่ได้รับสิทธิเยียวยา”แหล่งข่าว กล่าว
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ระบบการคัดกรองคนมีสิทธิได้รับเงินเยียวยาในครั้งนี้ จะใช้ระบบคัดคนที่ไม่ควรได้สิทธิ์ออกไปก่อน เช่น คนที่อยู่ในระบบประกันสังคม, ข้าราชการ ลูกจ้าง หรือพนักงานในรัฐวิสาหกิจ เพื่อลดความยุ่งยากของประชาชน ส่วนคนที่อยู่ในระบบเดิม เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้รับการโอนเงินให้ทันที แต่สำหรับคนที่อยู่ในระบบ “คนละครึ่ง” นั้น จะต้องตรวจสอบด้วยว่า เป็นผู้มีรายได้สูง หรือ อยู่ในระบบแรงงานหรือไม่
“เราต้องการช่วยเหลือคนที่มีรายได้น้อยและได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ฉะนั้น แม้ว่า คนที่อยู่นอกระบบแรงงาน ประกอบอาชีพอิสระ หรือ เป็นเกษตรกร จะอยู่ในข่ายที่ควรได้รับสิทธิ แต่ถ้ามีรายได้สูงเราก็จะตัดสิทธิ”
ทั้งนี้กระทรวงการคลัง จะเร่งสรุปหลักเกณฑ์การรับเงินเยียวยาในโครงการ “เราชนะ” เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ และจะเปิดให้มีการลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิในช่วงปลายเดือนนี้ผ่านแอปพลิเคชั่น และคาดว่าจะเริ่มโอนเงินงวดแรกได้ต้นเดือน ก.พ.นี้
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า โครงการ “เราชนะ” อยู่ระหว่างพิจารณาว่าการจ่ายเงินเยียวยาจากหลักเกณฑ์ใด โดยมีการพิจารณาระหว่างฐานอาชีพและฐานพื้นที่ แต่แนวคิดหนึ่งที่หารือในรัฐบาล คือ การประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุด28 จังหวัด (พื้นที่สีแดง) ซึ่งถือว่าครอบคลุมพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญส่วนใหญ่ของประเทศหรือไม่ ทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ ถือว่ายังดีเบตกันอยู่และยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ได้เตรียมงบประมาณไว้ประมาณ 2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนมากแต่ดำเนินการเพื่อให้คนไทยจำนวนหนึ่งพ้นทุกข์มีความสุขจึงมีความจำเป็น รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีแนวความคิดแบบนี้เพื่อให้ดูแลผู้ได้รับผลกระทบ
“มาตรการที่มีการออกมาดูแลประชาชนครอบคลุมหลายกลุ่มหลายมาตรการที่เหมาะสม แต่ที่จำเป็นและใช้เงินมาก คือ การให้เงินหรือให้สิทธิ์ในการใช้เงินผ่านแอพพลิเคชันแล้วไปทยอยใช้ตามร้านค้าตามจุดต่างๆ เหมือนกับคนละครึ่ง ซึ่งไม่ต้องจับเงินสดเพื่อลดการติดเชื้อ ซึ่งเป็นเรื่องของการหลีกเลี่ยงการติิดเชื้อโควิดได้ด้วย” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
สำหรับการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ไม่มีอะไรที่น่ากังวลมากเพราะการกระจายวัคซีนในประเทศต่างๆ มีปริมาณมากขึ้นรวดเร็วโดยเมื่อไทยได้รับวัคซีนล็อตแรกในเดือน เม.ย.นี้ประมาณ 2 แสนโดสถือว่าเป็นประเทศหนึ่งที่ได้วัคซีนมากอันดับต้นของโลก และรัฐบาลสั่งจองอีก60 ล้านโดสซึ่งรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจได้เตรียมการทุกอย่างไว้พอสมควร
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังพร้อมพิจารณาเปิดโครงการ “คนละครึ่ง” ในเฟสที่สาม หากเห็นว่าโครงการนี้สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและเป็นประโยชน์กับประชาชน โดยจะขอพิจารณาผลของมาตรการในเฟสที่หนึ่งและเฟสที่สองก่อน
ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยที่เคยพึ่งพาอาศัยการท่องเที่ยว แต่ขณะนี้ ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เราต้องหันมาพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศทดแทน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีมาตรการที่จะกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ
ขณะนี้โครงการคนละครึ่งยังอยู่ในช่วงของเฟสที่สอง ซึ่งยอดการใช้จ่ายในโครงการนี้ยังมีต่อเนื่องแม้จะมีโควิด-19 ระลอกใหม่ อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังเตรียมที่จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการในรอบเก็บตกอีกราว 1 ล้านสิทธิในช่วงปลายเดือนม.ค.นี้
“เราไม่เคยบอกว่า จะไม่ต่อหรือไม่ทำต่อ ต้องดูว่ากำลังซื้อประเทศมีหรือไม่ ประชาชนได้ประโยชน์หรือไม่ ถ้าได้ประโยชน์รัฐบาลก็พร้อมพิจารณา แต่ทำให้ประชาชนตื่นตัว รู้จักใช้เทคโนโลยีการจ่ายเงินผ่านเป๋าตังโดยใช้มือถือ ก็เป็นเรื่องหนึ่ง ที่ให้ความรู้ด้านดิจิทัลแก่ประชาชนไปด้วย”