รู้จัก ‘หม่า เป๋าลี่’ อดีตตำรวจ เจ้าของแอพหาคู่เกย์ สะเทือน Nasdaq
หลายสิบปีก่อนตอนที่ "หม่า เป๋าลี่" ยังเป็นตำรวจหนุ่มในจีน เขาพยายามเสิร์ชหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต หลายเพจบอกว่า เขาหลงผิด ป่วย และจำเป็นต้องเข้ารับการรักษา นั่นเพราะว่า เขาเป็น "เกย์"
“ผมรู้สึกเหงาสุดๆ เลยครับ หลังรู้ว่าตัวเองมีรสนิยมทางเพศแบบไหน” หม่า เล่าถึงเหตุการณ์สมัยเพิ่งเป็นตำรวจที่เมืองเล็กๆ ชายฝั่ง
20 ปีต่อมา ชายวัย 43 ปี ผู้พูดจานุ่มนวลเป็นนิจ กลายเป็นเจ้าของ บลูด์ (Blued) แพลตฟอร์มหาคู่เกย์ใหญ่สุดแห่งหนึ่งของโลก
แอพพลิเคชันนี้จดทะเบียนในตลาดแนสแดค (Nasdaq) เมื่อเดือน ก.ค.ปีก่อน ด้วยมูลค่า 85 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นความสำเร็จอย่างงดงามสำหรับแอพที่มาจากจีน ประเทศที่จัดให้การรักเพศเดียวกันเป็นอาการป่วยทางจิตมาตลอดก่อนจะเลิกเมื่อปี 2544
บรรยากาศการทำงานเป็นตัวบ่งบอกความเป็นตัวตนได้ส่วนหนึ่งที่ "บลูซิตี้" บริษัทแม่ของ บลูด์ (Blued) ในกรุงปักกิ่งเต็มไปด้วยโปรแกมเมอร์หนุ่มสาวแต่งตัวสบายๆ ประชุมกันในห้องที่ตั้งชื่อตาม ออสการ์ ไวลด์ และ LGBTQ คนดังทั่วโลก
สำนักงานตกแต่งด้วยมาสคอตยูนิคอร์นสีรุ้ง ห้องน้ำเพศกลาง และภาพของหม่าพบกับบุคคลสำคัญ เช่น นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง
การเดินทางของหม่าก่อนเข้าสู่จุดสูงสุดในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีีจีนเริ่มขึ้นเมื่อต้นทศวรรษ 2000 ตอนที่เขาเริ่มเขียนบล็อก Danlan.org บอกเล่าชีวิตเกย์ของตนเอง
หม่าเล่าว่า ตอนนั้นสถานที่พบปะสังสรรค์เกย์ในจีนมีเพียงไม่กี่แห่ง “ผู้คนจะเขียนบนกำแพงห้องน้ำสาธารณะว่าพบกันที่นี่เวลานี้ ทุกคนกลัวว่าคนอื่นมาเจอเข้า” อดีตตำรวจเล่าความเป็นไปช่วงแรกๆ
บล็อกของหม่า ค่อยๆ ขยายตัวเป็นเวทีออนไลน์ทรงอิทธิพลสำหรับ LGBTQ ในจีน เพื่อแบ่งปันเรื่องไลฟ์สไตล์ คำแนะนำด้านสุขภาพ และเรื่องสั้น
“ผมคิดว่าควรทำเว็บ บอกเล่าให้คนที่เป็นเกย์เหมือนผมรู้ว่า คุณไม่จำเป็นต้องรู้สึกต่ำต้อย ไม่จำเป็นต้องฆ่าตัวตาย”
เมื่อสื่อท้องถิ่นรายงานถึงเว็บนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อนร่วมงานของหม่าก็รู้ความจริง ทำให้เขาต้องลาออกจากอาชีพตำรวจในปี 2555 แล้วเปิด บลูด์ (Blued) ในปีเดียวกัน
ถึงวันนี้แอพฯ บลูด์ (Blued) มีผู้ใช้กว่า 58 ล้านคนในจีนและนานาประเทศ เช่น อินเดีย เกาหลีใต้ และไทย
บริษัทยังไม่ทำกำไรแต่ขาดทุนน้อยลงนับตั้งแต่เริ่มเก็บค่าสมาชิกไลฟ์สตรีม และโฆษณาในปี 2559
จะว่าไปแล้วบลูด์ก็เหมือนกับแอพฯ นัดเดตอื่นๆ ผู้ใช้หลายคนต้องการเข้ามาหาคู่แล้วไปเดตกัน แต่หลายคนก็ได้คู่ชีวิตยืนยาว พิสูจน์ได้จากจดหมายกองโตบนโต๊ะที่เขียนมาขอบคุณ "หม่า"
ทุกวันนี้การพูดคุยเรื่อง LGBTQ ยังเป็นที่ถกเถียงกันในจีน นักเคลื่อนไหวหลายคนโอดครวญว่า ระยะหลังเจอข้อจำกัดมากขึ้นในการพูดคุยเรื่องนี้ต่อสาธารณะ แม้แต่ Danlan.org ตอนเพิ่งเปิดช่วง 2-3 ปีแรกก็ถูกปิดไปหลายครั้ง แต่บลูด์ไม่ค่อยขัดแย้งกับทางการ เพราะค่อยๆ ใช้วิธีการอย่างระมัดระวังเพิ่มความตระหนักรู้ของสังคมให้ยอมรับชาว LGBTQ
วิธีการที่ใช้เช่น ล้างตราบาปเกี่ยวกับ HIV ที่ช่วยโหมกระพือการเหยียดเกย์ ทั้งยังทำให้คนไม่กล้าไปหาหมอเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ แต่ "บลูซิตี้" มีแพลตฟอร์มออนไลน์ขายชุดตรวจ HIV และเป็นตัวแทนปรึกษาแพทย์ ทั้งยังร่วมงานกับทางการท้องถิ่นนำผู้ใช้ไปตรวจ HIV ฟรีที่ศูนย์ตรวจ
หม่าเล่าว่า เขาประหลาดใจมากกับปฏิกิริยาที่ได้รับจากหน่วยงานสาธารณสุขเมื่อบอกว่า จะร่วมมือทำโครงการรณรงค์ป้องกัน HIV
“พวกเขาบอกว่ากำลังต้องการเข้าหาชุมชนชาวเกย์อยู่พอดี แต่ไม่รู้จะติดต่อทางไหนหาตัวได้ยังไง”
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าบลูด์จะดำเนินไปอย่างราบรื่นไร้อุปสรรค ตอนแรกๆ ก็มีปัญหาเหมือนกัน เคยระงับการลงทะเบียนผู้ใช้ใหม่ชั่วคราวเมื่อปี 2562 หลังสื่อท้องถิ่นรายงานว่า เด็กชายอายุต่ำกว่าเกณฑ์เข้ามาใช้แอพฯ บริษัทให้คำมั่นว่าจะควบคุมอายุและเนื้อหาให้เข้มงวดขึ้น
หม่า กล่าวว่า ทีมงานของเขาให้คำมั่น “สร้างภาพลักษณ์ชาวเกย์ให้ดีงามยิ่งขึ้น” และเชื่อว่างานของเขาช่วยเพิ่มการรับรู้ของสังคมต่อชาว LGBTQ ในจีน รวมถึงเพื่อนและครอบครัวที่เคยปฏิเสธเขามาก่อน ทั้งยังเชื่อด้วยว่าสังคมจะเข้าใจได้ในเร็วๆ นี้
“ผมคิดว่า จะต้องมีวันที่เกย์ในจีนแต่งงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แค่รอเวลาเท่านั้น” เจ้าของแอพเกย์เบอร์ต้นๆ ของโลกกล่าวอย่างเชื่อมั่น