'เศรษฐกิจไทย' ปี 64 ในวิกฤติโควิดระลอกใหม่
หลังจากที่ปี 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ทำให้มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวขึ้น แต่วันนี้ไทยต้องเผชิญการระบาดระลอกใหม่ เศรษฐกิจไทยในปี 2564 นี้จะเป็นไปอย่างไรบ้าง?
ประเทศไทยเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ตั้งแต่ปลายปี 2563 เศรษฐกิจไทยปีนี้คาดว่าขยายตัวราว 2-3% จากปีก่อนหน้า ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่คาดว่าจะขยายตัว 3-4% และการขยายตัวดังกล่าวยังคงต่ำกว่าปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้อีกปัจจัยหลักของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยคือวัคซีน หากการฉีดวัคซีนมีความล่าช้าอาจทำให้การฟื้นตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับการส่งออกและการท่องเที่ยว หากประเทศหลักในโลกสามารถฉีดวัคซีนได้ภายในครึ่งปีแรก จะทำให้เศรษฐกิจในประเทศเหล่านั้นเริ่มฟื้นตัวได้ตั้งแต่ไตรมาส 3 นั่นหมายถึงการส่งออกและการท่องเที่ยวของประเทศไทยจะเริ่มฟื้นตัวได้ในครึ่งปีหลังของปี แต่หากสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทยยังไม่คลี่คลาย จะทำให้การท่องเที่ยวในปี 2564 ฟื้นตัวล่าช้าออกไปกว่าที่คาดการณ์ รายได้จากการท่องเที่ยวจะยังคงไม่กลับไปสู่ระดับเดิมก่อนโควิดจนกว่าการระบาดสิ้นสุดลง
ขณะที่การส่งออกของไทยคาดว่าขยายตัวราว 4-5% ในปีนี้ หลังจากที่หดตัวมากกว่า 7% ในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างสหรัฐ จีน ยุโรป และญี่ปุ่น ที่เริ่มฟื้นตัว และคาดว่าจะกลับไปสู่ระดับเดิมก่อนโควิดได้ในปี 2565 อย่างไรก็ตาม รายได้จากการส่งออกคาดว่าจะต่ำกว่าปี 2562 เนื่องจากการแข็งค่าของเงินบาทที่คาดว่าจะอยู่ที่ราว 30 บาทต่อดอลลาร์ในปีนี้
การหดตัวของการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ผ่านมา ทำให้รายได้ของธุรกิจและการจ้างงานในประเทศลดลง โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มีการจ้างงานมากกว่า 13 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่นอกภาคการเกษตรและนอกภาครัฐ จำนวนชั่วโมงการทำงานของแรงงานในประเทศในปีที่ผ่านมาลดลงไปกว่า 10% แม้คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวในปีนี้แต่ยังคงต่ำกว่าระดับเดิมก่อนโควิด นอกจากนี้ รายได้เกษตรกรได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดด้วยเช่นกัน
จากการศึกษาของ TDRI พบว่า รายได้ของครัวเรือนเกษตรเกินครึ่งมาจากเงินที่ลูกหลานส่งให้และการทำงานนอกฤดูการทำเกษตร เช่นการทำงานก่อสร้าง งานในร้านอาหาร หรือทำงานฝีมือ เป็นต้น ซึ่งการระบาดของโควิดทำให้รายได้ส่วนนี้ลดลง
การลดลงของรายได้และการจ้างงานส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน แม้ว่าปลายปี 2563 การซื้อสินค้าไม่คงทน (อาหาร เครื่องดื่ม ยาสูบ เป็นต้น) จะเริ่มฟื้นตัวใกล้เคียงกับระดับเดิมก่อนโควิด แต่สินค้าคงทน (เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า รถยนต์ เป็นต้น) และการใช้จ่ายท่องเที่ยวในประเทศยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ อย่างไรก็ตาม การระบาดระลอกใหม่จะทำให้การฟื้นตัวดังกล่าวล่าช้าออกไป นอกจากนี้หนี้ครัวเรือนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหนี้ครัวเรือนไตรมาส 3 ของปี 2563 อยู่ที่ 86.6% ต่อจีดีพี สูงสุดในรอบ 18 ปี เหล่านี้จะกลายเป็นข้อจำกัดในการใช้จ่ายของครัวเรือนในอนาคต แม้ว่าการระบาดจะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม
การใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เนื่องจากรัฐบาลมีทรัพยากรเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะปีที่ผ่านมามีการเบิกจ่ายจากงบเงินกู้ 1 ล้านล้านไปเพียง 30% และเมื่อรวมกับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ของรัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจแล้วจะทำให้ภาครัฐมีทรัพยากรรวมกันมากกว่า 4 ล้านล้านบาท หรือราว 25% ของจีดีพี ดังนั้น ภาครัฐควรจะต้องใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้เพิ่มขึ้นเพื่อบรรเทาผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิดที่มีต่อธุรกิจเอสเอ็มอี และการจ้างงาน
ราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ย จะยังคงอยู่ในระดับต่ำในปีนี้ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปีนี้อยู่ที่ราว 48.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แม้ว่าจะเพิ่มจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย แต่อยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนโควิดที่อยู่ที่ 64.3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปี 2562 เนื่องจากความต้องการน้ำมันฟื้นตัวค่อนข้างช้า ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยต่ำกว่า 1% ในปีนี้ นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะยังคงอยู่ในระดับต่ำใกล้ศูนย์ไปจนถึงปี 2565 เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2564 ขึ้นอยู่กับการได้มาซึ่งวัคซีนและสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมการค้าโลกจะไม่กลับไปเหมือนก่อนโควิดเนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะยังคงดำเนินต่อไป ประกอบกับการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะกระทบต่อการฟื้นตัวของการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย
แม้ว่าธุรกิจส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากโควิด แต่มีหลายธุรกิจที่ยังคงเติบโตได้ เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอีคอมเมิร์ซ ดิลิเวอรี่ เทคโนโลยี สุขอนามัย และการประกันภัย ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมได้รับประโยชน์จากการย้ายกำลังการผลิตออกจากประเทศจีนมายังประเทศไทย เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐจะได้ประโยชน์จากการใช้จ่ายและการลงทุนของรัฐบาลที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปีนี้