'ดีเอสไอ' ฝากขัง ผู้บริหาร 'Forex 3d' แชร์ลูกโซ่พันล้าน!

'ดีเอสไอ' ฝากขัง ผู้บริหาร 'Forex 3d' แชร์ลูกโซ่พันล้าน!

"ดีเอสไอ" ฝากขัง "อภิรักษ์" ซีอีโอแชร์ลูกโซ่ "Forex 3d" ฉ้อโกงประชาชน หลอกเหยื่อลงทุนซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ มีอัตราโทษสูง เกรงหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน

16 ม.ค.2564 ที่ศาลาอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายพรชัย จิตบุญ พนักงานสอบสวนดีเอสไอได้นำตัว นายอภิรักษ์ โกฎธิ อายุ 27 ปี ผู้ต้องหาคดีแชร์ลูกโซ่ Forex อยู่บ้านเลขที่ 63/125 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กทม. มายื่นคำร้องขอฝากขังครั้งแรก ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธคำร้องฝากขังระบุพฤติการณ์ว่า ตามวันเวลาที่เกิดเหตุ นายอภิรักษ์ โกฎธิ ผู้ต้องหา ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท อาร์เอ็มเอส แฟมิเลี่ย จำกัด ที่นายอภิรักษ์ ได้ชักชวนให้ประชาชนทั่วไปร่วมลงทุนโดยอ้างว่าจะนำเงินไปซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Forex)

โดยเสนอผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 60-80 ของเงินผลกำไรที่ได้จากการนำไปลงทุนเทรดค่าเงินโดยมีการโฆษณาชักชวนผ่านทางเว็บไซต์ www.forex-3d.com อ้างว่ามีเทรดเดอร์มืออาชีพเป็นผู้เทรดให้กับผู้ลงทุน โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับการเทรดเงิน บริษัทอาร์เอ็มเอสฯ จะเป็นผู้ทำการเทรดให้ เพียงแค่นักลงทุนฝากเงินเข้ามาก็สามารถที่จะรอรับเงินปันผลได้เลย โดยที่มีการประกันเงินต้น 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีการขาดทุน ซึ่งใช้เงินเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 5,000 บาท

ในขณะที่ระบบนี้นักลงทุนจะมีระดับการลงทุน หรือรูปแบบการลงทุน ขึ้นกับจำนวนเงินลงทุนและระยะเวลาที่ลงทุนกับบริษัท อาร์เอ็มเอสฯ แบ่งเป็น 5 รูปแบบ คือ 1. Class Bronze ส่วนแบ่งกำไร 60 : 40 (ผู้ลงทุน : บริษัท) คำสั่งถอน 20 วัน/ครั้ง ทุนขั้นต่ำ 2,000 $2. Class Siver ส่วนแบ่งกำไร 65 : 35 (ผู้ลงทุน : บริษัท) คำสั่งถอน 15 วัน/ครั้ง ทุนขั้นต่ำ 7,500 $3. Class Gold ส่วนแบ่งกำไร 70 : 30 (ผู้ลงทุน : บริษัท) คำสั่งถอน 10 วัน/ครั้ง ทุนขั้นต่ำ 20,000 $ อายุบัญชีการลงทุนมากกว่า 2 ปี๔. Class Platinum ส่วนแบ่งกำไร 75 : 25 (ผู้ลงทุน : บริษัท) คำสั่งถอน 5 วัน/ครั้ง ทุนขั้นต่ำ30,000 อายุบัญชีการลงทุนมากกว่า 3 ปี๕. Class Diamond ส่วนแบ่งกำไร 80 : 20 (ผู้ลงทุน : บริษัท) คำสั่งถอน 1วัน/ครั้ง ทุนขั้นต่ำ40,000 อายุบัญชีการลงทุนมากกว่า 5 ปีโดยมีสัญญาว่าต้องลงทุนนาน 3 เดือน จึงจะสามารถถอนเงินทุนออกมาได้ทั้งหมด โดยเมื่อผู้ลงทุนโอนเงินลงทุนไปยังบริษัทฯ แล้วทางบริษัทฯ จะอ้างว่าเงินของผู้ลงทุนไป เทรดค่าเงินสกุลต่างประเทศให้ผู้ลงทุนจะถอนเงินกำไรออกมาได้หลังจากบริษัทฯ เปิดเทรดแล้วมีกำไรในพอร์ตลงทุนมากกว่า 5-8 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไปจึงจะสามารถอนกำไรออกมาได้

นอกจากนี้ผู้ลงทุนยังจะได้รับค่าแนะนำหรือ IB Partner ผู้แนะนำคนอื่นมาลงทุนโดยการส่งลิงค์ต่อให้ เมื่อผู้ลงทุนรายใหม่จ่ายเงินลงทุนและได้กำไร ผู้ชักชวนจะได้รับเงินคำแนะนำประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ของเงินกำไร ในการจ่ายเงินลงทุนต้องโอนเงินลงทุนเข้าบัญชี บริษัท มี ดี เพย์ จำกัด ที่มีนายอภิรักษ์ ผู้ต้องหาเป็นกรรมการ ซึ่งเป็นบัญชีของธนาคารกสิกรไทย ชื่อบัญชีนริษัท มี ดี เพย์ จำกัด เลขที่บัญชี 023-8-34662-2 มีลักษณะเป็นการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวง ดังนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม และมีลักษณะเป็นการกู้ยืมเงินโดยเสนอผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายจะพึงจ่ายได้ เป็นการนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินรายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน

โดยการหลอกลวงดังกล่าวเป็นเหตุให้มีผู้เสียหาย จำนวน 8,436 ราย มูลค่าความเสียหาย 1,908,113,421.92 บาท ต่อมาพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้รวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลอาญาออกหมายจับ นายอภิรักษ์ ผู้ต้องหานี้ ตามหมายจับศาลอาญาที่ 393/ 2563 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2563 โดยกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐาน "ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน,ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่จะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน" เป็นความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 ,12 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก , พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2552 มาตรา 3,4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

กระทั่งเมื่อวันที่ 15 ม.ค.2564 เวลา 07.30 น. เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ สามารถติดตามจับกุม นายอภิรักษ์ ผู้ต้องหาได้ที่คอนโดมิเนียมหรู (ห้องพัก 3701 ย่านทองหล่อ) แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กทม.โดยผู้ต้องหารับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับจริงและยังไม่เคยถูกจับกุมตามหมายจับนี้มาก่อนจึงควบคุมตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินคดีตามกฎหมาย เหตุเกิดที่บริษัท อาร์เอ็มเอส แฟมิเลี่ย จำกัด เลขที่ 89 ตีกเอไอเอ แคปปิตอล เซ็นเตอร์ ชั้นที่ 20 ห้องเลขที่ 2028 ถนนรัชดาภิเษก แขวงและเขตดินแดง กทม. และท้องที่ต่างๆ เกี่ยวพันกัน ระหว่างวันที่ 8 ก.ย. 2559 ถึงวันที่ 11 ต.ค. 2562 ขอให้ลงโทษตามกฎหมาย

ท้ายคำร้อง พนักงานสอบสวนคดีพิเศษยังระบุว่า ได้ควบคุมตัวผู้ต้องหามาจะครบกำหนด 48ชั่วโมง แล้ว หากแต่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากจะต้องทำสอบปากคำพยานเพิ่มเติมอีกจำนวน 35 ปาก รอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหาจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร อีกทั้งรวบรวมพยานหลักฐานอื่นๆ

จึงขออนุญาตศาลฝากขังผู้ต้องหาไว้ระหว่างการสอบสวน มีกำหนด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 16-27 ม.ค.2564 และหากผู้ต้องหายื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว พนักงานสอบสวนคดีพิเศษขอคัดค้าน เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง ประกอบกับมูลค่าความเสียหายในคดีมีจำนวนมาก หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราว เกรงว่าอาจจะหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐานอื่นอันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางคดีได้ ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ฝากขังได้