เฟซบุ๊คร่วมพัฒนาเอไอใช้คาดการณ์อาการผู้ป่วยโควิด

เฟซบุ๊คร่วมพัฒนาเอไอใช้คาดการณ์อาการผู้ป่วยโควิด

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า คณะนักวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ของเฟซบุ๊คระบุว่า ได้พัฒนาซอฟท์แวร์ที่สามารถคาดการณ์แนวโน้มที่ผู้ป่วยโรคโควิด-19 จะมีอาการแย่ลง หรือจำเป็นต้องใช้เครื่องหายใจโดยพิจารณาจากการเอ็กซเรย์ทรวงอก

เฟซบุ๊ค ซึ่งร่วมงานวิจัยดังกล่าวกับนักวิชาการจากหน่วยวิเคราะห์เชิงคาดการณ์และแผนกรังสีวิทยาของเอ็นวายยู แลงกอน เฮลธ์( NYU Langone Health) ระบุว่า ซอฟท์แวร์ดังกล่าวอาจช่วยให้แพทย์สามารถหลีกเลี่ยงการส่งผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงกลับบ้านเร็วเกินไป ขณะที่จะช่วยให้โรงพยาบาลต่างๆ สามารถวางแผนในการเตรียมเครื่องช่วยหายใจ

นักวิจัย 10 คนที่ร่วมพัฒนาเอไอ ประกอบด้วยนักวิจัย 5 คนจากแผนกวิจัยเอไอของเฟซบุ๊ค และอีก 5 คนมาจากเอ็นวายยู สคูล ออฟ เมดิซิน ( NYU School of Medicine) ระบุว่า พวกเขาได้พัฒนาการเรียนรู้ของเอไอทั้งหมด 3 รูปแบบ ซึ่งมีความแตกต่างกันเล็กน้อย

รูปแบบแรกคือความพยายามที่จะคาดการณ์ภาวะที่ย่ำแย่ลงของผู้ป่วยโดยอิงกับการเอ็กซเรย์ทรวงอกเพียงครั้งเดียว, รูปแบบที่สองคือการคาดการณ์จากการเอ็กซเรย์ทรวงอกอย่างต่อเนื่อง และรูปแบบที่ 3 คือการเอ็กซเรย์เพียงครั้งเดียวเพื่อคาดการณ์ปริมาณออกซิเจนเสริมที่ผู้ป่วยอาจต้องการ

นักวิจัยระบุในบล็อกโพสต์ที่เผยแพร่ในวันศุกร์ (15 ม.ค.) ระบุว่า "รูปแบบที่ใช้การเอ็กซเรย์ทรวงอกอย่างต่อเนื่องนั้น สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ราว 4 วัน (96 ชั่วโมง) หากผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งโดยรวมแล้ว การคาดการณ์ของเอไอให้ผลดีกว่าการคาดการณ์ของมนุษย์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ

"วิลเลียม มัวร์" ศาสตราจารย์ด้านรังสีวิทยาของเอ็นวายยู แลงกอน เฮลธ์ ระบุในแถลงการณ์ว่า “เราสามารถแสดงให้เห็นว่า ด้วยการใช้อัลกอริทึ่มเอไอนี้ การเอ็กซเรย์ทรวงอกอย่างต่อเนื่องนั้น สามารถคาดการณ์ถึงความจำเป็นในการเพิ่มการดูแลผู้ป่วยโควิด-19”

ศาสตราจารย์มัวร์กล่าวเสริมว่า “ขณะที่โรคโควิด-19 ยังคงเป็นประเด็นด้านสาธารณสุขที่สำคัญ ความสามารถที่จะคาดการณ์ความต้องการของผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเพิ่มการดูแล เช่น การรักษาในห้องไอซียูนั้น นับเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับโรงพยาบาลต่างๆ”