"กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ" เร่ิมถก "ส.ส.ร." สัปดาห์นี้ ก่อนนัด "โหวตรายประเด็น"- คาดมี10 เรื่อง

"กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ" เร่ิมถก "ส.ส.ร." สัปดาห์นี้ ก่อนนัด "โหวตรายประเด็น"- คาดมี10 เรื่อง

"รองประธานกมธ.แก้รัฐธรรมนูญ" ระบุสัปดาห์นี้เร่ิมถก "ส.ส.ร." ก่อนนัดวันโหวตรายประเด็น คาดมี10 เรื่อง ใช้เสียงข้างมากชี้ขาด เผยการเลือกตั้งส.ส.ร.​ไม่ต้องตรากฎหมายเฉพาะใช้บังคับ

      นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยสภาร่างรัฐธรรมนูญ) รัฐสภา กล่าวถึงการประชุมกมธ.ฯ วันที่ 21 - 22 มกราคม ว่า จะเข้าสู่หมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ประชุมจะรับฟังการอภิปรายและแสดงความคิดเห็นของกมธ.ฯ ไว้ และไร้ปัญญา แม้จะมีกมธ.ฯ หลายคนมีความเห็นที่แตกต่างกันต่อการได้มาซึ่ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยที่ประชุมจะจดบันทึกไว้และจะนำไปลงมติสรุปกันในตอนท้ายของการพิจารณา ซึ่งมีความเห็นร่วมกันว่าจะนัดลงมติในรายละเอียด ส่วนจะเป็นช่วงเวลาใดนั้นต้องหารือกันอีกครั้งหนึ่ง

      นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่าสำหรับประเด็นที่คาดว่ากมธ.ฯ จะลงมติตัดสินนั้นมีประมาณ 10 ประเด็น อาทิ ร่างแก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยการออกเสียงลงคะแนน ที่มีผู้เสนอให้ใช้เสียง 3 ใน 5 , 2 ใน 3 และ มากกว่ากึ่งหนึ่ง, หมวด 15/1 ว่าด้วย ส.ส.ร. มีประเด็นเรื่อง วิธีได้มาของส.ส.ร. จำนวน 200 คน จากที่มีข้อเสนอ มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนทั้งหมดและให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 150 คน และมาจากการเลือกโดยองค์กร 50 คน, วิธีการแบ่งเขตเลือกตั้งส.ส.ร. , คุณสมบัติของส.ส.ร. เป็นต้น

      เมื่อถามว่าสำหรับคุณสมบัติของส.ส.ร. นั้นจะให้ระบุสเปคขั้นต้นไว้หรือไม่ เช่น เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการหรือวิชาชีพใดบ้าง นายไพบูลย์ กล่าวว่า มีผู้ที่เสนอคำแปรญัตติให้กมธ. พิจารณา แต่ในชั้นนี้กมธ.ต้องหารือร่วมกันอีกครั้ง โดยส่วนตัวมองว่ายังไม่ถึงขั้นกำหนดคุณสมบัติด้านใดเป็นขั้นต้น

  เมื่อถามว่าสำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.ร.นั้น จำเป็นที่ต้องออกกฎหมายเพื่อรองรับเป็นเฉพาะหรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า การเลือกตั้งส.ส.ร.สามารถใช้การอนุโลมนำกฎหมายเลือกตั้ง หรือ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกประกาศบังคับใช้ไปได้ เพื่อให้รวดเร็ว อีกทั้งในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญกำหนดให้ กกต.​จัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ภายใน 90 วันนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญใหม่ใช้บังคับ ดังนั้นหากรอให้มีกฎหมายเลือกตั้งส.ส.ร. อาจทำให้ใช้เวลามากไป แม้ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสามารถบัญญัติให้การเลือกตั้งส.ส.ร. ทำได้ หลังจากมีกฎหมายที่ระบุไว้เฉพาะได้ แต่ในชั้นนี้เชื่อว่าไม่มีใครต้องการให้การเลือกส.ส.ร.ล่าช้า.