"สภา" ล็อกวันเชือด รัฐบาล 17-19 กุมภา

"สภา" ล็อกวันเชือด รัฐบาล 17-19 กุมภา

เปิดปฏิทินการเมือง ร้อนตั้งแต่ต้นปี64 หลัง ฝ่ายค้านไม่ปล่อย ให้รัฐบาล ลอยนวลการตรวจสอบ เตรียมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต่อด้วยเรื่องร้อนการเมือง แก้ไขรัฐธรรมนูญ, ประชามติ

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงปลายสมัยประชุมสภาฯ สมัยสามัญ ประจำปี ครั้งที่สอง ซึ่งจะครบกำหนดและปิดสมัยประชุมวันที่ 28 กุมภาพันธ์​นี้ มีวาระทางการเมืองที่ต้องจับตาว่าจะส่งผลกระทบถึงสถานการณ์การเมืองของประเทศ ในช่วงต้นปี 2564 นี้หรือไม่
    โดยต้องจับตาวาระการทำงานภาพใหญ่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่มีทั้งวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และ ญัตติขอเปิดประชุมสภาฯ เพื่ออภิปรายทั่วไปโดยลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี เป็นรายบุคคล
      ซึ่งในวันที่ 25 มกราคมนี้ “7พรรคร่วมฝ่ายค้าน" ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย, พรรคก้าวไกล, พรรคเสรีรวมไทย ,พรรคประชาชาติ, พรรคเพื่อชาติ , พรรคพลังปวงชนไทย และ พรรคไทยศรีวิไลย์ ซึ่งในที่นี้ยังมี มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ จากพรรคเศรษฐกิจใหม่ ร่วมด้วย  จะยื่นญัตติต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี เป็นรายบุคคล ซึ่งในเบื้องต้น รัฐมนตรีที่จะถูกยื่นอภิปราย ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในประเด็นการบริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว, ไม่โปร่งใส และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งโฟกัสที่การแก้ไขปัญหาระบาดของโควิด-19 เป็นสำคัญ 

      และเมื่อ 1 ใน 3 ป. ถูกอภิปราย มีหรือที่ อีก 2 จะรอด นั่นคือ  พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ซึ่งประเด็นที่อภิปรายนั้น พล.อ.อนุพงษ์ คาดว่าจะโดนพ่วงเรื่อง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ปล่อยปละละเลย ทำให้เกิดผลกระทบกับผู้โดยสารที่ต้องเสียค่าโดยสารราคาแพง
 
      นอกจากนั้น ยังมี ​อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ในประเด็นของการแก้ปัญหาโควิด-19, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ปมปัญหาการบริหารจัดการหน้ากากอนามัย ที่พบว่ามีการทุจริต,  นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน จากปมปัญหาการค้าแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย
 
      สำหรับวันที่นัดหมายให้เปิดอภิปรายได้ กำหนดไว้เป็นวันที่  17 - 19 กุมภาพันธ์ และลงมติวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ซึ่งต่างจากผลการหารือของวิป 2 ฝ่าย ที่กำหนดไว้ ในวันที่ 16 - 19 กุมภาพันธ์ เนื่องจากวันที่ 16 กุมภาพันธ์ นั้น ครม.ขอจัดไว้เพื่อประชุม ครม. 
      ขณะที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการฯ รัฐสภา นั้น คณะกรรมาธิการ เตรียมจะเสนอให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภา พิจารณา  23- 25 กุมภาพันธ์ เพื่อพิจารณาในวาระสอง  ส่วนการลงมติในวาระสามนั้น จะใช้การประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ​ วันที่ 17 - 18 มีนาคม ซึ่งในคราวดังกล่าวจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ในวาระสองและวาระสามด้วย. 

      ทั้งนี้ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์เพื่อย้ำถึงกรอบการประชุมสภาฯ ก่อนปิดสมัยประชุมวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ด้วยว่า  

      1. กำหนดให้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อชดเชยการงดประชุมในทุกวันศุกร์ ยกเว้นวันศุกร์ที่12 กับวันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564

      2.กำหนดให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันอังคารที่ 16 - วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564ลงมติวันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564

      3. กำหนดให้วันพุธที่ 24 -วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564จะเป็นการประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฯในวาระที่ 2

      "ส่วนการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ในเบื้องต้นกำหนดการขอเปิดสมัยประชุมวิสามัญเพื่อลงมติร่างรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 ในวันพุธที่ 17 - วันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม 2564พร้อมกับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ในวาระที่ 2-3 ด้วย" นายชวน ระบุ.