ทอท.เมิน ปปช.ลุย 'สุวรรณภูมิ' ดัน 3 โปรเจคขยายเทอร์มินอล 6 หมื่นล้าน

 ทอท.เมิน ปปช.ลุย 'สุวรรณภูมิ' ดัน 3 โปรเจคขยายเทอร์มินอล 6 หมื่นล้าน

"คมนาคม" เข็น ทอท.ลงทุน 3 โครงการสุวรรณภูมิ อัดงบ 6 หมื่นล้าน พร้อมรับฟังทุกความเห็น ชี้ต้องประเมินความเป็นจริง เหตุปริมาณผู้โดยสารล้น วิถีใหม่ต้องเว้นระยะห่าง ด้าน ทอท.เดินหน้าขอความเห็นไอเคโอ - ไออาต้า คาดเสนอแผนเข้า ครม.ภายใน มี.ค.นี

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจ ถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ส่งข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีศึกษาโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 การก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ (North Expansion) ไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) โดยระบุว่า กระทรวงฯ ยังไม่ทราบข้อเสนอของ ป.ป.ช.แต่มีความพร้อมที่จะชี้แจง

ทั้งนี้ ยืนยันว่าขณะนี้เดินหน้า 3 โครงการลงทุน วงเงิน 6 หมื่นล้านบาท ของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เพื่อเพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และกระตุ้นการลงทุนตามมติที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน

สำหรับแผนลงทุนดังกล่าว ประกอบด้วย

1.อาคารส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก (East Expansion) รองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนต่อปี งบ 7,830 ล้านบาท เพิ่มพื้นที่ 66,000 ตร.ม. 

2.อาคารส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันตก (West Expansion) รองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนต่อปี งบ 7,830 ล้านบาท เพิ่มพื้นที่ 66,000 ตร.ม. 

3.โครงการส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) รองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคนต่อปี และขยายได้ถึง 40 ล้านคนต่อปี งบ 41,260 ล้านบาทเพิ่มพื้นที่ 348,000 ตร.ม.

“ทราบความเห็น ป.ป.ช.ว่าต้องการให้กลับไปพัฒนาตามแผนเดิม แต่วันนี้ผมอยากให้มองปัญหาของสนามบินสุวรรณภูมิที่ผู้โดยสารเกินขีดความสามารถ และอนาคตต้องเว้นระยะห่างกันถ้าไม่พัฒนาจะทำให้เสียโอกาสรับนักท่องเที่ยว” นายศักดิ์สยาม กล่าว

ขณะนี้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีอาคารรองรับผู้โดยสารหลัก ขีดความสามารถรองรับผู้โดยสาร 45 ล้านคนต่อปี ขณะที่ผู้โดยสารก่อนโควิด -19 มี 60 ล้านคนต่อปี ทำให้เกิดความคับคั่งและปัจจุบันมีการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรอง (อาคารแซทเทิลไลท์) ที่จะเปิดปีหน้า รองรับเพิ่มอีก 15 ล้านคนต่อปี

ขณะที่ ทอท.กำลังพัฒนารันเวย์ 3 เพิ่มขีดความสามารถรับเที่ยวบินจาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 90 เที่ยวบินต่อชั่วโมง หรือรองรับผู้โดยสารได้ 90 ล้านคนต่อปี จาก 60 ล้านคนต่อปี ดังนั้นเมื่อขีดความสามารถเพิ่มขึ้น ทอท.ต้องสร้างอาคารรองรับเพิ่ม 

ทั้งนี้ กระทรวงฯ หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง และ ทอท. ซึ่ง สศช.เห็นว่าสุวรรณภูมิแออัดและจำเป็นมากในการพัฒนาอาคารผู้โดยสาร และเห็นด้วยกับการพัฒนา 3 โครงการพร้อมกัน แต่ขอให้ ทอท.ทบทวนแผนและขอความเห็นจากทางองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) ทำแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่ง ทอท.กำลังขอความเห็นเพื่อเสนอกระทรวงฯ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน มี.ค.นี้

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้แผนพัฒนาขีดความสามารถท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต้องลงทุนทั้ง 3 โครงการ เพราะต้องใช้เวลาก่อสร้างและหากจะสร้างเฉพาะส่วนต่อขยายทิศตะวันออกและทิศตะวันตกจะใช้เวลาจัดซื้อจัดจ้าง 6 เดือน แต่เวลาก่อสร้างนาน 29 เดือน หรือราว 2 ปีครึ่ง ซึ่งนานกว่าการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือที่ใช้เวลาก่อสร้าง 25 เดือนหรือ 2 ปี

ทั้งนี้ เพราะส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเป็นส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับอาคารหลัก ดังนั้นต้องใช้เวลาปรับปรุง 4 เดือน และอาจทำให้การใช้บริการอาคารหลักมีปัญหาติดขัด ดังนั้นแนวทางที่จะพัฒนาให้เร็วและสอดคล้องกับจำวนวผู้โดยสารที่จะปกติในปี 2565 จึงต้องเร่งสร้างอาคารด้านทิศเหนือให้ทันการใช้งาน

“อยากให้ดูสถานการณ์ปัจจุบัน แผนที่พูดกันว่าให้ดำเนินการ อาจเป็นแผนที่นานมาแล้ว หลายปีแล้ว วันนี้เราจำเป็นต้องปรับปรุงให้สอดคล้องสิ่งที่เกิดขึ้น สุวรรณภูมิจะรองรับผู้โดยสารได้ถึง 90 ล้านคนเมี่อรันเวย์ 3 เสร็จในปี 2568 หากขยายเฉพาะอาคารทิศตะวันออกและทิศตะวันตก จะเพิ่มขีดความสามารถได้ 90 ล้านคนพอดี แต่อาคารด้านทิศเหนือ รองรับเพิ่มอีก 30 ล้านคน จะขยายไปถึง 120 ล้านคน ซึ่งเพียงพอ”

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. เผยว่า ทอท.ยังไม่ได้รับหนังสือจากทาง สลค.แต่ ทอท.รับมติจากประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้ดำเนินการพัฒนา 3 โครงการ ดังนั้น ทอท.จะเดินหน้าตามมติคณะกรรมการฯ

“ทอท.มีหน้าที่ให้ข้อมูลและชี้แจงข้อเท็จจริงตามความต้องการของผู้ตัดสินใจ ซึ่งกำหนดให้จ้างต่างชาติทบทวนผลการศึกษาเพื่อประกอบการตัดสินใจ เชื่อว่าผู้มีอำนาจตัดสินใจต้องดูเหตุผลประกอบ แต่ถ้า สลค.มีสั่งการอะไรมากับหนังสือ ป.ป.ช.เราก็ดำเนินการตามสั่งการ”

ทั้งนี้ ทอท.พร้อมลงทุนตามแผนเพิ่มขีดความสามารถ โดยมีกระแสเงินสด 3.2 หมื่นล้านบาท ดังนั้นปี 2564 ไม่จำเป็นต้องกู้เงิน อีกทั้งโครงการลงทุนมีอัตราผลตอบแทน (IRR) คุ้มค่าการลงทุน จึงยืนยันว่าหาก ทอท.จะกู้เงินจะเป็นการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องเท่านั้น แต่การลงทุนไม่ต้องใช้เงินทั้งหมด และไม่ได้เป็นการลงทุนที่ต้องจ่ายในครั้งเดียว ดังนั้นขอยืนยันว่า ทอท.มีฐานะทางการเงินที่แข็งแรงในปี 2565-2566 จะกู้เงินหรือไม่นั้นต้องขอประเมินสถานการณ์อีกครั้ง