‘เสื้อผ้า’ ซ่อนความหมายในความสวยวันสาบานตน
เจาะความหมายจาก “เสื้อผ้า” ประธานาธิบดีสหรัฐ "โจ ไบเดน" และสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง "จิลล์ ไบเดน" ในวันทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง และสาระทางการเมืองและวัฒนธรรมชุมชนในอเมริกาที่ส่งผ่านชุด “สีม่วง” ของ "กมลา แฮร์ริส"
นอกจากให้การยกย่องและสนับสนุนธุรกิจแฟชั่นอเมริกัน ยังมี สัญลักษณ์ทางการเมืองและศิลปวัฒนธรรรม อยู่ใน ‘เครื่องแต่งกาย’ ที่ ผู้ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา และ รองประธานาธิบดี เลือกสวมใส่ในวันทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อเที่ยงวันพุธที่ 20 มกราคม 2564
ในช่วงเวลาสำคัญที่สุดที่ชาวอเมริกันเฝ้าจับตามองและถ่ายทอดสดไปยังอีกหลายประเทศทั่วโลก โจ ไบเดน จับคู่ชุดสูทสีกรมท่าแบบวัดตัวสั่งตัดกับเทรนช์โค้ทสีเดียวกันจากนักออกแบบชาวอเมริกัน ราล์ฟ ลอเรน (Ralph Lauren) ให้ลุคที่ดูสง่างามเรียบง่าย เหมือนจะสื่อสารว่า นับแต่นี้แนวทางบริหารงานที่จะออกไปจาก ทำเนียบขาว กลับคืนสู่ภาวะปกติ และสนับสนุนชาวอเมริกันโดยไม่แบ่งเชื้อชาติ
ราล์ฟ ลอเรน เกิดและเติบโตในย่านบร็องซ์ของนิวยอร์ก พ่อแม่ของเขาเป็นชาวยิวที่อพยพมาจากประเทศเบลารุส ปัจจุบันอายุ 82 ปี
ในวันนั้น ว่าที่สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง จิลล์ ไบเดน สวมใส่เครื่องแต่งกายที่ตัดเย็บขึ้นจากห้องเสื้อใจกลางนิวยอร์ก ประกอบด้วยชุดกระโปรงสีฟ้าทะเลแอตแลนติก คอเสื้อประดับมุกและคริสตัล เสื้อโค้ทผ้าทอขนสัตว์ผสมสีเดียวกันตกแต่งปกเสื้อและข้อมือด้วยกำมะหยี่สีฟ้าเข้ม และหน้ากากอนามัยผ้าไหมสีฟ้า ผลงานของดีไซเนอร์รุ่นใหม่ชาวนิวยอร์ก อเล็กซานดรา โอ’นีล (Alexandra O’Neill) ผู้ก่อตั้งแบรนด์ลักชัวรี่วูแมนแวร์ของตัวเอง Markarian เมื่อไม่กี่ปีนี้เอง
อเล็กซานดรา โอ’นีล ก่อตั้งแบรนด์ Markarian เมื่อปีค.ศ.2017 เธอเป็นดีไซเนอร์ที่เน้นทำเสื้อผ้าให้มีเศษวัสดุเหลือทิ้งน้อยที่สุด
อเล็กซานดรา ให้สัมภาษณ์กับ ฮอลลีวูดรีพอร์ตเตอร์ ว่าเธอได้รับการติดต่อจากคณะทำงานของไบเดนเมื่อเดือนธันวาคม (2020) และปรึกษาหารือกันในสิ่งที่ ดร.จิลล์ ไบเดน กำลังมองหา รวมทั้งโทนสีที่เธออยากได้
จากการพูดคุย อเล็กซานดรา วาดภาพร่างแบบเสื้อด้วยเนื้อผ้าหลายประเภท แล้วค่อยๆ พัฒนาจากแบบที่ได้รับเลือก
“ฉันต้องการสร้างสรรค์ภาพที่ดูคลาสสิกสำหรับ ดร.ไบเดน และเลือกผ้าทอผสมขนสัตว์ โทนสีโอเชียนบลู ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเชื่อมั่น และ ความมั่นคง, สุดท้ายฉันตกแต่งบริเวณคอเสื้อด้วยการปักไข่มุกสวารอฟสกี้และคริสตัลเป็นลวดลายดอกไม้ ซึ่งจะส่องประกายนิดหน่อยเมื่อกระทบแสงไฟ” อเล็กซานดรา กล่าว
ในช่วงนาทีสำคัญที่กล้องโทรทัศน์และกล้องถ่ายรูปจับภาพ ผู้ได้รับเลือกเป็น รองประธานาธิบดี แห่งสหรัฐอเมริกา กมลา แฮร์ริส เลือกปรากฏตัวในชุดเครื่องแต่งกาย สีม่วง กับ สร้อยคอไข่มุก ผลงานการออกแบบของดีไซเนอร์ผิวสีรุ่นใหม่ที่กำลังมาแรง คริสโตเฟอร์ จอห์น รอเจอร์ส (Christopher John Rogers)
คริสโตเฟอร์ อายุ 27 ปี เป็นชาวลุยเซียนาที่ย้ายเข้ามาอยู่ในย่ายบรูกลินของนิวยอร์ก ได้รับการประกาศให้ได้รับรางวัลทางแฟชั่น American Emerging Designer of the Year จาก CFDA(Council of Fashion Designers of America) เมื่อปีที่ผ่านมา
ชุดสีม่วงของรองประธานาธิบดีกมลาเรียกความสนใจได้จริงๆ สำหรับคนอื่น สีม่วง ก็คือสีม่วง สวยโดดเด่นสะดุดตา แต่สำหรับ ‘ลอเรน รอธแมน’ ผู้ให้คำปรึกษาด้านแฟชั่นในวอชิงตัน เธอมองว่า รองประธานาธิบดีกมลา สื่อสาร สัญลักษณ์ หลายอย่างไว้ในชุดสีม่วงนี้
‘สีม่วง’ คือการรวมสองสีเข้าด้วยกัน คือ สีแดง และ สีฟ้า, ในเชิงสัญลักษณ์ สีแดง คือสีประจำพรรครีพับลิกัน ขณะที่สีฟ้าคือสีประจำพรรคเดโมแครต
การที่ กมลา แฮร์ริส เลือกสวมใส่เครื่องแต่งกายสีม่วง ก็น่าจะเป็นนัยที่เธอต้องการบอกเกี่ยวกับการทำงานของเธอ ว่านับแต่นี้พรรครีพับลิกันและเดโมแครตจะมีการทำงานที่ประสานกันเพื่อความรวมเป็นหนึ่งของสหรัฐอเมริกานั่นเอง
‘สีม่วง’ คือการรวมสองสีเข้าด้วยกัน คือ สีแดง และ สีฟ้า, ในเชิงสัญลักษณ์ สีแดง คือสีประจำพรรครีพับลิกัน ขณะที่สีฟ้าคือสีประจำพรรคเดโมแครต
มากไปกว่านั้น ‘สีม่วง’ ยังเป็นสีสัญลักษณ์ของกลุ่มสตรีอเมริกันในงานการเมืองในประวัติศาสตร์ อาทิ กลุ่มสตรีที่สนับสนุนเพศของตัวให้มีสิทธิออกเสียง ก็นิยมใช้สีนี้ในแคมเปญรณรงค์ให้สตรีมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งช่วงปี 1900
ศาสตราจารย์ เอลกา สตีเวนส์ (Elka Stevens) ผู้ประสานงานโครงการออกแบบแฟชั่นที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ‘สีม่วง’ ยังแสดงความหมายและเป็นสีสำคัญของ ‘ชุมชนคนผิวสี’ โดยเฉพาะ สร้อยคอไข่มุก ยังเป็นเครื่องประดับตามธรรมเนียมนิยมที่อ้างอิงถึง Alpha Kappa Alpha Sorority สมาคมหญิงผิวสีที่เก่าแก่ที่สุดในอเมริกา
ขณะที่สามีของ กมลา แฮร์ริส, สุภาพบุรุษหมายเลขสองของสหรัฐอเมริกา ดั๊ก เอ็มฮัฟฟ์ ก็ดูสมบูรณ์แบบในชุดสูทของ ราล์ฟ ลอเรน ไม่มีที่ติ.