“อาชีวศึกษา”กับการปรับตัว  เพื่อรับเป้าการพัฒนา EEC

โลกในยุคปัจจุบันหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านไปอย่างรวดเร็วจนมาถึงจุดที่เราเห็นอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น เช่น นักพัฒนาเกม (Game developer) ที่พัฒนาเกมใหม่ๆ ออกมาให้คนได้เล่นกัน

โลกในยุคปัจจุบันหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านไปอย่างรวดเร็วจนมาถึงจุดที่เราเห็นอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น เช่น นักพัฒนาเกม (Game developer) ที่พัฒนาเกมใหม่ๆ ออกมาให้คนได้เล่นกัน นักสร้างเนื้อหา (Content creator) ที่ผลิตเนื้อหาการสื่อสารสังคมรูปแบบใหม่ ศิลปินด้านข้อมูล (Data artist) ที่นำเสนอข้อมูลที่ซับซ้อนให้อยู่ในรูปที่เข้าใจง่าย 

อาชีพเหล่านี้ล้วนน่าสนใจ สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานที่บูรณาการข้ามศาสตร์ คือไม่ได้เป็นการเตรียมคนด้วยศาสตร์ใดศาสตร์หนี่งเพียงศาสตร์เดียว และต้องอาศัยการเตรียมคนรองรับที่แตกต่างไปจากเดิม การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและบูรณาการผสานเชื่อมโยงกันระหว่างศาสตร์พื้นฐาน

จากการดำเนินงานที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่า อีอีซี มีการตอบสนองรองรับความต้องการแรงงานที่แตกต่างออกไปนี้ อย่างเช่น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กำหนดเป้าหมายดึงดูดการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในปี 2564 เน้น 3 ด้านใหญ่ ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของโลกในในปัจจุบันและอนาคตที่ต้องการสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยที่ดี คือ บีซีจี (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) เน้นธุรกิจสุขภาพ ดิจิทัล และโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเหล่านี้ไทยค่อนข้างมีศักยภาพโดดเด่น หากดำเนินการได้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ก็จะเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก

หน่วยงานทางการศึกษา โดยเฉพาะอาชีวศึกษาเองก็เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและแรงผลักดันดังกล่าวเช่นเดียวกัน ปัจจุบันอาชีวศึกษาค่อนข้างได้รับความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในฐานะการศึกษาสายอาชีพ ที่มีจุดเน้นในการผลิตบุคลากรที่มีทักษะเชิงวิชาชีพ สำหรับประกอบการในภาคอุตสาหกรรมและบริการ พูดง่าย ๆ คือพอเรียนจบไปก็ทำงานได้เลย

อาชีวศึกษาใน อีอีซี เองต้องปรับตัวพอสมควรในการตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาและการเติบโดของ อีอีซีจุดสำคัญคือการผลิตคนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานของ อีอีซี เพราะเป็นหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่อยู่แล้ว การผลิตคนให้สอดคล้องกับความต้องการนี้จำเป็นต้องดำเนินการหลายอย่าง รวมทั้งการปรับหลักสูตรการศึกษา ซึ่งต้องดำเนินการหลายอย่าง อาทิ

การสำรวจความต้องการของผู้ใช้ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม บริษัทห้างร้าน ว่าอยากได้แรงงานที่มีทักษะอย่างไร ทั้งทักษะทั่วไปและทักษะเฉพาะงาน ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

การพิจารณาคุณภาพของแรงงานที่ผลิตออกไปว่าตอบสนองความต้องการนั้นได้ดีมากน้อยเพียงใด มีทักษะใดที่ยังขาดอยู่

การย้อนกลับมาพิจารณาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนในปัจจุบันว่ามีรายวิชาและกระบวนการอย่างไร ต้องปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมตรงไหน ถึงจะสามารถผลิตแรงงานออกไปให้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้มากขึ้น

ในเชิงการบริหารจัดการจำเป็นต้องพิจารณาด้วยว่าจะมีระบบกลไกการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างไร ต้องทำงานร่วมกันอย่างไรระหว่างหุ้นส่วนต่าง ๆ ทั้งจากผู้ใช้ ผู้เรียน และสถาบันการศึกษา เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงนั้นสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี การติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบและปรับปรุงพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ

ผมมีโอกาสทำงานร่วมกับสถาบันอาชีวศึกษาในขต อีอีซี และเห็นการริเริ่มดำเนินงานและทำอย่างต่อเนื่องในการปรับหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน ทั้งจากผู้บริหารและอาจารย์ผู้สอน ที่พยายามผลิตนักศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของ อีอีซี และมีสัญญาณที่ดีที่หลักสูตรจะออกมามีคุณภาพน่าสนใจ ส่วนผลผลิตจากหลักสูตรจะเป็นอย่างไรนั้นคงต้องรอดูต่อไป