'บลิงเคน' ยกหูคุย 'ดอน' หลังไทยส่งสารยินดี รมว.ต่างประเทศสหรัฐคนใหม่

'บลิงเคน' ยกหูคุย 'ดอน' หลังไทยส่งสารยินดี รมว.ต่างประเทศสหรัฐคนใหม่

"แอนโทนี บลิงเคน" รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐคนใหม่ โทรศัพท์หารือ "ดอน ปรมัตถ์วินัย" ตอกย้ำความร่วมมือมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก และปูทางให้ผู้นำไทย - สหรัฐ ได้หารือกันภายในปีนี้

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ได้โทรศัพท์หารือกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หลังจากที่นายบลิงเคนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ซึ่งไทยในฐานะที่เป็นคู่ภาคีสนธิสัญญาที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐในภูมิภาคเอเชีย ทางไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับนายบลิงเคนและสหรัฐ ในการเสริมสร้างเสถียรภาพ สันติภาพ และความรุ่งเรืองในประชาคมระหว่างประเทศ 

ความเป็นหุ้นส่วนถือเป็นเสาหลักของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐมานานกว่าศตวรรษ เชื่อมั่นว่าความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศจะแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น” ดอนกล่าวกับบลิงเคนในวันนี้

นอกจากนี้ นายดอนได้เชิญนายบลิงเคนเดินทางเยือนประเทศไทยในโอกาสที่จะเดินทางเยือนภูมิภาคต่อไป เพื่อตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นที่มีร่วมกันต่อ “มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก” (ASEAN Outlook on Indo-Pacific: AOIP) ซึ่งไทยมีส่วนร่วมจัดทำขึ้น พร้อมกันนี้ ยังเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้หารือกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ภายในปีนี้ ในฐานะมหามิตร (great and good friends)

มีรายงานว่า นายบลิงเคนได้โทรศัพท์มาถึงนายดอนเมื่อเช้าวันนี้ ตามเวลาไทย หลังจากที่นายดอนได้ส่งสารแสดงความยินนายบลิงเคน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐคนใหม่ อย่างเป็นทางการในวานนี้ 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการหารือเสร็จสิ้น ทั้งคู่ได้ทวีตข้อความแสดงความยินดีต่อผลการหารือทางโทรศัพท์ระหว่างกันบนทวิตเตอร์ของแต่ละฝ่ายด้วย

161181266076

161181269843

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นการหารือทางโทรศัพท์ระหว่างนายบลิงเคนกับนายดอน มีดังนี้

1. การรับมือกับการแพร่ระบาดและการฟื้นฟูหลังโควิด-19 โดยไทยจะเน้นเรื่องดังกล่าวในเวทีพหุภาคีของภูมิภาค รวมทั้งผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) มีความสอดคล้องกับนโยบายภายใต้รัฐบาลโจ ไบเดน

2. เรื่องความมั่นคงไซเบอร์ ซึ่งทางสหรัฐ พอใจกับความร่วมมือที่ผ่านมา

3.)ประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชน ได้แก่ การต่อต้านการค้ามนุษย์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและผู้พลัดถิ่น