'ไบเดน' ลงนามนโยบายแก้ปัญหาภูมิอากาศ ท่ามกลางเสียงคัดค้าน

'ไบเดน' ลงนามนโยบายแก้ปัญหาภูมิอากาศ ท่ามกลางเสียงคัดค้าน

"โจ ไบเดน" ลงนามนโยบายแก้ปัญหาภูมิอากาศ เดินหน้าจัดการวิกฤติสภาพภูมิอากาศในสหรัฐ ท่ามกลางเสียงคัดค้านกลุ่ม Big Oil ชี้ทำคนตกงาน และสูญรายได้หลายพันล้านดอลลาร์

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ได้ลงนามในคำสั่งบริหารเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการระงับสัมปทานน้ำมันและก๊าซบนพื้นที่ของรัฐบาลกลาง และปรับลดเงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันนโยบายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและกระตุ้นการจ้างงานใหม่

คำสั่งดังกล่าวถือเป็นการกำหนดทิศทางใหม่สำหรับนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของ ปธน.ไบเดน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ อดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ มีความพยายามที่จะเพิ่มผลผลิตน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน ด้วยการยกเลิกกฎระเบียบและผ่อนคลายการทบทวนด้านสิ่งแวดล้อม

"ในมุมมองของผม เรารอกันมานานเกินไปแล้วที่จะจัดการกับวิกฤติด้านสภาพภูมิอากาศ" ปธน.ไบเดนแถลงที่ทำเนียบขาว พร้อมกับกล่าวถึงภัยคุกคามที่ประเทศต้องเผชิญจากเหตุการณ์พายุ ไฟป่า น้ำท่วม และความแห้งแล้ง ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ รวมถึงมลภาวะจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเขาระบุว่านี่ถึงเวลาที่ต้องจัดการกับเรื่องพวกนี้แล้ว"

ปธน.ไบเดนเผยว่า การดำเนินการนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ความกังวลในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถูกบรรจุอยู่ในนโยบายด้านความมั่นคงแห่งชาติและนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ ตลอดจนการวางนโยบายภายในประเทศด้านต่าง ๆ ซึ่งเขาระบุว่า การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยและตระหนักถึงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพลังงานสีเขียวนั้น จะช่วยสร้างงานที่มีรายได้ดีให้กับชาวอเมริกันหลายล้านคน

“นี่เป็นเรื่องของความรู้สึกผิดชอบชั่วดี การรับมือกับภัยคุกคามที่กำลังเกิดขึ้นกับโลกใบนี้และการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจสำหรับเรานั้นเป็นเรื่องเดียวกัน เมื่อผมคิดถึงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คำตอบที่มีของผมต่อเรื่องนี้ก็คือ เรื่องของการจ้างงาน” ปธน.ไบเดนกล่าว โดยขณะนี้เขากำลังเผชิญกับแรงกดดันจากสมาชิกฝั่งเสรีนิยมในพรรคเดโมแครตเรื่องการดำเนินนโยบายเชิงรุกต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

อย่างไรก็ตาม แม้มาตรการของปธน.ไบเดนในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรและผู้สนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมจากนานาประเทศ แต่ก็ยังคงถูกคัดค้านจากกลุ่ม Big Oil ซึ่งออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า มาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้สหรัฐต้องสูญเสียงานหลายล้านตำแหน่งและรายได้หลายพันล้านดอลลาร์ ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19