ธปท.ห่วงแรงงาน ภาคบริการเปราะบาง พิษโควิด-19 กระทบซ้ำ

ธปท.ห่วงแรงงาน ภาคบริการเปราะบาง พิษโควิด-19 กระทบซ้ำ

ธปท.แนะจับตา 3ปัจจัยใกล้ชิด ชี้ตลาดแรงงานยังเปราะบาง โดยเฉพาะภาคบริภาค จากโควิด-19 กระทบซ้ำ ส่วนภาพเศรฐษกิจธ.ค. และไตรมาส4 แม้ฟื้นตัวแต่ยังไม่ทั่วถึง

     นางสาวพรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวย ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากผลกระทบของไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ หรือโควิด-19 รอบใหม่ ที่เกิดขึ้นในช่วงกลางธ.ค. นั้นยอมรับว่ามีผลกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจบางส่วนตั้งแต่ธ.ค. ที่ผ่านมา และคาดว่าจะต่อเนื่องไปถึงไตรมาสแรกปีนี้ด้วย

    ดังนั้นมี 3 ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ด้านแรกคือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่าจะลากยาว และการแพร่ระบาดจะมีต่อเนื่องมากน้อยแค่ไหน ผลกระทบวงกว้างมากน้อยแค่ไหน
    ขณะที่ด้านที่สอง คือตลาดแรงงาน แม้จะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีความเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มบริการ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รอบใหม่ ทำให้ภาคนบริการได้รับผลกระทบมากที่สุดในรอบนี้

     โดยหากดูอัตราการว่างงาน จากจำนวนผู้รับสิทธิการว่างงานของผู้ประกันต้น พบว่า เดือนธ.ค.อยู่ที่ 5.9 แสนคน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 7.8 แสนคน ขณะที่จำนวนผู้ขอรับสิทธิว่างงาน อยู่ที่ 3.9 แสนคน จาก4.7 ล้านแสนคน ในเดือนก่อนหน้า
     ส่วนผู้เสมือนว่างงานต่อรายสาขาธุรกิจ พบว่า จำนวนผู้ว่างงานอยู่ที่ 2.4 ล้านคน จาก 2.2 ล้านคน ในเดือนก่อนหน้า โดยแบ่งเป็นภาคเกษตรที่ 0.8 ล้านคน จาก 0.9ล้านคนในเดือนก่อนหน้า ขณะที่นอกภาคนเกษตร เพิ่มมาอยู่ที่ 1.6ล้านคน จาก 1.3 ล้านคน สุดท้ายคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ต้องติดตาม

    สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทย เดือนธ.ค. 2563 ยังทยอยฟื้นตัวได้ แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง และเริ่มเห็นผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในช่วงปลายเดือนต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางภาคส่วน
โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนแม้ยังขยายตัว แต่การระบาดระลอกใหม่เริ่มส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการเดินทางและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

     ด้านการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัวได้ตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ดีขึ้น เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวสูงขึ้น ด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์
     สำหรับ การใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวตามรายจ่ายลงทุน อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน
     ด้านตลาดแรงงาน อัตราการว่างงานปรับลดลงเล็กน้อยตามจำนวนผู้มีงานทำที่เพิ่มขึ้น แต่รายได้นอก
ภาคเกษตรปรับลดลง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลงจากดุลการค้าที่เกินดุลมากขึ้น ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลใกล้กับเดือนก่อน
     ขณะที่ เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนที่ยอดขายยานยนต์ปรับดีขึ้น ประกอบกับผลของฐานที่ต่ำ

     อย่างไรก็ดี หลังขจัดปัจจัยฤดูกาล  เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับลดลงจากเดือนก่อนตามการใช้จ่ายในหมวดบริการจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในช่วงปลายเดือน ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการเดินทางและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ใช้มาตรการควบคุมการระบาดเข้มงวด

     มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 4.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยขยายตัวได้เป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน โดยปรับดีขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัว ประกอบกับการฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกส่งผลให้การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทย
ขยายตัวดี
     สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาหดตัวตามการผลิตน้ำตาลเป็นสำคัญ ขณะที่การผลิตหมวดยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนและแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ยังขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับความต้องการสินค้ากลุ่มดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ
      เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูงขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน จากการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเฉพาะยอดจดทะเบียนรถยนต์และการนำเข้าสินค้าทุน สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ดี การลงทุนหมวดก่อสร้างยังหดตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน
      การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายลงทุนยังขยายตัวสูงตามการเบิกจ่ายของรัฐบาลกลาง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อนที่การประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ล่าช้า

      ขณะที่การเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวต่อเนื่อง สำหรับรายจ่ายประจำหดตัวเล็กน้อยตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ
     มูลค่าการนำเข้าสินค้าทรงตัวใกล้เคียงกับระยะเดียวกันปีก่อน จากที่หดตัวร้อยละ 3.3 ใน
เดือนก่อนหน้า ตามการนำเข้าที่กลับมาขยายตัวในหลายหมวดสินค้าสำคัญ ทั้งหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยปรับดีขึ้น
      จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่ แม้ในเดือนนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของภาครัฐเพิ่มเติมในบางมิติ แต่โดยรวมยังมีจำนวนไม่มาก
      ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน

      ด้านตลาดแรงงาน อัตราการว่างงานปรับลดลงเล็กน้อยตามจำนวนผู้มีงานทำที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี แม้อัตราการว่างงานและสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานในระบบประกันสังคมปรับลดลงบ้าง

     แต่ยังอยู่ในระดับสูง สะท้อนความเปราะบางในตลาดแรงงาน สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลงจากการเกินดุลการค้าเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลใกล้กับเดือนก่อน

    ส่วน เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัวได้ตามกำลังซื้อที่ทยอยฟื้นตัวในภาพรวมและแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ ประกอบกับมีปัจจัยชั่วคราวจากวันหยุดยาวพิเศษ ทั้งนี้ แม้การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมปรับดีขึ้น
     แต่กำลังซื้อของภาคครัวเรือนยังเปราะบางและมีความแตกต่างกันตามกลุ่มรายได้และพื้นที่ สำหรับการส่งออกสินค้าหดตัวน้อยลงตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า

     ด้านเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวสอดคล้องกับอุปสงค์และความเชื่อมั่นของธุรกิจที่ดีขึ้น อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ฟื้นตัวส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงสอดคล้องกัน
     ขณะเดียวกันการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวตามรายจ่ายลงทุน ส่วนหนึ่งจากผลของฐานต่ำในปีก่อนจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ล่าช้า อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามอัตราเงินเงินเฟ้อและราคาพลังงานที่สูงขึ้น
      ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลง ด้านตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังคงเปราะบางและไม่ทั่วถึง ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากที่เกินดุลในไตรมาสก่อน ตามดุลการค้าที่เกินดุลลดลงจากการนำเข้าทองคำ