'อองซานซูจี' เปิดเส้นทางชีวิต และการเมืองที่ไม่มีอะไรง่ายใน 'เมียนมา'
เปิดประวัติ "ออง ซาน ซูจี" และเส้นทางการเมืองในการเรียกร้องประชาธิปไตยในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ตลอดอายุ 75 ปี
- จากพ่อสู่ลูก DNA แห่งประชาธิปไตย
อองซาน ซูจี เกิดเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2488 ในนครย่างกุ้ง ปัจจุบันอายุ 75 ปี ซูจีเป็นบุตรสาวคนเล็กในทั้งหมด 3 คนของ นายพลอองซาน วีรบุรุษเอกราชของเมียนมาซึ่งถูกลอบสังหารขณะซูจีอายุเพียง 2 ขวบ ทำให้เธอและพี่น้องถูกเลี้ยงโดยมารดา ดอว์ขิ่นจี
ในปี พ.ศ. 2503 ดอว์ขิ่นจี มารดาของซูจีในขณะนั้นดำรงตำแหน่งทูตพม่าประจำประเทศอินเดีย ส่งผลให้ซูจีและพี่ชายคนโต (พี่ชายคนรองเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุจมน้ำ) ต้องย้ายตามแม่ไปอาศัยที่อินเดียเช่นกัน
ดังนั้น ชีวิตช่วงแรกของ อองซาน ซูจี จึงอาศัยและรับการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมและวิทยาลัยสตรีศรีรามในนิวเดลี ประเทศอินเดีย
หลังจากนั้นช่วงปี 2507-2510 ซูจีเข้ารับการศึกษาปริญญาตรี สาขาการเมือง และเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในสหราชอาณาจักร ระหว่างนั้น ซูจีพบรักกับ ไมเคิล อริส นักศึกษาวิชาอารยธรรมทิเบต และแม่ของซูจีหมดวาระตำแหน่ง และย้ายกลับย่างกุ้ง
ช่วงปี 2511 ภายหลังจบการศึกษา ซูจีเดินทางไปมหานครนิวยอร์กของสหรัฐ เพื่อเข้าทำงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการประจำคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการบริหารและงบประมาณของสำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติ เป็นเวลา 3 ปี
ปี 2515 ซูจีแต่งงานกับไมเคิล อริส และย้ายไปอยู่กับสามีที่ราชอาณาจักรภูฏาน ซูจีเริ่มเขียนงานชีวประวัติบิดาผ่านความทรงจำในปี 2520 หลังย้ายไปอยู่กรุงลอนดอนของอังกฤษ
ปี 2528-2529 ซูจีแยกกับสามีพาบุตรชายคนเล็กไปญี่ปุ่น เนื่องจากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ได้ติดต่อมาเพื่อขอทำวิจัยกี่ยวกับบทบาทบิดาของเธอ กระทั่งปี 2530 หลังกลับมาอยู่ลอนดอน ซูจีเริ่มสนใจเกี่ยวกับวรรณคดีพม่า
ในปี 2531 ซูจีกลับสู่บ้านเกิดไปเยี่ยมมารดา ณ กรุงย่างกุ้ง ในขณะนั้น เมียนมาอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมืองครั้งใหญ่
- ก้าวแรกสู่นักเรียกร้องแห่งเมียนมา
ในปี 2531 ซูจีกลับสู่บ้านเกิดไปเยี่ยมมารดา ณ กรุงย่างกุ้ง ในขณะนั้นเมียนมาอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมืองครั้งใหญ่ ประชาชนจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษา พนักงาน นักเรียน และพระสงฆ์มีการเดินขบวนเรียกร้องการปฏิรูปประชาธิปไตย ชุมนุมเคลื่อนไหว กดดันให้นายพลเนวิน ที่ยึดอำนาจการปกครองมายาวนานถึง 26 ปี ต้องลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคสังคมนิยมพม่า (The Burma Socialist Programme Party-BSPP)
วันที่ 8 ส.ค. 2531 เกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมของประชาชน ส่งผลให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก หรือที่รู้จักใน "เหตุการณ์วันที่ 8 เดือน 8 ปี 88 (ค.ศ. 1988)" ความรุนแรงของเหตุการณ์นี้ส่งผลให้ในสัปดาห์ต่อมา ซูจีตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเป็นครั้งแรก โดยส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อเตรียมจัดการเลือกตั้งทั่วไป
หลังจากนั้น ซูจีก็เป็นหนึ่งในแกนนำหลักของการเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมา และจัดตั้งพรรคสันติบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) พร้อมดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคในเวลาต่อมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- เปิดไทม์ไลน์ 'รัฐประหารเมียนมา'
- ทำไม ‘รัฐประหารเมียนมา’ อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ?
- อิสรภาพที่ถูกกักขัง
การเกิดขึ้นของพรรค NLD ทำให้ ซูจี กลายเป็นที่จับตามองทั้งจากฝั่งประชาชน และฝั่งรัฐบาลทหาร และในที่สุด วันที่ 20 ก.ค. 2532 รัฐบาลทหารเมียนมาใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกสั่งกักบริเวณซูจีให้อยู่แต่ในบ้านพักเป็นครั้งแรกเป็นเวลา 3 ปี โดยไม่มีการตั้งข้อหาและได้จับกุมสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีจำนวนมาก
ในเดือน พ.ค. 2533 ขณะที่ซูจีถูกกักบริเวณ รัฐบาลทหารมีการจัดการเลือกตั้งระดับประเทศขึ้น ซึ่งพรรค NLD ได้รับคะแนนอย่างล้นหลาม แต่รัฐบาลทหารปฏิเสธที่จะถ่ายโอนอำนาจให้แก่ผู้ชนะการเลือกตั้ง ทว่าได้ยื่นข้อเสนอให้ ซูจียุติบทบาททางการเมืองด้วยการเดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปใช้ชีวิตกับครอบครัวที่อังกฤษ
อย่างไรก็ตาม เธอปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว รัฐบาลทหารจึงมีคำสั่งยืดเวลาการกักบริเวณซูจี จาก 3 ปี เป็น 5 ปี และเพิ่มเป็น 6 ปีในเวลาต่อมา
ซูจี ถูกกักบริเวณนานถึง 6 ปี จนถึง 2540 โดยยังมีเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ถึงอย่างนั้น ซูจียังคงเดินทางพบปะประชาชนและสมาชิกพรรค ทำให้เธอถูกกักบริเวณอีกครั้งในปี เดือน ก.ย. 2543 และถูกปล่อยตัวอีกครั้งในเดือน พ.ค. 2545 แต่เพียง 1 ปีต่อมาเธอก็ถูกจำคุกหลังอีกครั้ง จากการปะทะกันระหว่างผู้สนับสนุนซูจีกับกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานว่า การถูกกักขังบริเวณของซูจีในช่วงแรกจะเป็นการขังเดี่ยว และไม่ให้พบปะผู้คนแม้กระทั่งครอบครัวของตนเอง
- การกลับมาอีกครั้งของ "อองซาน ซูจี"
แม้เส้นทางการเมืองของซูจีจะโรยไปด้วยกรวดหนาม อย่างไรก็ตาม พรรค NLD ของเธอมักจะชนะการเลือกตั้งเหนือพรรคของรัฐบาลทหาร
หลังได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสรภาพ ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2555 พรรคNLD ได้เก้าอี้ในสภาผู้แทนในตำแหน่งที่ว่าง มากถึง 43 จาก 45 ที่นั่ง
ต่อมาปี 2557 ซูจีถูกจัดอันดับเป็นสตรีที่ทรงอำนาจอันดับที่ 61 โดยนิตยสารฟอร์บส ขณะที่การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2558 หลังรัฐบาลทหารยอมแก้รัฐธรรมนูญบางประการ
พรรค NLD ชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย คะแนนเสียงสูงถึง 86% ซูจีในฐานะประธานพรรคยังติดปัญญาข้อห้ามของรัฐธรรมนูญ ทำให้ไม่สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ จึงเป็นที่ปรึกษาให้แก่รัฐบาลในบทบาทผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำทำเนียบประธานาธิบดี และซูจีกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ประชาธิปไตยเมียนมา
- วิกฤติ "โรฮิงญา" บททดสอบซูจี
ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ซูจีทำงานในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำทำเนียบประธานาธิบดี แต่บททดสอบการเป็นผู้นำของเธอ คือการถูกจับตามองในเรื่องการปฏิบัติต่อชาวมุสลิมโรฮิงญา ซึ่งนับเป็นชนกลุ่มน้อยของเมียนมา
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อชาวโรฮิงญาและการจัดการของรัฐบาลเมียนมา ส่งผลให้ซูจีถูกตั้งคำถามและถูกประฌามถึงประเด็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จนทำให้มีการยึดรางวัลด้านเสรีภาพของเธอจากองค์ต่าง ๆ ถึง 7 รางวัล
- วนลูปการเมืองเมียนมา
ล่าสุดวันที่ 1 ก.พ. 64 กองทัพเมียนมาทำรัฐประหารซ่อนรูป ด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี โฆษกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) แถลงว่า ซูจีและบรรดาแกนนำของพรรคหลายคน รวมทั้งประธานาธิบดี ถูกทหารจับกุมไปจากบ้านพักตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่
การยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของกองทัพเมียนมา มีชนวนเหตุมาจากการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ย. 2563 ที่พรรค NLD ภายใต้การนำของซูจีได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย โดยผู้สนับสนุนซูจีและพรรคเอ็นแอลดีฉลองชัยชนะหลังทราบผลการเลือกตั้ง
แต่พรรคยูเอสดีพีที่ได้รับการสนับสนุนของกองทัพ ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง พร้อมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่จัดการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ซึ่งสอดคล้องกับท่าทีของผู้นำกองทัพเมียนมาที่กล่าวหาว่าพรรครัฐบาลร่วมมือกับคณะกรรมการการเลือกตั้งทุจริตการเลือกตั้ง
แม้จนถึงขณะนี้ (1 ก.พ.) ยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ของซูจี แต่ก็นับได้ว่าตลอดอายุ 75 ปีของเธอนั้นเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย และเป็นวีรสตรีพม่าที่ทั้งโลกจดจำ
อ้างอิง:
edition.cnn.com , bbc.com , ndtv.com , time.com , theguardian.com