หัวเลี้ยวหัวต่อ 'ดาราเทวีฯ' IFEC ลุ้นไฟเขียวฟื้นฟูกิจการ
โรงแรมหรู 5 ดาว “ดาราเทวี เชียงใหม่” โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมล้านนาโบราณ ตั้งอยู่บนเนื้อที่กว่า 140 ไร่ใน อ.เมืองเชียงใหม่ มีจำนวนห้องพัก 123 ห้อง ได้กลายเป็นประเด็นร้อนแรงเรื่อยมา
ถูกจับตามองนับตั้งแต่เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2545 ก่อนจะเปิดให้บริการเมื่อปี 2547 ด้วยเงินลงทุนสูงถึง 3,000 ล้านบาท
กระทั่งมีการเปลี่ยนมือผู้เป็นเจ้าของ มาอยู่ในมือของบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC เมื่อเดือน ธ.ค.2558 โดย IFEC ได้ให้บริษัทย่อยเข้าซื้อหุ้นจากกลุ่มโรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ พร้อมหนี้ รวมมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านบาท
และเมื่อปลายเดือน พ.ย.2563 IFEC ได้ตัดสินใจปิดกิจการโรงแรมดาราเทวีฯถาวร หลังดำเนินธุรกิจมานานกว่า 18 ปี โดยทางโรงแรมฯได้มีหนังสือบอกเลิกจ้างพนักงานโรงแรมทุกคน ด้วยเหตุผลของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ไม่ได้สร้างความเสียหายให้เฉพาะโรงแรมดาราเทวีฯเท่านั้น แต่ยังทำให้โรงแรมทั่วประเทศต่างหืดจับ และกำลังดิ้นรนให้พ้นสภาวะตายหมู่!
ทวิช เตชะนาวากุล ประธานกรรมการ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC ซึ่งได้นำทีมคณะกรรมการ (บอร์ด) ชุดใหม่เข้ามาบริหารบริษัทฯเมื่อปี 2562 กล่าวบนเวทีแถลงข่าว “IFEC OUTLOOK 2021-2023” วานนี้ (2 ก.พ.) ว่า แม้ดาราเทวีฯจะเป็นโรงแรมที่มีเสน่ห์ แต่เมื่อมองย้อนในเชิงการลงทุน มองว่า “ไม่คุ้มทุน” ด้วยมูลค่าการซื้อที่สูงถึง 4,000 ล้านบาท แต่มีห้องพักที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรมเพียง 64 ห้อง ส่วนที่เหลืออีก 59 ห้องยังไม่ได้รับใบอนุญาตฯ ทำให้รายได้ที่จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายแก่พนักงานเกือบ 400 คน ก็ไม่คุ้มอยู่แล้ว
“ถ้าถามว่าบอร์ดชุดปัจจุบันมีความเห็นอย่างไร ก็ตอบได้ว่าถ้าเป็นเรา เราคงไม่พิจารณาซื้อโรงแรมนี้”
อย่างไรก็ดี โรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ ถือเป็นทรัพย์สินที่สำคัญของบริษัทฯ ซึ่งมีข่าวประกาศขายทอดตลาดทรัพย์สินโรงแรมดาราเทวีฯ โดยกรมบังคับคดีประกาศเริ่มราคาขายตั้งแต่ 2,116.23 ล้านบาท แต่จากการประเมินมูลค่าในสภาพปัจจุบัน โรงแรมดาราเทวีฯมีราคาประเมินโดยผู้ประเมินอิสระ 3,728.80 ล้านบาท
บริษัทฯได้คัดค้านการกำหนดราคาประเมินศาลนัดไต่สวนวันที่ 15 มี.ค.2564 และปรากฏว่าเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา มีเจ้าหนี้ไปร้องคัดค้านวิธีการขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าว ซึ่งทำให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้อง “งดการขายทรัพย์สิน” ในวันที่ 18 ก.พ.2564 รวมทั้งวันอื่นๆ ด้วยออกไปจนกว่าศาลจะมีคำสั่ง และมีกำหนดนัดไต่สวนเรื่องนี้ในวันที่ 5 ก.ค.2564
ทาง IFEC เองก็เชื่อว่ามูลค่าของโรงแรมดาราเทวีฯนั้น “มากกว่า” ราคาขายที่กรมบังคับคดีประกาศ หรืออย่างน้อยก็ควรมีมูลค่าเท่ากับราคาประเมินโดยผู้ประเมินอิสระตามตัวเลขข้างต้น!
“ความจริงมีนักลงทุนติดต่อเจรจาขอซื้อโรงแรมดาราเทวีฯมานานพอสมควรแล้ว ตั้งแต่เมื่อกลางเดือน ต.ค.2562 ทั้งที่ขณะนั้นอุตสาหกรรมโรงแรมก็ไม่ดีนัก แต่ด้วยชื่อเสียงของโรงแรมดาราเทวีฯขึ้นชื่อเรื่องเอกลักษณ์ มีเสน่ห์มนต์ขลัง ทำให้ในช่วงที่ผ่านมามีทุนต่างชาติหลายรายเข้ามาติดต่อ ทั้งทุนจีน ตะวันออกกลาง มาเลเซีย สิงคโปร์ รวมถึงทุนไทย โดยล่าสุดมีตัวแทนการขายอสังหาริมทรัพย์ระดับโลกเข้ามาติดต่อเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่ผมเองได้เรียนไปว่าถึงแม้จะมีการประกาศขายทอดตลาดโรงแรมดาราเทวีฯ แต่ยังมีความไม่แน่นอนจากเรื่องการคัดค้านของกลุ่มเจ้าหนี้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และน่าจะมีการยกเลิกการขายทอดตลาดครั้งนี้ออกไปก่อน”
อย่างไรก็ตาม ยังยืนยันว่าช้าหรือเร็วก็จะมีการขายโรงแรมดาราเทวีฯแก่กลุ่มทุนที่สนใจ และการที่ชะลอการขายออกไปก็จะเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะทางเจ้าหนี้ เพราะจากสถานการณ์โควิด-19 ภาคธุรกิจโรงแรมก็ไม่ดี หากขาย ก็ต้องขายในราคาที่ถูก เจ้าหนี้ก็จะได้รับการชำระหนี้ที่น้อยลง
ทวิช เล่าเพิ่มเติมว่า จะพลิกฟื้นบริษัทฯให้กลับมาทำธุรกิจ และมุ่งสู่การฟื้นฟูกิจการ โดยในวันที่ 15 ก.พ.2564 ศาลล้มละลายกลางในคดีหมายเลขดำที่ ฟ. 14/2561 และเป็นคดีหมายเลขแดงที่ ฟ. 25/2561 จะมีคำสั่งว่า “จะให้ฟื้นฟูกิจการหรือไม่” ดังนั้นบริษัทฯพร้อมน้อมรับคำสั่งของศาลล้มละลายกลางทุกประการ
และหากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว บอร์ดบริษัทฯยืนยันว่า จะเร่งรัดการจัดทำแผน รวมทั้งเสนอแผนให้เจ้าหนี้ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ และกำหนดวันที่ 1 ก.ค.2565 เป็นวันที่ IFEC จะชำระหนี้งวดแรกให้กับเจ้าหนี้ทุกๆ คนอย่างแน่นอน
แต่หากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว IFEC จะต้องถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและถูกพิพากษาให้ล้มละลายต่อไป เจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นรวมกันว่า 25,000 คน ก็จะต้องได้รับความเสียหายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ภูวดล สุนทรวิภาต ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการและพัฒนาธุรกิจ IFEC กล่าวเสริมว่า บริษัทฯจะกลับมาโฟกัส “ธุรกิจสาธารณูปโภค” เน้นการผลิตพลังงานทดแทนซึ่งอยู่ในกลุ่ม Sunrise Industry จึงจะตัดสินทรัพย์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสาธารณูปโภคออกไป
พูดง่ายๆ คือต้องพยายามขายโรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ ให้ได้นั่นเอง!