การเมือง
"กมธ.ฝั่งเพื่อไทย" เฮ โหวตชนะ ให้ "ประชาชน" สถาปนารัฐธรรมนูญ ไม่ขอเสียงจากรัฐสภา
สมคิด เผยกมธ.ข้างมาก โหวตให้อำนาจประชาชนสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ต้องผ่านมติจากรัฐสภา พบ "ฝั่งส.ว." คนเสนอให้ ขีดกรอบ "ส.ส.ร." ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง หลังทำรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จ
นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ฐานะโฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) รัฐสภา กล่าวถึงกรณีที่มติของกมธ.ฯ ไม่บัญญัติห้ามสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลังจากทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ ว่า มีกมธ. เสนอให้พิจารณา ซึ่งตนเข้าใจว่าฝั่ง ของส.ว. เป็นผู้เสนอ โดยเห็นว่าส.ส.ร.ควรมีข้อห้ามกลับมาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่เสียงส่วนใหญ่เห็นว่า กมธ.ฯ ไม่ควรกำหนดรายละเอียดดังกล่าวไว้ หากส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องการห้ามตนเอง ควรให้ไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ส.ส.ร.จะยกร่าง ส่วนกรณีดังกล่าวที่อาจมีสมาชิกรัฐสภา เห็นต่างและถูกทักท้วงนั้น ตนเชื่อว่ากมธ.ฯ ชี้แจงได้
“กมธ.ฯ ไม่ควรไปกำหนดข้อห้ามไว้ เพราะอาจจะย้อนแย้งได้ว่า กมธ.ฯ ไปกีดกันเขา เนื่องจาก ส.ส.ร.ที่มาจากเลือกตั้ง 200 คน ต้องให้สิทธิเขาพิจารณาเอง หากกรณีนี้จะมีคนครหาว่าส.ส.ร.เขียนกติกาเพื่อตัวเองนั้น เชื่อว่าตามระบบ กติกา และการตรวจสอบทางสังคมจะจับตา” นายสมคิด กล่าว
นายสมคิด กล่าวด้วยว่า กมธ. ยังได้พิจารณาในมาตราสุดท้ายของเนื้อหาแล้วเสร็จ โดยได้พิจารณาให้อำนาจประชาชนสถาปนารัฐธรรมนูญ หลังจากที่ส.ส.ร. จัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ กำหนดให้นำเข้ารายงานต่อรัฐสภา เพื่อพิจารณาโดยไม่มีการลงมติตัดสิน ซึ่งตามร่างที่ใช้เป็นหลักนั้นกำหนดว่าต้องให้รัฐสภาลงมติ ทำให้เมื่อรัฐสภาพิจารณาแล้วเสร็จ ต้องนำเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อออกเสียงประชามติโดยประชาชน ซึ่งประเด็นดังกล่าวใช้เวลาอภิปรายนานพอสมควรก่อนจะใช้เสียงข้างมากตัดสิน
ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะ รองประธานกมธ.แก้รัฐธรรมนูญ คนที่สาม กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่าสำหรับเนื้อหาที่กมธ.ฯ เขียนเพิ่มเติมจากบทบัญญัติที่เสนอ คือ มาตรา 256 (9) ว่าด้วยก่อนนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ให้สิทธิ ส.ส. หรือ ส.ว. หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 เข้าชื่อเสนอความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ใน 3 กรณี คือ 1.ขัดมาตรา 255 , 2.มีลักษณะที่แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป, หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรืออำนาจหน้าที่ของศาล องค์กรอิสระ หรือทำรเื่องให้ศาลหรือองค์กรอิสะรปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ และ 3.หากกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญเป็นไปไม่ถูกต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญ.