"ของไหว้" วันตรุษจีน 2567 ต้องมีอะไรบ้าง? เสริมมงคลชีวิตเฮงร่ำรวย
เตรียม "ของไหว้" ให้พร้อมรับเทศกาล "ตรุษจีน 2567" โดย "วันจ่าย" ของปีนี้ตรงกับวันที่ 8 ก.พ. นี้ เปิดเคล็ดวิธีเลือกซื้อของไหว้ให้ถูกต้องครบถ้วน ต้องรู้ว่าควรซื้ออะไรและไม่ควรซื้ออะไรมาไหว้เจ้าตรุษจีนบ้าง?
เนื่องจากการ "ไหว้เจ้า" ในช่วงเทศกาล "ตรุษจีน" มีการตั้งโต๊ะไหว้หลายรอบ เพราะต้องไหว้ทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบ้าน ไหว้บรรพบุรุษ ไหว้เทพเจ้า และทำทานให้สัมภเวสี ดังนั้น "ของไหว้" ในแต่ละรอบก็จะไม่เหมือนกัน กรุงเทพธุรกิจชวนมาดูว่าการไหว้เจ้าแต่ละครั้ง ต้องใช้อะไรบ้าง ควรหาซื้อให้ครบจบในวันจ่าย "ตรุษจีน 2567" ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 8 กุมภาพันธ์
โดยทั่วไป "ของไหว้" หลักๆ ในวันตรุษจีนมักจะประกอบไปด้วยผลไม้มงคล ขนมมงคล อาหารเจ อาหารมงคล ขนมจันอับ ธูป เทียน ข้าวสวย น้ำชา กระดาษเงินกระดาษทอง ดังนั้นจะขออธิบายส่วนหลักๆ ที่ควรรู้ว่าต้องซื้ออะไรบ้าง ดังนี้
- ผลไม้มงคล "ตรุษจีน" 5 หรือ 7 อย่าง
เริ่มจากหมวด "ผลไม้มงคล" การเลือก "ของไหว้" ในเทศกาล "ตรุษจีน" ส่วนใหญ่ต้องเป็นของที่มีชื่อหรือมีความหมายมงคล เพราะหลังจากไหว้เจ้าในแต่ละรอบ อาหารเหล่านั้นจะต้องนำมาแบ่งกันรับประทานในครอบครัว นัยว่าจะทำให้ชีวิตได้รับความเป็นสิริมงคลนั้นด้วย "ผลไม้มงคล" สามารถนำไปจัดชุดไหว้ได้ทุกรอบ (ไหว้เจ้าที่/ไหว้บรรพบุรุษ/ไหว้เทพเจ้า/ไหว้ให้ทานสัมภเวสี) ได้แก่
1. ส้มสีทอง หมายถึง ความโชคดี ร่ำรวย เงินทอง
2. ทับทิมแดง หมายถึง ความเฮง โชคดี ครอบครัวอบอุ่น ไม่มีขัดแย้งบาดหมางกัน พี่น้องช่วยเหลือจุนเจือ
3. กล้วยหอมทอง หมายถึง ความงอกงาม ร่ำรวยเงินทอง มีลูกหลานสืบสกุล เพราะกล้วยเป็นพืชที่ทนทานและแตกหน่อได้ง่าย
4. สาลี่ทอง หมายถึง ร่ำรวยเงินทอง โชคลาภ ช่วยดับความทุกข์ร้อน อีกทั้งกินแล้วยังแก้ร้อนใน เป็นผลไม้ธาตุเย็น
5. สับปะรด หมายถึง ความโชคดี ภาษาจีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า “อั่งไล้” แปลว่าเรียกสีแดงเข้ามา ซึ่งสีแดงของคนจีนจะสื่อถึงความโชคดีนั่นเอง
6. องุ่นแดง หมายถึง ความรุ่งเรือง ภาษาจีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า “ผู่ท้อ” แปลว่า “งอกงาม” ทำให้ชีวิตรุ่งเรืองเจริญเติบโต
7. แก้วมังกร หมายถึง ผลไม้แห่งอำนาจ ความอุดมสมบูรณ์
*หมายเหตุ : ผลไม้ต้องห้าม! ที่ไม่ควรซื้อมาไหว้ ได้แก่ ผลไม้ดิบ ผลไม้สีดำ เช่น องุ่นดำ เชอรี่ดำ เพราะสื่อถึงการไว้ทุกข์ ไม่เป็นมงคล นอกจากนี้ผลไม้สีเขียวอย่างเช่น กล้วยดิบ องุ่นเขียว ฝรั่ง ลูกแพร์เขียว ก็จัดเป็นผลไม้ต้องห้ามเช่นกัน
- อาหารมงคล "ตรุษจีน" 7 หรือ 9 อย่าง
มาต่อกันที่หมวด "อาหารมงคล" จะเน้นเนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ มั่งคั่ง และเน้นอาหารที่ปรุงจากเส้นหมี่ หมี่ซั่ว บะหมี่ สื่อถึงอายุยืนยาวต้อนรับปีใหม่ รวมไปถึงขนมมงคลต่างๆ ด้วย สำหรับอาหารมงคล สามารถนำไปจัดชุดไหว้ได้ทุกรอบเช่นกัน (ไหว้เจ้าที่/ไหว้บรรพบุรุษ/ไหว้เทพเจ้า/ไหว้ให้ทานสัมภเวสี) เลือกได้ว่าจะจัดอาหารกี่อย่าง ตามแต่ความสะดวก ได้แก่
1. ปลา (ปลานึ่ง ปลาทอด) หมายถึง โชคลาภ ความสง่างาม ความมั่งคั่ง การอยู่ดีกินดี เหลือกินเหลือใช้
2. ไก่ (ไก่ต้ม ไก่แช่เหล้า ไก่ทอด) หมายถึง ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ตรงต่อเวลา การรู้งานรู้การ ขยันทำมาหากิน
3. เป็ด (เป็ดพะโล้ เป็ดปักกิ่ง) หมายถึง การทำงานสำเร็จลุล่วงทุกประการ ความสามารถอันหลากหลาย
4. หมู (หัวหมูต้ม หมูสามชั้นต้ม หมูกรอบ) หมายถึง ความมั่งคั่ง ร่ำรวย อยู่ดีกินดี
5. กุ้ง (กุ้งทอดกระเทียม กุ้งผัดพริกเกลือ) หมายถึง ยศตำแหน่ง บารมี ลูกน้องเคารพนับถือ
6. หมี่ซั่ว บะหมี่ (ผัดหมี่ซั่ว8เซียน บะหมี่หมูแดงหมูกรอบ บะหมี่เป็ด) หมายถึง อายุยืนยาว
7. สาหร่าย/เกี๊ยวต้ม (ซุปสาหร่าย เกี๊ยวกุ้ง เกี๊ยวหมู) หมายถึง โชคดี ร่ำรวย เงินทอง มั่งคั่ง ทั้งนี้มาจากรูปร่างของเกี๊ยวที่เหมือนก้อนเงินจีนโบราณ
8. ขนมเข่ง ถ้วยฟู สาลี่ หมายถึง เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป ชีวิตรุ่งเรืองเฟื่องฟู ความงอกงาม
9. ซาลาเปาไส้ต่างๆ หมายถึง ห่อโชค ห่อเงิน ห่อทอง
10. ขนมบัวลอยจีน หมายถึง คนในครอบครัวรักกัน กลมเกลียวและผูกพัน เนื่องจากก้อนบัวลอยมีรูปร่างกลมตัวแป้งเหนียวหนึบ แสดงถึงความกลมเกลียวแน่นแฟ้น
- ของไหว้เทพเจ้า อาหารเจ+ขนมจันอับ
ถัดมาเป็นการเตรียม "ของไหว้" ที่ต้องใช้ไหว้เทพเจ้า "ไฉ่ซิงเอี้ย" เพื่อขอพรด้านโชคลาภเงินทอง ตามหลักแล้วของไหว้ที่จะใช้ไหว้เทพเจ้าต้องเป็นหมวดอาหารเจ ไม่มีเนื้อสัตว์เจือปน เช่น ผลไม้ อาหารเจ ขนมจันอับ ซึ่งของไหว้ชุดนี้จะใช้เฉพาะการไหว้เทพเจ้าเท่านั้น! (ช่วงเวลาการไว้ คือ เริ่มไหว้ได้ตั้งแต่กลางดึกไปจนถึงเช้ามืดที่ย่างเข้าสู่วันตรุษจีน) ได้แก่
1. อาหารเจ (เจไฉ่) 5 อย่าง ได้แก่ ดอกไม้จีน ฟองเต้าหู้ วุ้นเส้น เห็ดหอม เห็ดหูหนู
2. ขนมอี๊ (ขนมบัวลอยจีนสีชมพู/แดง) 5 ถ้วย หมายถึง ให้ชีวิตราบรื่น ง่ายดาย มีความสุข
3. น้ำชา 5 ถ้วย
4. ผลไม้มงคล 5 หรือ 7 อย่าง เช่น ส้ม กล้วย สาลี่ แก้วมังกร สับปะรด องุ่นแดง ทับทิม
5. ขนมจันอับ เพี้ยนมาจากคำว่า 'จั๋งอั๊บ' ในภาษาจีนแปลว่า 'ปิ่นโต' หมายถึง ความสุขที่เพิ่มพูนยิ่งๆ ขึ้นไป จริงๆ แล้ว จันอับไม่ใช่ชื่อขนม แต่เป็นชื่อของปิ่นโตหรือกล่องที่ใช้ใส่ขนมแห้งหลากหลายชนิด ได้แก่ น้ำตาลกรวด ฟักเชื่อมอบแห้ง ถั่วก้อน ถั่วตัด งาตัด โซถึง ขนมปั้นล่ำ ขนมก้านบัว ขิงเชื่อม ข้าวพอง ตังเม ขนมโก๋แป้งถั่ว วุ้นแท่ง ตังเมหลอด
- กระดาษไหว้เจ้า (กระดาษเงินกระดาษทอง)
สำหรับ "ของไหว้" หมวดสุดท้ายคือ กระดาษไหว้เจ้า หรือ กระดาษเงินกระดาษทองที่เมื่อนำไปไหว้ขอพรแล้ว ตามประเพณีจีนก็จะนำไปเผาไฟ เพื่อใช้สื่อถึงการบวงสรวงเจ้าที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพเจ้า และบรรพบุรุษที่ชาวจีนให้ความเคารพศรัทธา ได้แก่
1. ชุดกระดาษไหว้เจ้าที่
ตั่วกิม : กระดาษงินกระดาษทองขอบส้ม พับเป็นเคียวเท่าซี่และมีกระดาษสีแดงแปะตรงกลาง มักจะนำไปใส่ไว้ในกระทงสีเหลืองอีกชั้น ซึ่งตัวกระทงก็จะมีคำอวยพร เช่น ครอบครัวเป็นสุข มีเงินมีทอง เอาไว้ไหว้เจ้าที่ ขอพรให้มีความสุข การงานเจริญรุ่งเรือง
เง็งเตี๋ย/หงิ่งเตี๋ย : เป็นกระดาษเงินกระดาษทองแผ่นใหญ่ ด้านหนึ่งเป็นสีเงินอีกด้านหนึ่งเป็นสีทอง ด้านในตรงกลางมีอั่งจี้ 1 แผ่น ใช้ไหว้เจ้าที่ เพื่อเป็นสิริมงคลและให้โชคลาภ
2. ชุดกระดาษไหว้เทพเจ้า
เทียงเถ่าจี๊ : กระดาษเงินกระดาษทองชิ้นใหญ่ มีกระดาษแดงตัดเป็นลายตัวหนังสือว่า “เผ่งอัง” เป็นคำอวยพร แปลว่า “โชคดี”
กิมเต้า หงิ่งเต้า : กระดาษรูปถังเงินถังทอง เปรียบเสมือนถังเงินถังทองใช้ไหว้เจ้าเพื่อขอเงินขอทองขอโชคลาภ ใช้ไหว้ไฉ่ซิ้งเอี๊ย ขอพรให้ร่ำรวยเงินทอง
กิมฮวย : ใช้ไหว้เพื่อขอพรจากเทพทุกพระองค์ ในเรื่องยศถาบรรดาศักดิ์จะไหว้คู่กับอั่งติ๋ว ส่วนมากนิยมปักกิมฮวยไว้บนผลส้ม และถวายแด่องค์เทพเจ้า ถือเป็นของมีค่าสูงยิ่งต่อเทพเจ้า
3. ชุดกระดาษไหว้บรรพบุรุษ
กิมจั๊ว กิมหงิ่งจั๊ว : กระดาษเงินกระดาษทองที่ต้องพับเป็นรูปดอกไม้หรือพาน ใช้ไหว้บรรพบุรุษขอพรความสิริมงคล ความเจริญรุ่งเรือง
กิมเตี๊ยว : ทองแท่งจำลองใช้ไหว้บรรพบุรุษ เปรียบเหมือนส่งทรัพย์สมบัติตามไปให้ผู้ที่จากไปแล้ว
อ่วงแซจี้ : กระดาษสีเหลืองคล้ายยันต์ มีอักษรจีนสีแดงเขียนอยู่ในวงกลม (มนต์บทสวด) ใช้เผาเป็นใบเบิกทางไปสู่สวรรค์ให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ ให้อยู่สบายในภพภูมิที่ดี
อิมกังจัวยี่ (กงเต๊ก) : ธนบัตรจำลองใช้ไหว้บรรพบุรุษ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาพบบุตรหลานญาติมิตรที่เมืองมนุษย์ในเทศกาลจีนต่างๆ
-----------------------------------------
อ้างอิง : gourmetandcuisine.com, wikipedia.org/จันอับ, waijao.wordpress.com, wikipedia.org/กระดาษเงินกระดาษทอง