“วัคซีนโควิด-19ชนิดเชื้อตาย” ไทยวิจัย-ผลิต-ใช้สู่ไทยมั่นคง

“วัคซีนโควิด-19ชนิดเชื้อตาย” ไทยวิจัย-ผลิต-ใช้สู่ไทยมั่นคง

องค์การเภสัชกรรม(อภ.)เป็นหน่วยงานแรกในประเทศไทย ที่ศึกษาวิจัยวัคซีนโควิด-19แล้วเข้าสู่การวิจัยในคนระยะที่ 1 โดยเป็นชนิดเชื้อตาย จะเริ่มในเดือนมี.ค.นี้ อาสาสมัคร 210 คน หากสำเร็จผลิตในประเทศที่โรงงานต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี

สร้างความมั่นคงด้านวัคซีนให้ประเทศ ตอบโจทย์ “ไทยวิจัย ไทยผลิต ไทยใช้ ไทยมั่นคง” ผลิตได้มากเพียงพอพร้อมกระจายประเทศเพื่อนบ้าน

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า การวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นี้ เป็นความร่วมมือกับสถาบัน PATH ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นองค์กรที่มุ่งพัฒนาเพื่อให้มีวัคซีนคุณภาพดี ราคาไม่แพง เพิ่มการเข้าถึงวัคซีนของประชาชนในประเทศรายได้ปานกลางถึงรายได้ต่ำ โดยมุ่งเน้นให้ประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตวัคซีนด้วยเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก สามารถผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อใช้ภายในประเทศและส่งออกไปยังประเทศที่ขาดแคลนวัคซีนได้ โดยPATH ได้ส่งหัวเชื้อไวรัสตั้งต้นที่พัฒนาโดยโรงเรียนแพทย์ที่ Mount Sinai ในนิวยอร์ค และมหาวิทยาลัยเท็กซัส มาให้องค์การเภสัชกรรม เพื่อใช้ในการผลิตวัคซีน

“หัวเชื้อไวรัสตั้งต้นดังกล่าวเกิดจากการตัดแต่งพันธุกรรมไวรัสนิวคาสเซิล ให้มีโปรตีนส่วนหนาม (Spike protein) ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 อยู่ที่ผิว ซึ่งไวรัสที่ตัดแต่งพันธุกรรมนี้ไม่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 และสามารถเพิ่มจำนวนได้ในไข่ไก่ฟักเหมือนกันกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ อีกทั้งสามารถใช้กระบวนการผลิตคล้ายกับการผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ การที่อภ. มีโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตในไข่ไก่ฟักพร้อมอยู่แล้ว จึงมีศักยภาพในการรับไวรัสตั้งต้นดังกล่าวมาผลิตในระดับอุตสาหกรรมต่อไปได้” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

161296306668

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.อภ. กล่าวว่า ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกหรือฮู แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีไข่ไก่ฟักหรือชนิดเชื้อตาย ที่นำมาใช้ในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นี้ เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาและใช้ในการผลิตวัคซีนมาอย่างยาวนาน จนอาจเรียกได้ว่าเป็นวิธีการหลักในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และมีบทความทางวิชาการที่ยืนยันถึงความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และคุณภาพของวัคซีนที่ผลิตจากไข่ไก่ฟักนี้ นอกจากนี้ยังสามารถผลิตได้ปริมาณมากในระยะเวลาสั้น และมีความเสถียรมากในระหว่างการเก็บรักษา และการขนส่ง

หากการวิจัยสำเร็จจะผลิตระดับอุตสาหกรรมที่โรงงานอภ.อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ซึ่งเดิมจะใช้ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ กำลังจะขยายเป็น 4 สายพันธุ์เร็วๆ นี้ แต่เมื่อโรคโควิด-19ระบาด ก็จะนำมาผลิตตรงนี้ก่อน โดยไม่จำเป็นต้องพัฒนาอะไรเพิ่มเติม เพราะใช้เทคนิคเดียวกันคือเป็นวัคซีนเชื้อตาย เพาะเลี้ยงในไข่ไก่ แต่การผลิตวัคซีนโควิดจะทำได้เร็วกว่า เพราะไข่ไก่ 1 ฟองจะทำได้ 10 โดส ขณะที่วัคซีนไข้หวัดใหญ่นั้น 1 ฟองจะผลิตวัคซีนได้เพียง 1 โดสเนื่องจากต้องครอบคลุม 3 สายพันธุ์

ปัจจุบันโรงงานดังกล่าวมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 25-30 ล้านโดสต่อปี ขณะนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และงบของอภ.รวมประมาณ 150 ล้านบาท เพื่อติดตั้งไลน์การบรรจุวัคซีนเพิ่มเติม จะทำให้เพิ่มกำลังการผลิตได้ประมาณ 60 ล้านโดสต่อปี และสามารถแบ่งสัดส่วนการผลิตวัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้ ตอนนี้จะผลิตวัคซีนโควิด-19 ต้นแบบเพื่อการวิจัยในคนระยะที่ 1 และ 2 ราวๆ 1 พันโดส แบ่งเป็น 3 ขนาด คือ 1 ไมโครกรัม 3 ไมโครกรัมและ 10 ไมโครกรัม

161296310195

ขณะที่ ศ.พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าศูนย์วัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ข้อดีของวัคซีนชนิดเชื้อตาย คือ 1.เป็นเทคโนโลยีที่อภ.มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว 2.สามารถเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส และมีความเสถียรในเรื่องของอุณหภูมิค่อนข้างสูง 3.ผลิตโดยใช้เชื้อไวรัสที่ไม่ก่อให้เกิดโรคในคนและก่อโรคน้อยมากในนก เรียกว่านิวคาสเซิลดีซิสไวรัส และใส่ชิ้นส่วนของสไปค์โปรตีน(Spike protein)เข้าไป และพัฒนาใส่สารโปรตีนให้มีความคงที่ มีความเสถียรและมีภูมิคุ้มกันที่กว้างขึ้น และจะมีการเพิ่มสารสัมฤทธิ์ โดยคาดหวังว่าวัคซีนที่เพิ่มสารสัมฤทธิ์จะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่กว้างขึ้นและครอบคลุมต่อสายพันธุ์ที่อาจจะมีการกลายพันธุ์ในอนาคตด้วย

ด้าน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมสนับสนุนการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยใช้เทคโนโลยีการใช้ไข่ไก่ฟักนี้ เป็นอีกหนึ่งแนวทางของการสร้างความมั่นคงและการพึ่งพาตนเองด้านวัคซีนของประเทศไทย จะทำให้เกิดความมั่นคงและการเข้าถึงวัคซีนของประชาชนคนไทย เป็นผู้ผลิตที่หากมากเพียงพอสามารถดูแลตัวเองได้ ก็จะเป็นผู้บริจาคให้กับประเทศอื่นในภูมิภาคหรือทุกๆประเทศที่มีความต้องการวัคซีนโควิด-19ในอนาคตต่อไป เพราะถ้าไทยมีใช้อย่างเพียงพอแล้วดูและเพื่อนบ้านด้วย ก็จะช่วยเพิ่มความปลอดภัย และลดความเสี่ยงติดเชื้อ นี่คือเป้าหมายที่ไทยวางไว้จะไปให้ถึง ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้แทงม้าตัวเดียว แต่ประเทศไทยกำลังจะเป็นเจ้าของคอกม้าที่มีคนไทยทุกคนเป็นเจ้าของม้าด้วย

161296312520

ความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19วิจัยในไทย
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการศึกษาวิจัยวัคซีนชนิดอื่นๆในประเทศไทยนั้น ที่อยู่ในระยะที่จะศึกษาวิจัยในคนระยะที่ 1 นอกจากของอภ.มีอีก 3 ตัว คือ 1.ชนิด mRNA ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2.ชนิดDNA ของ บริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด และ3.ชนิด Protein Subunit ของ บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม ซึ่งคาดว่าจะเริ่มศึกษาวิจัยในคนระยะที่ 1 ได้ในเวลาใกล้เคียงกันราวไตรมาสที่ 2 ของปีนี้
ส่วนชนิดอื่นๆ คือ ชนิดเชื้อตายของศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน มหาวิทยาลัยมหิดลอยู่ในขั้นการพัฒนาวัคซีนตัวเลือกระดับห้องปฏิบัติการ ,ชนิดเชื้อเป็น(Live-attenuated)ของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) อยู่ในระยะทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง,ชนิดไวรัล แว็คเตอร์ (Viral vector)ของสวทช. อยู่ในระยะทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง และชนิดไวรัสอนุภาคเหมือน (Virus-Like Particle-VLP) ของสวทช.และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อยู่ในระยะทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง นอกจากนี้ ไทยยังมีวัคซีนอีกกว่า 20 ชนิดอยู่ระหว่างการวิจัยพัฒนา