ก.แรงงาน ผลิตช่างบันดาลไฟจากโซลาร์เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์
ก.แรงงาน จับมือพันธมิตร ผลิตช่างโซลาร์จัดทีมล่าพลังงานแสงอาทิตย์ สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ลดโลกร้อน
เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ อาคารกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังจากเป็นประธานเปิดการฝึกอบรมหลักสูตร การติดตั้งและบำรุงรักษาระบบเซลส์แสงอาทิตย์ ให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการคนบันดาลไฟ ปี 2 ซึ่งดำเนินการร่วมกันระหว่างกพร. กระทรวงแรงงาน กับบริษัท ทีวีบูรพา จำกัด ว่า รัฐบาลมีนโยบายในการสร้างความมั่นคง ทางด้านพลังงาน
โดยส่งเสริมให้ภาครัฐและเอกชนใช้เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นหนึ่ง ในพลังงานสะอาดจากธรรมชาติ ช่วยลดมลภาวะและผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ซึ่งการส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยีจากพลังงานแสงอาทิตย์อย่างแพร่หลายนั้นจำเป็นจะต้องอาศัยช่างฝีมือในการติดตั้งและบำรุงรักษาเซลล์แสงอาทิตย์ กพร. จึงใช้แนวทางประชารัฐของรัฐบาลและนโยบายของกระทรวงแรงงาน โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน
ด้านการยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานและบริการประชาชนได้อย่างมีคุณภาพ มีมาตรฐานฝีมือแรงงาน กพร. จึงมอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนา ฝีมือแรงงานร่วมกับบริษัท ทีวีบูรพา จำกัด ดำเนินกิจกรรมโครงการคนบันดาลไฟ ปี 2 อบรมช่างบันดาลไฟ หลักสูตรการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบเซลส์แสงอาทิตย์ โดยโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนพัฒนาไฟฟ้า และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
นายธวัช กล่าวต่อไปว่า ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับทฤษฎีไฟฟ้า การใช้เครื่องมือ การติดตั้งและบำรุงรักษาระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ตลอดจนพื้นฐานการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยการทำงาน ในที่สูง ใช้ระยะเวลาการฝึกอบรม จำนวน 36 ชั่วโมง ซึ่งจัดฝึกให้แก่ช่างโซลาร์เซลล์ จำนวน 20 รุ่น ทุกภาค ทั่วประเทศ เริ่มต้นที่ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร (ระหว่างวันที่ 15-18 กุมภาพันธ์ 2564) พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ภาคตะวันออก ระยอง จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ภาคอีสาน ขอนแก่น อุบลราชธานี ภาคเหนือ พิษณุโลก ลำพูน และภาคใต้ สงขลา ชุมพร คาดว่าจะผลิตช่างโซลาร์เซลล์ได้จำนวน 400 คน
“การติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์นอกจากจะเป็นประโยชน์อย่างมากในชนบทห่างไกลที่ไฟฟ้ายังเข้า ไม่ถึงแล้ว และประชาชนทั่วไปที่อาศัยในเมืองยังใช้เป็นทางเลือกหนึ่งในการลดค่าไฟฟ้าและเป็นแหล่งพลังงานสำรอง การผลิตช่างโซล่าร์เซลล์จึงเป็นส่วนสนับสนุนให้ประชาชนนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในชีวิตประจำวัน และยังเป็นการยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี สร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ที่มั่นคง อีกด้วย” อธิบดีกพร. กล่าว