'ลด ละ เลิก' สร้างขยะพลาสติก สู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

'ลด ละ เลิก' สร้างขยะพลาสติก สู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

ข้อมูลสถานการณ์ขยะพลาสติก จากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย พบว่า ปี 2562 ไทยมีขยะพลาสติก 2.12 ล้านตัน ปี 2563 สถานการณ์โควิดทำให้พุ่งไปสู่ 3.4 ล้านตัน หรือ 60% ส่วนการนำมารีไซเคิล ปี 2562 รีไซเคิลได้ 4.9 แสนตัน และ ปี 2563 รีไซเคิลได้ 6.6 แสนตัน

ขณะเดียวกัน ปริมาณขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ปี 2562 เหลือ 1.63 ล้านตัน ปี 2563 เหลือ 2.78 ล้านตัน ปัจจุบัน ทั่วโลกมีการตื่นตัวทางสภาพภูมิอากาศ อาทิ ยุโปร ซึ่งตั้งเป้า สู่กรีนโซนในปี 2050 จากนี้ไป การค้ากับต่างประเทศ ผู้ผลิตจะถูกบังคับให้มีการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงมาตรการต่างๆ การใช้ BCG Economy ซึ่งปัจจุบัน B (Bio Economy) และ C (Circular Economy) ทำกันมากขึ้น G (Green Economy) เริ่มมีการยอมรับหลายภาคส่วน

“วราวุธ ศิลปอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่าการที่จะมุ่งสู่ BCG ให้ได้ทุกภาคส่วนทั้งเอกชน ภาครัฐ ประชาชน ต้องให้ความร่วมมือจริงจัง ต้องมีกฎหมาย และภาคบังคับ ขณะเดียวกัน ปัญหาขยะ ไม่ว่าจะ Food Waste ซึ่งก่อให้เกิดก๊าซมีเทนและอื่นๆ ตามมา ล้วนเป็นปัญหาสำคัญที่ประเทศไทยตั้งเป้าที่จะลดให้ได้ รวมถึง ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีการห้ามนำเข้าแล้ว และในปี 2569 จะลดการนำเข้าเศษพลาสติก เพื่อผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้ง Recycle และ Upcycle ให้มากขึ้น

161366927028

“นโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลได้มีมาไม่ว่าจะขยะพลาสติก หรือ มาตรการลด PM2.5 ซึ่งมีจุดกำเนิดจากหลายสาเหตุ ต้องได้รับการตอบรับจากประชาชน บางนโยบายในการปฏิบัติย่อมมีผู้ได้รับผลกระทบ ดังนั้น การทำงานในแต่ละส่วน จึงจำเป็นต้องดูแลความเดือดร้อนประชานทุกภาคส่วน ไม่แก้ปัญหาหนึ่ง และไปสร้างปัญหาให้กลุ่มหนึ่ง มนุษย์มีชีวิตได้ ต้องปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติไม่ใช่ให้ธรรมชาติปรับตัวเข้ากับเรา ปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องใช้เวลากว่าจะมาถึงวันนี้ ไม่ใช่แค่ดึงปลั๊ก หรือฉีดวัคซีนแล้วหาย แต่ใช้เวลานาน พอๆ กับระยะเวลาที่ปัญหาเหล่านั้นเกิดขึ้น ต้นไม้กว่าจะโตใช้เวลาหลายสิบปี ดังนั้น ต้องเริ่มจากวันนี้ ไม่ใช่พรุ่งนี้ หรือเดี๋ยวก่อน” วราวุธ กล่าว

  •  ลด-เลิกใช้พลาสติก 4 ประเภท

ล่าสุด ค.ร.ม. มีมติให้มีการ ลด-เลิกใช้พลาสติก 4 ประเภท ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว แบบบาง ถุงพลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน , กล่องโฟมบรรจุอาหาร กล่องโฟมบรรจุอาหาร ไม่รวมถึงโฟมที่ใช้กันกระแทกในภาคอุตสาหกรรม , แก้วพลาสติกบาง แก้วพลาสติก ความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน และหลอดพลาสติก ยกเว้นการใช้กรณีจำเป็น ได้แก่ การใช้ในเด็ก คนชรา ผู้ป่วย เป็นต้น 100% ในปี 2565           ถัดมา คือ การนำพลาสติกกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยนำพลาสติกกลับไปใช้ใหม่ ไม่น้อยกว่า 50% ในปี 2565 ประกอบด้วย ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบหนา บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว ขวดพลาสติกทุกชนิด ฝาขวด แก้วพลาสติก ถาด และกล่องอาหาร ช้อน ส้อม มีดพลาสติก

โดยในปีฐาน พ.ศ. 2562 รวมการใช้พลาสติก 7 ประเภทอยู่ที่ 1,341,668 ตัน เป้าหมายนำกลับไปใช้ประโยชน์ร้อยละ 50 หรืออยู่ที่ 670,834 ตัน มาตรการ ได้แก่ 1. มาตรการลดการเกิดขยะพลาสติก ณ แหล่งกำเนิด โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการป้องกันและควบคุมการเกิดของเสียตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต โดยการออกแบบ/ผลิตสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-design) ลดปริมาณสารพิษในผลิตภัณฑ์ เลือกใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการ รับผิดชอบของเสียที่เกิดจากสินค้าของตนเอง ผลักดันให้มีการปรับปรุงพัฒนามาตรฐานการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ การพัฒนาระบบฉลากสิ่งแวดล้อม การพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมพลาสติก และมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลพลาสติกให้เป็นมาตรฐานเดียวกันที่สามารถเชื่อมโยงทั้งประเทศ

161366927480

2. มาตรการลด เลิกใช้พลาสติก ณ ขั้นตอนการบริโภค โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน โดยเสริมสร้างจิตสำนึกของประชาชนในการบริโภคที่เหมาะสม โดยเฉพาะการลด เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (SUP) ที่มีผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อม และไม่สามารถนำกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

3. มาตรการจัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภค โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ส่งเสริมให้ประชาชนลด คัดแยกขยะ นำขยะพลาสติกมาผลิตเชื้อเพลิงขยะ ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมบางประเภทต้องใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลพลาสติก และจัดหาเทคโนโลยีการใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพทั้งนี้ ตามแผนการดังกล่าว คาดว่า จะสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกได้ 780,000 ล้านตัน / ปี และลดงบประมาณการกำจัดขยะมูลฝอย 3900 ล้านบาท/ปี รวมถึงประหยัดพื้นที่ฝังกลบ และกำจัดขยะมูลฝอยพลาสติก 2,500 ไร่ และลดปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจก เทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ 1.2 ล้านตัน

ด้าน พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ตามแผน Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2563-2573 ในทุกระยะ ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับมาตรการในการจัดการมลพิษพลาสติก โดยเฉพาะการทบทวนแนวคิดและนิยามของเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่อยู่บนฐานของการนำเอาขยะพลาสติกไปเผาเป็นพลังงาน โดยมาตรการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 - 2565) คือ ส่งเสริมให้มีการนำขยะพลาสติกมาผลิตเชื้อเพลิงขยะ ระบุเพียงว่าจะสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดได้ 0.78 ล้านตันต่อปี

161366933145

และการคัดแยกและนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่จะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ 1.2 ล้านตัน แต่ไม่ได้คำนึงถึงการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาขยะพลาสติกเลยแม้แต่น้อย ซึ่งหากนำขยะพลาสติก 0.78 ล้านตันไปเผา จะปล่อยก๊าซเรือนกระจก 22.83 ล้านตัน CO2 เทียบเท่า

“รัฐบาลต้องผลักดันให้มีกรอบกฏหมายว่าด้วยการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตซึ่งทำให้บริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำหน่ายเร็วให้มีแนวทางและแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนในการขยายความรับผิดชอบของตนไปยังช่วงต่างๆ ของวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ เป็นแนวทางให้ผู้ผลิตคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบ, กระจายสินค้า, การรับคืน, การเก็บรวบรวม การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ และการบำบัด และภาครัฐต้องขับเคลื่อนการแก้ปัญหาขยะพลาสติก โดยมุ่งเน้นไปที่การลด (reduce) ใช้ซ้ำ(reuse) และการเติม(refill) และหยุดสนับสนุนวัฒนธรรมการใช้แล้วทิ้ง อันเป็นหนทางในการแก้ไขวิกฤตมลพิษพลาสติกอย่างยั่งยืน” พิชามญชุ์ กล่าว

  • ผู้ผลิต-ผู้บริโภค “ปรับ” เพื่อ “เปลี่ยน”

บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) ในฐานะอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของโครงการ “วน” ซึ่งเป็นโครงการที่เริ่มต้นจากพนักงานกลุ่มเล็กๆ ในบริษัทฯ ที่มีความพยายามหาวิธีแก้ปัญหาขยะพลาสติก โดยการนำแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เข้ามาใช้ เน้นการให้ความรู้ เสนอแนะวิธีการแยกขยะการเตรียมเศษพลาสติกเพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และขยายเครือข่ายออกไปสู่ชุมชน มหาวิทยาลัย และองค์กรต่างๆ

161366927168

สมศักดิ์ บริสุทธนะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบบ้าง ผลิตภัณฑ์หลายอย่าง เช่น บรรจุภัณฑ์อาหาร เป็นฟิล์มที่มีหลายชั้น เช่น อลูมิเนียมฟอยล์ รีไซเคิลยาก ดังนั้น การทำธุรกิจต้องปรับตัว ทำอย่างไรให้ใช้วัสดุน้อยประเภทแต่มีคุณสมบัติครบถ้วน เก็บง่ายขึ้น คนไม่ใช่ถุงพลาสติกหิ้วที่ใช้แล้วทิ้ง ก็เปลี่ยนเป็นถุงหนาที่สามารถใช้ซ้ำได้ ขยะน้อยลง เราปรับมาประมาณ 3 ปี ส่วนหนึ่งเครื่องจักเดิมใช้ได้ แต่อีกส่วนหนึ่งต้องลงทุนเครื่องจักรในการขึ้นรูปถุงอื่นๆ

“ต้องมองให้ออกว่าจุดไหนผลิตภัณฑ์ไหนที่ยังมีความจำเป็นต้องใช้ เช่น บรรจุภัณฑ์ที่ใช้บรรจุอาหารซึ่งมีหลายชั้นทำให้เกิดขยะ ก็ปรับมาทำให้คุณสมบัติเหมือนกัน แต่รีไซเคิลได้ ต้องปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อให้มีความยั่งยืนขึ้น รวมถึงบริษัทมีทั้งกระบวนการ Recycle และ Upcycle ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันทั้งผู้ผลิตต้องออกแบบให้รีไซเคิลได้ ผู้บริโภคต้องเปลี่ยนพฤติกรรม ส่วนรัฐต้องส่งเสริมออกแคมเปญเพื่อให้คนตระหนักรับรู้ ขอให้มองว่าขยะพลาสติกเป็นวัตถุดิบ จะทำให้อยากเก็บและแปรรูปที่มีคุณค่าขึ้นมา สมศักดิ์ กล่าว