ส่องร่างรัฐธรรมนูญ จุดเริ่มต้น “โค่น” ระบบ เพื่อ “คนบางพวก”

ส่องร่างรัฐธรรมนูญ จุดเริ่มต้น “โค่น” ระบบ  เพื่อ “คนบางพวก”

พรุ่งนี้ และต่อเนื่องถึงวันพฤหัสบดี รัฐสภา นัดถกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระสอง หลังกมธ.ฯ พิจารณาเสร็จ รอบนี้มี ผู้แปรญัตติ กว่า 100 คน เมื่อสำรวจเนื้อหา สะท้อนความคิดที่ต้องการ เปลี่ยนกติกาที่เอื้อให้คนบางพวก

       "ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ..." เตรียมเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาวาระสองวันที่ 23- 24 กุมภาพันธ์นี้ หลังจากกรรมาธิการฯ ที่มี “วิรัช รัตนเศรษฐ” คีย์แมน พรรคพลังประชารัฐ​ เป็นประธาน พิจารณาแล้วเสร็จ

       เนื้อหาสำคัญของร่างแก้ไข คือปรับมาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้เสียงแก้ไขรัฐธรรมนูญ​เป็นแบบข้างมากปกติ ไม่ใช่ “ข้างมากพิเศษ” ซึ่งแถมหลักเกณฑ์ถ่วงดุลอำนาจ ความเห็นพ้อง ที่ต้องใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 และ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน ร้อยละ 20 เป็นเกณฑ์เห็นชอบ

       โดยเนื้อหาที่ปรับในชั้นกรรมาธิการ คือ ใช้เสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกที่มีอยู่ของ 2 สภา หรือ 500 เสียง จาก 750 เสียง ทั้งในวาระแรก ขั้นรับหลักการ และวาระสาม ขั้นให้ความเห็นชอบ และเติมมาตรการตรวจสอบการแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นที่พบว่า “กระบวนการตราไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ” จากเดิมที่มีเพียงกำหนดบทตรวจสอบที่เนื้อหาขัดมาตรา 255 หรือมีเนื้อหาที่แตะต้องหมวด 1 บททั่วไป หมวด2 พระมหากษัตริย์ หรือผลเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ เรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจของศาล หรือองค์กรอิสระ

       และเพิ่มหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือให้อำนาจ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)” 200 คน ที่จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นผู้ดำเนินการทำรัฐธรรมนูญใหม่ ภายใน 240 วัน โดยระหว่างยกร่างต้องรับฟังความเห็นของประชาชนทุกจังหวัด รวมถึง ครม. ส.ส. ส.ว. องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และเมื่อจัดทำแล้วเสร็จให้นำเสนอต่อรัฐสภา เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาอภิปรายแสดงความเห็นโดยไม่มีการลงมติ ก่อนส่งไปให้ กกต. นำร่างรัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติภายใน 7 วัน

       สำหรับขั้นตอนออกเสียง กำหนดให้ใช้เกณฑ์ "กึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ” เป็นฐานที่ “ร่างรัฐธรรมนูญ” จะผ่านประชามติ ควบคู่กับการออกเสียงว่าจะให้ผ่าน หรือไม่ให้ผ่านด้วย

       สำหรับวาระสองที่จะพิจารณาเป็นรายมาตรา มีสมาชิกรัฐสภา 108 คนเสนอคำแปรญัตติ ในที่นี้มี ส.ส.พรรคก้าวไกล เตรียมแปรญัตติเกือบทั้งพรรค คือ 47 คน ยกเว้น “ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ “เกษมสันต์ มีทิพย์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ ส่วนพรรคเพื่อไทยมี ส.ส.แปรญัตติ 46 คน ส.ว.มี 8 คน นอกจากนั้นยังมี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล 3 คน และ 1 ในนั้น คือ “เขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่ร่วมแปรญัตติ

       ส่วนเนื้อหาคำแปรญัตติของ “สมาชิกรัฐสภา” นั้น มีสาระที่น่าสนใจ

       มาตรา 256 นั้น สาระใหญ่ คือการเพิ่มสิทธิให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความเห็นในขั้นตอนการแก้ไข

       ความน่าสนใจอยู่ที่คำแปรญัตติของ “ส.ส.เขตรัฐ” ที่เสนอแก้สาระทั้งหมด และย้ำประเด็นห้ามแก้ไขเพิ่มเติม มาตราอื่นๆ ของรัฐธรรมนูญ “ทุกมาตราที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจ พระราชสถานะ และพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ฐานะทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ”

161404387366

       รวมถึงห้ามแก้หลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ ได้แก่ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โครงสร้างของสถาบันการเมือง ได้แก่ มีสองสภา องค์ประกอบของแต่ละสภา การตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ กลไกเพื่อรักษาวินัยการเงินการคลัง และการงบประมาณ รวมถึง หมวดศาล หมวดศาลรัฐธรรมนูญ หมวดองค์กรอิสระ และหมวดว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ

       นอกจากนั้น ยังเสนอให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสอง กำหนดเกณ์การออกเสียงเห็นชอบต้องเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา ทั้งที่ในวาระสองนั้นไม่เคยมีหลักเกณฑ์ได้คะแนนกำหนดไว้ ทั้งในรัฐธรรมนูญ 2560 หรือฉบับที่กรรมาธิการแก้ไข หมวดใหม่ว่าด้วย “ส.ส.ร.”

       สาระหลักของคำแปรญัตติ คือ ระบบเลือก ส.ส.ร.​ที่ขอให้ใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ใช้แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง เป็นต้น

       อย่างไรก็ดี ความน่าสนใจอยู่ที่คำแปรญัตติของ “จิรายุ ห่วงทรัพย์" ส.ส.กทม.เพื่อไทย ที่สนับสนุนให้ ส.ส.ร.​มาจากเลือกตั้ง 200 คนและสรรหาจำนวน 50 คน มาจากรัฐสภาคัดเลือก 20 คน ทั้งนี้กำหนดข้อห้ามไว้ชัดเจน ว่า “ห้ามผู้ที่เคยยกร่างรัฐธรรมนูญ 2560 และ “มีชัย ฤชุพันธุ์ และพวกบริวานว่านเครือ เข้ามาเกี่ยวข้อง” ขณะที่อีก 15 คน มาจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเลือก แต่กำหนดสเปคไว้คือ “ห้ามนักวิชาการที่มีประวัติส่งเสริมการทำรัฐหารหรือเกี่ยวข้องกับ คสช.” เข้ามาเป็น และอีก 5 คนมาจากนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่มีสเปคว่า สนใจในระบอบการเมืองการปกครองรูปแบบประชาธิปไตย

       นอกจากนั้น ยังมีคำแปรญัตติของ “เขตรัฐ” ที่ไม่เอา “ส.ส.ร.” และเสนอแปรญัตติให้ใช้กรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภา 200 คนทำหน้าที่ โดยกำหนดที่มาจากการคัดเลือกและลงมติโดยรัฐสภา แบ่งเป็นให้ ส.ส.เลือก 100 คน ส.ว. เลือก 70คน และ ครม.เสนอ 30 คน

       สำหรับรายละเอียด ในส่วนของคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามของ "ส.ส.ร.” ที่แม้กรรมาธิการไม่ได้แก้ไขในสาระสำคัญ​ แต่พบการแปรญัตติที่น่าสนใจของ “รังสิมันต์ โรม” ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่ขอเติมเนื้อหา “ตัดสิทธิ์” องคาพยพของ “คสช.” ทั้ง ส.ว.ปัจจุบัน สนช.ปี 2557 ครม.คณะที่ 61 สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และ คสช. ห้ามเป็น ส.ส.ร.

161404415644

       เช่นเดียวกับ “จิรายุ” ที่เสนอห้าม “ผู้ที่ฝักใฝ่รัฐประหาร สนับสนุนรัฐประหาร หรือเกี่ยวข้องกับ คสช. หรือเคยเป็นรัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกตำแหน่งในรัฐบาล คสช.” ห้ามเป็น ส.ส.ร.

       ทั้งนี้ มีผู้ที่เสนอคำแปรญัตติ ขอบัญญัติ “ห้าม ส.ส.ร.ลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็น ส.ส. เป็น ส.ว. หรือดำรงตำแหน่งการเมืองอื่นภายใน 2 - 5 ปี เพื่อขจัดประโยชน์ได้เสีย” ซึ่งประเด็นนี้กรรมาธิการ​ไม่ได้บัญญัติไว้

       ขณะที่มาตราว่าด้วยการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่กรรมาธิการเห็นควรกำหนดเวลา 240 วันเพื่อจัดทำ มี “สมาชิกรัฐสภา” ที่ขอแก้ไข โดยมีช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 120 - 360 วัน ทั้งนี้ในประเด็นนี้ มีผู้ที่เสนอคำแปรญัตติจำนวนมาก เพื่อให้เติม “กรอบการรยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่” อาทิ กรอบการเลือกตั้งให้มีแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ ด้วยบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ นายกรัฐมนตรีมาจากที่ประชุมของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภามาจากเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง กรรมการองค์กรอิสระต้องยึดโยงกับประชาชน มีกลไกถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ตุลาการ และองค์กรอิสระ

       สำหรับคำแปรญัตติของ “สมาชิกรัฐสภา” สะท้อนให้เห็นความต้องการอย่างแจ่มชัด ถึงการเปลี่ยนแปลง กลไก-กติกาใน “รัฐธรรมนูญ 2560” ที่ออกแบบมาเพื่อบางพวก และความต้องการออกจากกรอบแห่งอำนาจ “คสช.” ที่วางกลไกสืบทอดอำนาจทางกฎหมายไว้

       ดังนั้น ในการประชุม วันที่ 24 - 25 กุมภาพันธ์นี้ ต้องจับตาให้ดี เพราะ “ฝ่ายค้าน” ขนานนามให้เป็น จุดเริ่มต้น “โค่นระบอบประยุทธ์” !.