1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรฯ จ้าง 'รากหญ้า' 4.8 หมื่นราย

1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรฯ จ้าง 'รากหญ้า' 4.8 หมื่นราย

ความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นโครงการที่กระทรวงเกษตรฯ จัดทำขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 บรรเทาปัญหาการว่างงาน ลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานภาคการเกษตรกร

นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ว่า โครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่กระทรวงเกษตรฯ จัดทำขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 บรรเทาปัญหาการว่างงาน ลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานภาคการเกษตรกรรมไปสู่ภาคอื่นๆ และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในท้องถิ่นมีความมั่นคงในการเป็นแหล่งผลิตอาหาร โดยมุ่งเน้นเลือกเกษตรกรที่มีความตั้งใจเอาใจใส่อย่างจริงจัง ต่อยอด เพิ่มรายได้

โครงการนี้จะสนับสนุนการขุดบ่อเก็บกักน้ำในพื้นที่เกษตรกร สนับสนุนการเรียนรู้ให้แก่เกษตรกร ทำการเกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ในพื้นที่ มุ่งเป้าหมายดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่ 75 จังหวัด 4,009 ตำบล ผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 48,000 ราย จำแนกเป็น 2 กิจกรรม ได้แก่ 1.พัฒนาพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรกรตำบลละ 2 ราย ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 50 ราย รวมจำนวน 32,000 ราย และ 2.การจ้างงานตำบลละไม่น้อยกว่า 1 คน แต่ไม่เกิน 25 คน รวมจำนวน 16,000 ราย ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 9,000 บาท

โดยสถานะปัจจุบัน มีเกษตรกรที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกแล้ว จำนวน 20,583 ราย ส่วนผลการรับสมัครผู้จ้างงาน ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก 22,095 ราย แต่ตามมติคณะรัฐมนตรี​ (ครม.)​ ต้องเป็นไปตามสัดส่วน เกษตรกร 2 ราย ต่อ จ้างงาน 1 ราย โดยมีการจ้างงานแล้ว 9,200 ราย เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 และจะมีการจ้างงานเพิ่มอีกหลังจากการรับสมัครเกษตรกรเสร็จสิ้น ซึ่งจะสามารถจ้างงานเพิ่มในวันที่ 1 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ยังให้การสนับสนุนโครงการฯ โดยมอบหมายกรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินการสำรวจออกแบบสระเก็บกักน้ำของเกษตรกร และได้จัดสรรงบประมาณลงพื้นที่แล้ว เพื่อขุดบ่อให้แก่เกษตรกรในรอบแรกจำนวน 2,005 ตำบล โดยมีกลุ่มเกษตรกร 950 ตำบล ที่สามารถดำเนินการขุดได้ภายในเดือนมีนาคมนี้ รวมทั้งการสนับสนุนปัจจัยการผลิต พืช สัตว์ ประมง โดยกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง ได้ดำเนินการจัดทำเมนูทางเลือกตามความเหมาะสมของพื้นที่ ตามแผนการผลิตและความต้องการของเกษตรกร ภายหลังขุดสระเก็บกักน้ำและปรับปรุงดินเรียบร้อยแล้ว โดยสนับสนุนปัจจัยการผลิตบางส่วนแก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการด้วย