'เศรษฐกิจไทย' ฟื้นตัวช้า

'เศรษฐกิจไทย' ฟื้นตัวช้า

แม้มีข่าวดีวัคซีนโควิด-19 พร้อมแล้ว แต่ไทยยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนทางการเมือง ภาคเอสเอ็มอีที่อ่อนแอ โครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาท่องเที่ยวเป็นหลัก ทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเปราะบาง เสี่ยงฟื้นตัวช้า ขณะที่เวิลด์แบงก์มองว่าจีดีพีไทยจะลดลงต่ำกว่าคาดการณ์ 4%

ท่ามกลางปัจจัยความเชื่อมั่นของโลกในสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่มีความชัดเจนจากการที่วัคซีนทยอยออกมา ส่งผลให้บรรยากาศเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวในปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยจากที่เคยมีโอกาสคึกคักตามทิศทางเศรษฐกิจโลก วันนี้เริ่มมีความไม่แน่นอน เนื่องจากการอัพเดทดัชนีสำคัญ ยังมีปัญหาในการทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวในระยะอันใกล้ ขณะนี้อาจจะต้องทบทวนใหม่ประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจกันใหม่

ข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่าการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ปี 2563 ภาพรวมสินเชื่อยังเติบโตต่ำ โดยทั้งระบบขยายตัว 5.1% มาจากสินเชื่อธุรกิจ เนื่องจากธุรกิจขนาดใหญ่กลับมาขอสินเชื่อแทนการออกหุ้นกู้มากขึ้น สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวลดลงเหลือ 4.6% ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีติดลบ สอดรับกับหนี้เสียภาคเอสเอ็มอียังอาการหนักสุด โดยเฉพาะกลุ่มที่มียอดสินเชื่อต่ำกว่า 500 ล้านบาท หนี้เสียเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.8% และมีแนวโน้มที่หนี้เสียจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากหนี้ก่อนจะนับเป็นเอ็นพีแอลมีสัญญาณพุ่ง

มุมมองนักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักเริ่มมองเศรษฐกิจไทยในมุมที่แตกต่าง โดยเฉพาะประเด็นระยะเวลาที่จะกลับมาฟื้นตัว จากที่เคยคาดการณ์ 1 ปีนับจากปี 2563 ขณะนี้เริ่มยืดระยะเวลาออกไป ผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลกเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะต้องใช้เวลา 2 ปี และหากจะให้ฟื้นตัวชัดเจนต้องใช้เวลาถึง 4 ปี ภายใต้เงื่อนไขต้องลงทุนเพิ่มอีกเท่าตัว หรือจาก 17% เป็น 35% ของจีดีพี และต้องเพิ่มผลิตภาพอีกเท่าตัว 

เวิลด์แบงก์ยอมรับว่ากำลังประเมินจีดีพีไทยปีนี้ จากที่คาดการณ์โต 4% จะต้องลดลงมาอีก

เหตุผลหลักๆ เวิลด์แบงก์มองว่าเศรษฐกิจไทยมีการพึ่งพาการท่องเที่ยว ผนวกกับความไม่แน่นอนทางการเมืองและสงครามการค้าที่ดำเนินการต่อเนื่อง ยิ่งพิจารณาตัวเลขความยากจนที่เพิ่มขึ้นถึง 1.5 ล้านคนในปี 2563 ทำให้แม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ ก็จะฟื้นตัวไม่ทั่วถึง สอดคล้องกับมุมมองค่ายทีเอ็มบีที่เห็นว่าการฟื้นตัวกระจุกเฉพาะกลุ่ม หากแบ่งกลุ่มธุรกิจพบว่ามีกลุ่มที่ไปได้ดี มาคู่กับโรคโควิด เช่นธุรกิจสุขภาพ อาหาร ไอที อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนกลุ่มธุรกิจที่เหลือมีประเภทค่อยๆ ขยับดีขึ้น และกลุ่มที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้น

เราเห็นว่าสัญญาณภายนอก วัคซีนพร้อมแล้วเป็นข่าวดี แต่สัญญาณภายใน เป็นปัญหาเฉพาะตัวของไทยอย่างภาคเอสเอ็มอีที่อ่อนแอมาเป็นทุนเดิม บวกกับโครงสร้างเศรษฐกิจที่การพึ่งพาท่องเที่ยวเป็นหลัก เศรษฐกิจไทยจึงมีความเปราะบางและมีความเสี่ยงในการฟื้นตัวที่จะช้ากว่าประเทศอื่น ทำยังไงให้ปัญหาเหลือน้อยหรือหมดไป เราเห็นว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องรู้เท่าทันและแก้ไขด่วน สำหรับคนไทยวันนี้ต้องตระหนักถึงกำลังซื้อที่มาจากการแจกเงินในโครงการพิเศษ จะปรับตัวอย่างไร ก่อนที่รัฐหมดเงิน จนต้องปิดท่อ