BTS ยื่นฟ้อง รฟม.-คณะกก.คัดเลือกฯ ล้มประมูลสายสีส้ม

BTS ยื่นฟ้อง รฟม.-คณะกก.คัดเลือกฯ ล้มประมูลสายสีส้ม

ผู้ว่ารฟม. แจงยังไม่ทราบกรณีบีทีเอสฟ้องอาญากรณีการล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยืนยันเป็นอำนาจทำได้ พร้อมจัดประชาพิจารณาทำข้อเสนอใหม่เดือนก.พ.นี้

ผู้ว่ารฟม. แจงยังไม่ทราบกรณีบีทีเอสฟ้องอาญากรณีการล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยืนยันเป็นอำนาจทำได้ พร้อมจัดประชาพิจารณาทำข้อเสนอใหม่เดือนก.พ.นี้ ด้านศักดิ์สยาม งัดกฎ RFP แจงสิทธิ์รัฐทำได้ ส่วนบีทีเอสให้ฝ่ายกฎหมายฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางฐานเจ้าหน้าที่รัฐทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 165 และมาตรา 172 พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า กรณีบมจ.ระบบขนส่วมวลชนกรุงเทพ หรือบีทีเอส ยื่นฟ้องร้องผู้บริหารรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ล้มการประมูลการคัดเลือก ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยตนไม่ทราบเรื่องดังกล่าวว่ามีการฟ้องร้อง แต่ยืนยันว่าการดำเนินการล้มประมูลเป็นอำนาจที่รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา36 ทำได้ เพราะเป็นข้อสงวนไว้ในทีโออาร์การประกวดราคาอยู่แล้ว

ทั้งนี้ หลังจากที่มีการล้มประมูลคัดลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มไปแล้วเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา รฟม.ได้แจ้งยกเลิกและคืนหลักประกันผู้ยื่นซองข้อเสนอแล้ว รวมทั้งได้ถอนฟ้องคดีที่อยู่ในชั้นศาลปกครองเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้ คือภายในเดือนก.พ. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้สนใจเข้าร่วมประมูลเพื่อจัดทำข้อเสนอประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้มอีกครั้ง แล้วภายในเดือนมี.ค. จะมีการประชุมคณะกรรมการตามมาตรา 36 ในการพิจารณาหลักเกณฑ์การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กรณีเอกชนได้ยื่นฟ้องรฟม. เกี่ยวกับการยกเลิกประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยระบุว่า การยกเลิกประมูลเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุในเอกสารยื่นข้อเสนอ (RFP) ข้อ 12.1 ที่บอกว่าสงวนสทธิ์ในการยกเลิกประมูล อีกทั้งการยกเลิกประมูลก็ไม่ได้เป็นโครงการแรกที่กระทรวงฯ มีการดำเนินการ สามารถดำเนินการได้ ซึ่งหลังจากนี้เป็นหน้าที่ของ รฟม.ในการรวบรวมหลักฐานไปชี้แจงต่อศาล โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มต้องเดินหน้าตามแผนที่วางไว้ กำหนดฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี จะต้องเปิดให้บริการ ในปี 2567 และฝั่งตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - บางขุนนนท์ เปิดในปี 2569

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอส) กล่าวสั้นๆว่า ได้ให้ฝ่ายกฎหมายของบริษัทไปยื่นฟ้องรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางจริง แต่ขอไม่เปิดเผยรายละเอียด

รายงานข่าวแจ้งว่า ฝ่ายกฎหมายของบีทีเอส ได้ระบุว่า การฟ้องร้องผู้บริหารรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ซึ่งศาลจะนัดไต่สวนครั้งแรกเพื่อให้ผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องไปให้ข้อมูล โดยไม่แน่ใจว่าวันที่ 15 มี.ค. 2564 จะมีคำตัดสินออกมาหรือไม่ และสาเหตุที่ฟ้องเพราะมองว่าการกระทำของผู้บริหาร รฟม.และคณะกรรมการตามมาตรา 36 เป็นความผิดต่อหน้าที่ราชการและความรับผิดชอบ

ทั้งนี้ เนื่องจากการคัดเลือกเอกชนร่วมโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ รฟม. และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือก หลังเอกชนยื่นซองข้อเสนอแล้ว โดยมิชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งก่อนหน้านี้ บีทีเอส ยังได้ยื่นฟ้อง รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกต่อศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด โดยศาลได้วินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าว น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ รฟม.ระงับการใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกที่แก้ไขไว้ จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น แต่สุดท้ายกลับมีการล้มประมูลไม่รอคำสั่งศาลปกครองสูงสุด

สำหรับ กฎหมายอาญา มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกฎหมายอาญา มาตรา 165 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือคำสั่ง ซึ่งได้สั่งเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ป้องกันหรือขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมายหรือคำสั่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกคตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปีหรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ