ปตท.หวังคว้า 2 ไลเซ่นส์ LNG Shipper โดดแข่ง 2 ตลาดรับเปิดเสรีก๊าซฯ

ปตท.หวังคว้า 2 ไลเซ่นส์ LNG Shipper โดดแข่ง 2 ตลาดรับเปิดเสรีก๊าซฯ

แผนปรับโครงสร้างกิจการก๊าซฯเสรีที่ล่าช้ามาหลายปี ใกล้เข้าสู่ความเป็นจริง หลังคณะทำงานฯ เตรียมเสนอแนวทางต่อ กบง.พิจารณาในเดือนมี.ค.นี้ ก่อนส่งต่อ กพช.ไฟเขียว ขณะที่ ปตท. ชิปเปอร์แอลเอ็นจีรายแรกของประเทศ เตรียมโดดร่วมแข่งขัน ซื้อ-ขาย แอลเอ็นจีตลาดใหม่

คณะทำงานพิเศษพิจารณาแนวทางส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ที่มีนายณอคุณ สิทธิพงศ์ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานฯ ที่แต่งตั้งขึ้นตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2563 เพื่อมีหน้าที่พิจารณารูปแบบการส่งเสริมการแข่งขัน ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) นำเข้า โครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติที่เหมาะสม และแนวทางต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ได้มีการหารือในประเด็นดังกล่าวไปหลายครั้งแล้ว และคาดหมายว่า จะมีการนำเสนอผลสรุปแนวทางเปิดเสรีก๊าซฯ ต่อที่ประชุม กบง.ในเดือน มี.ค.นี้ ก่อนเสนอเข้าสู่การอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ต่อไป

เบื้องต้น โครงสร้างราคาก๊าซฯใหม่ จะถูกแบ่งออกเป็น 2 Pool คือ 1. สูตร Pool Gas(เดิม)ที่เป็นในส่วนของความต้องการใช้ก๊าซฯ(ดีมานด์)เดิม หรือ ตลาดOld Gasที่มีการทำสัญญาซื้อขายก๊าซระยะยาว กับ ปตท.อยู่แล้ว โดยเป็นสูตรที่คำนวนราคาก๊าซทั้งในส่วนที่มาจากแหล่งก๊าซในอ่าวไทย พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย,รับซื้อก๊าซจากเมียนมาและ สัญญาLNGนำเข้าระยะยาวของปตท. และ สัญญาระยะสั้น(Spot LNG) ที่ กพช.ให้ความเห็นชอบ

และ 2.สูตร Pool Gas(ใหม่) ที่เป็นในส่วนของดีมานด์ก๊าซฯใหม่ ที่จะมาจากการนำเข้าของผู้ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper)รายใหม่ จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

ขณะที่ ปัจจุบัน ประเทศไทย มีผู้ได้รับใบอนุญาตLNG Shipper อยู่ 5 ราย ได้แก่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT ที่เดิมเป็นผู้นำเข้าก๊าซฯแต่เพียงรายเดียว ปัจจุบัน มีโควตานำเข้าLNGภายใต้สัญญาระยะยาว ปริมาณรวม 5.2 ล้านตันต่อปี ,การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รับสิทธิทดลองนำเข้าLNGรูปแบบตลาดจร(Spot) 2 ปริมาณรวม 1.3 แสนตัน และในอนาคตยังมีแผนจะนำเข้าอีกกว่า 5 ล้านตันในช่วง 3 ปี (ปี2564-2566),บริษัท กัลฟ์ แอลเอ็นจี จำกัด ในเครือGULF มีแผนนำเข้าปริมาณ 3 แสนตันต่อปี,บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (HKH) มีแผนนำเข้าปริมาณ 1.4 ล้านตันต่อปี,บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM มีแผนนำเข้าปริมาณLNGปริมาณ 6.5 แสนตันต่อปี และยังอยู่ระหว่างยื่นขอขยายปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 บริษัท ที่อยู่ระหว่างยื่นขอรับใบอนุญาต LNG Shipperต่อ กกพ. คือ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO มีแผนนำเข้าปริมาณ2แสนตันต่อปี และอีกบริษัท ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดอย่างเป็นทางการ แต่พบว่า ปตท.ร่วมถือหุ้นในบริษัทนี้

161416896972

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหม่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า หากรัฐเปิดเสรีกิจการก๊าซฯเต็มรูปแบบ กลุ่มปตท. ก็สามารถเข้าไปแข่งขันในตลาดเสรีได้ เช่นเดียวกับธุรกิจค้าปลีกที่เดิมปตท.ดำเนินการมาหลายปี และได้แยกธุรกิจออกไปอยู่ภายใต้บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด(มหาชน) หรือOR ก็เป็นการเข้าไปแข่งขันในเสรี อยู่ภายใต้กฎ กติกาเดียวกันในการค้าเสรี

“ปัจจุบัน ปตท. มีใบอนุญาต LNG Shipper อยู่แล้ว ในส่วนของบทบาทการจัดหาก๊าซฯเพื่อความมั่นคงของประเทศ และเมื่อรัฐเปิดเสรี ปตท. ก็พร้อมที่จะเข้าไปแข่งขันในตลาดเสรีด้วย แต่จะแยกบทบาทใน 2 ตลาดให้ชัดเจน และเป็นธรรมกับ player ทุกราย”

นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ ปตท.ระบุว่า ปตท.อยู่ระหว่างรอติดตามความชัดเจนนโยบายเปิดเสรีก๊าซฯอย่างเป็นทางการ แต่เบื้องต้นเข้าใจว่า ภาพรวมจะแบ่งออกเป็น 2 ตลาด คือ ตลาดก๊าซฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ ที่เป็นการขายก๊าซฯให้กับ กฟผ. และขายให้กับโรงไฟฟ้าหลัก ที่ผลิตไฟฟ้าป้อนเข้าสู่สายส่ง ซึ่งการทำสัญญาซื้อขายก๊าซฯในส่วนนี้ก็จะเป็นรูปแบบที่เอื้อให้เกิดการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีเสถียรภาพด้วย

ส่วนอีกตลาด จะเป็นกลุ่มซื้อขายก๊าซฯ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรม หรือ โรงไฟฟ้าSPP ที่ผลิตไฟฟ้าป้อนให้กับโรงงานอุตสาหกรรม และไม่ได้ขายไฟฟ้าเข้าGrid โดยตรง ก็จะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่สำคัญสำหรับกลุ่มผู้ได้รับใบอนุญาต LNG Shipper รายใหม่ ที่จะเข้ามาเล่นตลาดLNG รวบกลุ่มลูกค้าเหล่านี้ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เข้าไปแข่งขันกันได้

ดังนั้น ปตท.ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาต LNG Shipper ตลาดเดิมอยู่แล้ว ที่ซัพพลายให้กับลูกค้ารายใหญ่ๆ ที่ผลิตไฟฟ้าขายให้กับ กฟผ. ส่วนตลาดใหม่ ปตท.ยังไม่มีใบอนุญาตLNG Shipper(ใบที่สอง) ฉะนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า มติของ กพช.จะออกมาอย่างไร และจะเปิดโอกาส ปตท. สามารถใช้ไลเซ่นส์เดิม เพื่อซัพพลายก๊าซฯให้กับทั้ง 2 ตลาดเลย หรือว่า จะต้องแยกใบอนุญาต เป็น 2 ใบ ซึ่ง ปตท.ก็พร้อมดำเนินการในทุกรูปแบบ

“ปตท.เราก็ประสงค์จะได้รับไลเซ่นส์ ทั้ง 2 ใบ ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ระหว่างรอการพิจารณาจาก กกพ. อยู่ว่า จะมี 2 ใบ หรือ มีใบเดียวก็สามารถที่จะซัพพลายให้ได้ทั้ง 2 ตลาด แต่เป้าหมายของ ปตท.เอง เราอยากจะเห็นทั้ง 2 ใบเลย และแยกกันทำตลาดอย่างชัดเจน จะได้ไม่ก้าวก่ายกัน และมีอิสระต่อกันในการดำเนินการ จะได้สะท้อนวัตถุประสงค์การแข่งขันเสรีโดยสมบูรณ์”

161416903662

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ปตท.ได้เตรียมพร้อมปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการบริหารจัดการท่อก๊าซฯ ซึ่งได้แยกบัญชีทรัพย์สินออกไปจากปตท. และการรองรับเปิดเสรีก๊าซฯ ระยะที่2 ที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ ปตท.ก็เตรียมพร้อมแยกทีมงานดำเนินการใน 2 ตลาดก๊าซฯ ทั้งในส่วนตลาดก๊าซฯเพื่อความมั่นคง และตลาดก๊าซฯที่เป็นการค้าปลีกแข่งขันกับ Shipper รายอื่นๆ ซึ่งก็อยู่ระหว่างการศึกษาที่จะแยกหน่วยงานออกมาฝึกสอน เพิ่มเติมทักษะของทีมงานที่จะรองรับการแข่งขันตลาดใหม่ และมั่นใจว่า ปตท.มีความพร้อมมากที่จะเข้าไปแข่งขันทั้ง2ตลาด เพราะ ปตท.มีประสบการณ์ในธุรกิจก๊าซฯมากว่า 40 ปีแล้ว

“มั่นใจว่า บริษัทใหม่ที่จะยื่นขอใบอนุญาตจาก กกพ. จะมีคุณสมบัติครบถ้วน และขณะนี้ ก็มีลูกค้าก๊าซฯ ที่อยู่ในเป้าหมายหลายราย แต่ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดในขณะนี้”

ทั้งนี้ กรณีศึกษาของปี 2563 จะเห็นว่า ในช่วงที่ราคา Spot LNG ต่ำมาก เมื่อเทียบกับราคา Pool และมีทั้งช่วงที่ราคาสูงกว่ามาก แสดงให้เห็นถึงความผันผวนของLNGตลาดโลก ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ปตท.พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สามารถนำเข้าLNGราคาต่ำสุด อยู่ที่ 1.78 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เข้ามาในประเทศได้ และในช่วงที่ราคาสูง ก็อาศัยจังหวะนี้ Re-Export สัญญาที่มีอยู่ และทดลองใช้กับโครงการพื้นฐานที่ลงทุนไว้แล้ว พิสูจน์ชัดว่า ปตท.มีความพร้อมและความสามารถในการแข่งขัน