'นักวิชาการ' ชี้ 3 ปัจจัยหนุนเศรษฐกิจเวียดนามโตแรงแซงไทย

'นักวิชาการ' ชี้ 3 ปัจจัยหนุนเศรษฐกิจเวียดนามโตแรงแซงไทย

นักวิชาการชี้ 3 ปัจจัยเวียดนามปฏิรูปเศรษฐกิจหนุนการเติบโตแรงแซงหน้าไทย ระบุการทำกฎหมายให้ทันสมัย - เอฟทีเอฉบับสำคัญช่วยขับเคลื่อนการลงทุน แนะไทยพัฒนาศักยภาพแรงงานเพิ่มโอกาสการเติบโต

เศรษฐกิจของเวียดนามมีอัตราการขยายตัวที่น่าสนใจโดยในปี 2563 เศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่เวียดนามเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่มีการขยายตัวของเศรษฐกิจเป็นบวกโดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มีการเติบโตถึง 2.91 % ในปีที่ผ่านมาเนื่องจากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ตั้งแต่ช่วงแรก

โดยอัตราการเติบโตของ GDP เวียดนามในช่วงปี 2559-2563 เฉลี่ยอยู่ที่ 5.9% ซึ่งเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดในโลก และในปี 2564 หน่วยงานเศรษฐกิจต่างๆยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของเวียดนามจะเติบโตได้สูงถึง 6.5-7.0% ขณะที่่การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3 -4% ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความน่าสนใจของไทยในการเป็นจุดมุ่งหมายของนักลงทุนลดลง

นายปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเวียดนามเติบโตรวดเร็วส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากวิธีคิดและระบบการปกครองที่เมื่อมีการกำหนดแผนหรือแนวทางการพัฒนาประเทศแล้วจะมีการเดินหน้าตามแผนประกอบกับระบบการปกครองแบบสังคมนิยมที่สั่งการจากส่วนกลางได้ทำให้ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ส่วนที่เวียดนามปฏิรูปอย่างจริงจังจำนวน 3 ข้อส่งผลดีต่อเศรษฐกิจมาจนถึงในปัจจุบันได้แก่ 

1.การปฏิรูปกฎหมายโดยใช้กระบวนการ regulatory guillotine ตั้งแต่ในปี 2007 - 2008 ในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินโลก โดยเวียดนามเดินหน้าโละทิ้งกฎหมายเก่าล้าสมัย รวมกฎหมายที่มีความซ้ำซ้อนเข้าด้วยกัน รวมทั้งร่างกฎหมายใหม่ที่ส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่มีหลักการสอดคล้องกับสากลโดยใช้มาตรฐานขององค์กรการค้าระหว่างประทศ (WTO) ทำให้เกิดการยกระดับธรรมาภิบาลในประเทศช่วยลดต้นทุนของเอกชนได้ประมาณปีละ 1.4 พันล้านดอลลาร์ส่งผลให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากกฎหมายที่ทันสมัยช่วยลดข้อกังวลของนักลงทุนลงไปได้ 

2.เวียดนามสนับสนุนบรรยากาศและการใช้ประโยชน์จากการค้าเสรี โดยปัจจุบันเวียดนามมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) 16 ฉบับกับ 53 ประเทศ ขณะที่ไทยมี FTA 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ เวียดนามจึงสามารถดึงดูดการค้าการลงทุนได้มากกว่าเนื่องจากภาษีในการนำเข้าและส่งออกสินค้ามีต่ำกว่าประเทศไทย ซึ่งข้อตกลงทางการค้าสำคัญที่เวียดนามได้เข้าร่วมแล้วยังรวมถึงเขตการค้าเสรีเวียดนามกับสภภาพยุโรป (EU) และข้อตกลงความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ที่ไทยยังไม่ได้เข้าร่วมทำให้มีข้อจำกัดในการเปิดตลาดส่งออกและนำเข้าสินค้าเมื่อเทียบกับเวียดนามที่มีแต้มต่อในเรื่องนี้  161422413980

และ 3.เวียดนามให้ความสำคัญในการพัฒนาคนอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีแรงงานที่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการที่มีการลงทุนในประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไทยต้องมาทำเรื่องนี้อย่างจริงจังหากต้องการที่จะแข่งขันกับเวียดนามในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้ได้มากขึ้นในอนาคต   

“ปัจจัยสำคัญ 3 เรื่องที่เวียดนามเดินหน้าต่อเนื่องมีส่วนในการส่งเสริมเศรษฐกิจซึ่งประกอบกับการเมืองการปกครองที่สั่งการได้จากส่วนกลางเมื่อมีแผนที่ชัดเจนมีการเดินตามแผนที่วางไว้อย่างถูกทางเศรษฐกิจจึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว” นายปิติกล่าว