รฟม.ประมูลรถไฟฟ้า2.4แสนล้าน

รฟม.ประมูลรถไฟฟ้า2.4แสนล้าน

รฟม.ลุยประมูลรถไฟฟ้า 2 โครงการกว่า 2.4 แสนล้านบาท เตรียมรับฟังร่างRFP สายสีส้ม1 มี.ค.นี้ เปิดกว้างถกเงื่อนไข ขณะสีม่วงใต้ เตาปูน - ราษฎร์บูรณะ คาดขายซอง มิ.ย.2564

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) เมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ที่ประชุมได้สอบถามถึงความคืบหน้าของการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม งานโยธาช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - บางขุนนนท์ และงานติดตั้งระบบเดินรถทั้งเส้นทางมีนบุรี - บางขุนนนท์ ซึ่ง รฟม.ได้ชี้แจงถึงเหตุผลของการยกเลิกประกวดราคา เพื่อต้องการเร่งรัดให้โครงการสามารถเปิดบริการตามเป้าหมาย

อย่างไรก็ดี ในวันจันทร์ที่ 1 มี.ค.นี้ รฟม.จะเริ่มดำเนินการเปิดประกวดราคารอบใหม่ โดยจะประกาศเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อประกอบการจัดทำร่างเอกสารยื่นข้อเสนอโครงการ (RFP) โดยจะรับฟังความคิดเห็นเป็นการทั่วไป ในประเด็นอาทิ เงื่อนไขประมูล การแบ่งซองประมูล รวมไปถึงการคำนวณคะแนนเพื่อพิจารณาข้อเสนอควรเป็นอย่างไร โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็น 15 วัน หลังจากนั้นจะเปิดให้เอกชนเสนอความเห็นอีก 3 วัน

161425946262

เบื้องต้นจึงประเมินว่ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการจัดทำ RFP จะแล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค.นี้ หากไม่มีปัญหาติดขัด คาดว่าจะสามารถประกาศขายซองข้อเสนอได้ภายในเดือน เม.ย.2564 เข้าสู่กระบวนการพิจารณาข้อเสนอ แล้วเสร็จเพื่อเสนอผลประมูลให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในเดือน ส.ค.นี้ โดยหากการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้วเสร็จ รฟม.คาดว่าจะสามารถเร่งรัดให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้างทันทีภายในปีนี้

นายภคพงศ์ ยังกล่าวอีกว่า ภายในเดือน มิ.ย.นี้ รฟม.คาดว่าจะเปิดขายซองประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำเอกสารประกวดราคา และสำรวจอสังหาริมทรัพย์ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 2 เดือนหลังจากนี้ ซึ่งเป้าหมายของโครงการ รฟม.คาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างภายในเดือน ธ.ค.2564 เปิดให้บริการประชาชนในเดือน มี.ค.2570

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการที่ รฟม.เปิดประมูลในปีนี้ ทั้ง 2 โครงการ มีมูลค่ารวมกว่า 2.4 แสนล้านบาท ประกอบไปด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มูลค่าราว 1.4 แสนล้านบาทและรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ มูลค่า 1.01 แสนล้านบาท

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม รฟม.ได้เปิดประกวดราคาไปแล้ว โดยมีเอกชนยื่นข้อเสนอ 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ 2.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม จากมีผู้ซื้อซองทั้งหมด 10 ราย และเมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 ได้มีมติยกเลิกประมูล เนื่องจากเล็งเห็นว่า โครงการดังกล่าวศาลปกครองได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว

จากกรณีที่เอกชนได้ยื่นขอทุเลาคำสั่งปรับแก้หลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอจากเดิมกำหนดใช้เกณฑ์ราคา 100% เป็นเกณฑ์ราคา 70% และเกณฑ์เทคนิค 30% ซึ่งคณะกรรมการ ม.36 เล็งเห็นว่ากระบวนการพิจารณาคดีอาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมโครงการล่าช้าหากเทียบกับการเปิดประกวดราคาใหม่