‘ดาวโจนส์’ดิ่งเหวทรุด 559 จุด

‘ดาวโจนส์’ดิ่งเหวทรุด 559 จุด

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดตลาดวันพฤหัสบดี(25ก.พ.)ดิ่งลง 559 จุด ขณะที่บรรยากาศการซื้อขายถูกกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งทำให้นักลงทุนพากันเทขายสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ลดลง 559.85 จุด หรือ 1.75% ปิดที่ 31,402.01 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 96.09 จุด หรือ 2.45% ปิดที่ 3,829.34 จุด และดัชนีแนสแด็ก ลดลง 478.54 จุด หรือ 3.52% ปิดที่ 13,119.43 จุด

อย่างไรก็ตาม ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นกว่า 400 จุดแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อวันพุธ(24ก.พ.) โดยได้ปัจจัยบวกจากถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งช่วยให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นกลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงหุ้นกลุ่มธนาคาร อุตสาหกรรม และพลังงาน

แต่บรรยากาศการซื้อขายถูกกดดันในวันนี้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 1.6% แตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 ปี โดยได้ปัจจัยหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ

ตลาดเกิดความวิตกว่าการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระดับต่ำ และจะลดความน่าดึงดูดของการลงทุนในหุ้น ทำให้นักลงทุนหันเข้าสู่ตลาดพันธบัตร

ทั้งนี้ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีถือเป็นพันธบัตรที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รถยนต์ของสหรัฐ ซึ่งหากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้น จะทำให้เม็ดเงินในการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดน้อยลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มมากขึ้น และบริษัทต่างๆจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน

นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกว่าภาวะเงินเฟ้อจะดีดตัวขึ้นจากการที่รัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดนเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่เพื่อเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19

นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ กล่าวว่า สภาผู้แทนราษฎรจะอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ภายในวันพรุ่งนี้ ขณะที่วุฒิสภาจะให้การอนุมัติก่อนวันที่ 15 มี.ค. ซึ่งเป็นวันที่มาตรการช่วยเหลือผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จะหมดอายุลง

ด้านนายพาวเวลกล่าวว่า การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเกิดจากการคาดการณ์เงินเฟ้อและการขยายตัวที่สูงขึ้น รวมทั้งเป็นการส่งสัญญาณความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐ

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงสู่ระดับ 730,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่สัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 28 พ.ย.2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 845,000 ราย

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ปรับลดตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ สู่ระดับ 841,000 ราย จากเดิมรายงานที่ระดับ 861,000 ราย

ส่วนจำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องลดลง 101,000 ราย สู่ระดับ 4.42 ล้านราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่สัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 21 มี.ค.2563

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 4/2563 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 4.1% โดยปรับตัวดีกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ที่ระดับ 4.0%

การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 4/2563 ได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของการส่งออก และการใช้จ่ายของผู้บริโภค แม้ว่าการใช้จ่ายในภาครัฐปรับตัวลง

เมื่อพิจารณาทั้งปี 2563 เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 3.5% โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2489

นอกจากนี้ เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 33.4% ในไตรมาส 3/2563 ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ที่สหรัฐเริ่มมีการรวบรวมข้อมูลในปี 2490 หรือกว่า 70 ปี จากการที่สหรัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และมีการเปิดเศรษฐกิจ หลังจากหดตัว 31.4% ในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงเป็นประวัติการณ์ และหดตัว 5% ในไตรมาส 1 ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากมีการหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะดีดตัวขึ้นในปีนี้ โดยได้ปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล, การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในวงกว้าง และการที่เฟดยังคงใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ส่งผลให้มีการคาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 9% ในไตรมาส 1/2564 และจะขยายตัว 6% ในปีนี้ ซึ่งเป็นการขยายตัวมากที่สุดนับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจมีการเติบโต 7.2% ในปี 2527

นายพาวเวลคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มขยายตัว 6% ในปีนี้ ขณะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 หลังมีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนในวงกว้าง