ถอดรหัสเครื่องบิน 'หม่อง ลวิน-เรตโน'ร่อนลง 'บน.6'

ถอดรหัสเครื่องบิน 'หม่อง ลวิน-เรตโน'ร่อนลง 'บน.6'

หากถึงวันที่สถานการณ์ใน 'เมียนมา'เข้าสู่สถาวะขับขัน ซึ่งคาดการณ์ว่าไม่เกินเดือนมีนาคม'ไทย' ถูกอาจถูกผลักดันจาก 'อาเซียน' ให้เข้าไปมีบทบาทอย่างหนึ่งอย่างใด โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้

เค้าลาง 'ไทย' จะกลายเป็นหนังหน้าไฟในอนาคต เริ่มปรากฎชัดขึ้นเรื่อยๆ พลันเครื่องบินคณะนายหม่อง ลวิน (Wunn Maung Lwin) รมว.ต่างประเทศเมียนมา และ นาง เรตโน มาร์ซูดี รมว.ต่างประเทศอินโดนีเซีย ร่อนลงจอดท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6  (บน.6) ดอนเมืองเมื่อช่วงเช้าตรู่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ในฐานะแขกกระทรวงต่างประเทศ ขอเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

การพบกัน 3 ฝ่ายเกิดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการภายในพื้นที่สากล ห้องรับรองท่าอากาศยาน บน.6  แน่นอนว่าประเด็นพูดคุยคงหนีไม่พ้นเหตุผลความจำเป็นการทำ 'รัฐประหาร' ของเมียนมา ที่ต้องอธิบายให้ รมว.ต่างประเทศอินโดนีเซีย รับฟังในฐานะประเทศที่เป็นสถานที่ตั้งของสำนักงานใหญ่อาเซียน  โดยมี 'เวียดนาม' ( ลิม จก โฮย )นั่งเป็น เลขาธิการอาเซียน 

แม้หลักการของ 'อาเซียน'จะไม่ก้าวก่ายกิจการภายในของประเทศ แต่ผลพวง 'รัฐประหาร' ที่ส่อเค้าบานปลาย จนทำให้เกิดการประท้วงของประชาชนเมียนมา ทั้งภายในและภายนอกประเทศ นำมาซึ่งความวิตกกังวลของสมาชิกอาเซียน เพราะหากคุมไม่อยู่ สถานการณ์เลวร้ายสุดๆ ก็จะกลายเป็นสงครามการเมืองเช่นเดียวกับซีเรีย

จึงเริ่มเห็นการขยับตัวของ 'อาเซียน' ต่อสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะบทบาทของเลขาธิการอาเซียน ประเทศเวียดนาม ที่มีความใกล้ชิดกับมหาอำนาจอย่าง 'สหรัฐฯ' หลัง โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนาม'คว่ำบาตร' เมียนมา โดยมุ่งเน้นไปที่แกนนำรัฐประหาร ผู้นำกองทัพ สมาชิกครอบครัวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งงัดมาตรการควบคุมสินค้าส่งออกและระงับทรัพย์สินที่เอื้อประโยชน์ต่อรัฐบาลพม่า

และเป็นที่น่าสังเกตุว่า การพบปะดังกล่าวเกิดขึ้นหลังวันเดียวที่ พล.อ. ลอยด์ ออสติน (Lloyd Austin) รมว.กห.สหรัฐฯ ร่วมหารือ พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านระบบโทรศัพท์ทางไกล ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ ตามทำเนียมปฏิบัติ ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล. รมช. กลาโหม ,พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกลาโหม ,ตัวแทน ผบ.เหล่าทัพ เข้าร่วม 

จะเห็นได้ว่า 'พล.อ.ประยุทธ์' พยายามรักษาสมดุลให้ 'ไทย' เป็นประเทศที่เป็นกลางของปัญหาความขัดแย้งทั้งปวง ทั้งในส่วนที่ต้องสนับสนุนประชาธิปไตย ตามความมุ่งหมายของประเทศมหาอำนาจ แต่ในขณะเดียวกันต้องไม่ก้าวล่วงเรื่องภายในประเทศสมาชิกอาเซียน 
 

" เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการอยู่ เพราะฉะนั้นเราในฐานะมิตรประเทศก็ต้องรับฟังซึ่งกันและกัน ก็สุดแล้วจะเป็นอย่างไร เราก็เป็นกำลังใจในฐานะประเทศหนึ่งในอาเซียนที่ต้องทำให้เกิดความร่วมมือ รวมทั้งส่งกำลังใจให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อย แค่นั้นพอแล้ว " พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

แม้ 'พล.อ.ประยุทธ์' ได้วางกรอบของ 'ไทย' ต่อสถานการณ์ 'เมียนมา' ไว้ชัดเจน แต่ในบทบาทอาเซียนที่ต้องแสดงจุดยืนอย่างหนึ่งอย่างใดอาจเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ และหากสถานการณ์ใน 'เมียนมา'พัฒนาไปสู่สมรภูมิ เชื่อว่า 'ไทย' คือประเทศอาจต้องรับบทหนัก

เพราะหากพิจารณา 10 ประเทศอาเซียน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำไทย กับ เมียนมา แน่นแฟ้นที่สุด โดยเฉพาะระดับกองทัพ เนื่องจากนโยบาย พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผู้ก่อรัฐประหาร) ได้วางแนวทางเชื่อมสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจของกองทัพไทยมาหลายปี

โดย พล.อ. มิน อ่อง หล่าย สร้างสัมพันธ์ กับพล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.เมื่อปี 2556 ผ่านทาง พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร  ผบ.สส. ในสมัยนั้น อีกทั้งยังได้ขึ้นชื่อว่าเป็น 'ลูกป๋า' พล.อ.เปรม ตินสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่ทหารของกองทัพไทยให้ความเคารพ-นับถือ
และ 'พล.อ.ประยุทธ์' ก็เป็นผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนคนแรก ที่ พล.อ. มิน อ่อง หล่าย เลือกเขียนจดหมาย ชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นการก่อรัฐประหารในเมียนมา

ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่าง นางออง ซานซูจี  อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา กับ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ได้ขี้ริ้วขี้เหร่ หลังเคยร่วมพบปะพูดคุยในเวทีนานาชาติหลายครั้ง

สิ่งต่างๆเหล่านี้ ไม่เพียงแต่อยู่ในสายตาประเทศสมาชิกอาเซียนเท่านั้น ยังหมายรวมถึงมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา เพราะหากถึงวันที่สถานการณ์ใน 'เมียนมา'เข้าสู่สถาวะขับขัน ซึ่งคาดการณ์ว่าไม่เกินเดือนมีนาคม'ไทย' ถูกอาจถูกผลักดันจากอาเซียนให้เข้าไปมีบทบาทอย่างหนึ่งอย่างใด โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้