การบินไทยพ่ายโควิด 'ขาดทุน' พุ่ง 1.4 แสนล้าน

การบินไทยพ่ายโควิด 'ขาดทุน' พุ่ง 1.4 แสนล้าน

จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระทบอุตสาหกรรมการบินโลกอย่างรุนแรง ทำให้จำนวนผู้โดยสารของ บมจ.การบินไทยในปี 2563 มีจำนวน 5.87 ล้านคน หรือลดลงถึง 76.1% และยังมีผลขาดทุนจากการป้องกันความเสี่ยง 5,227 ล้านบาท

จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระทบอุตสาหกรรมการบินโลกอย่างรุนแรง ทำให้จำนวนผู้โดยสารของ บมจ.การบินไทยในปี 2563 มีจำนวน 5.87 ล้านคน หรือลดลงถึง 76.1% และยังมีผลขาดทุนจากการป้องกันความเสี่ยง 5,227 ล้านบาท รวมทั้งขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 895 ล้านบาท ส่งผลให้การดำเนินงานในปี 2563 มีผลขาดทุนสุทธิ 141,180 ล้านบาท

รักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ระบุ การบินไทยจะยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางในวันที่ 2 มีนาคมนี้ โดยที่ผ่านมาได้ขอขยายเวลาส่งแผนฟื้นฟูตามกฎหมายครบทั้ง 2 ครั้ง เพื่อใช้เวลาในการเจรจากับกลุ่มเจ้าหนี้ และจัดทำแผนการเงินให้สมบูรณ์มากที่สุด

การบินไทยยังดำเนินการจัดหารายได้และลดต้นทุน เพื่อบริหารธุรกิจในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ควบคู่ไปกับการจัดทำแผนฟื้นฟูมาโดยตลอด ล่าสุดได้ยื่นคำร้องขออนุญาตขายทรัพย์สิน 4 รายการที่ไม่ได้เป็นทรัพย์สินหลักที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจการบินของลูกหนี้ หรือเป็นทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้ หรือหากเก็บไว้มีแต่จะเสื่อมค่าเสื่อมราคาลง ตลอดจนก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเพิ่มขึ้น

สำหรับทรัพย์สิน 4 รายการ ประกอบด้วย 1.หุ้นสายการบินนกแอร์ 2.หุ้นบมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ 3.เครื่องยนต์ของเครื่องบินโบอิง 737-400 ที่ไม่ได้ใช้งาน จำนวน 5 เครื่องยนต์ และ 4.อาคารศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่ ซึ่งศาลล้มละลายกลางได้ไต่สวนและมีคำสั่งอนุญาตให้ขายทรัพย์สิน ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานหลังจากยื่นแผนฟื้นฟูไปแล้ว เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์จะเรียกประชุมเจ้าหนี้ โดยคาดว่าจะจัดประชุมในวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 หากเจ้าหนี้เห็นชอบแผนฟื้นฟูตามที่การบินไทยเสนอ ศาลล้มละลายกลางจะพิจารณาเห็นชอบแผนฟื้นฟูอีกครั้ง ซึ่งกฎหมายระบุว่าต้องดำเนินการตามแผนให้แล้วเสร็จในช่วงแรก 5 ปี และขยายเวลาได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ปี โดยรวมการบินไทยจะใช้เวลาดำเนินการตามแผนฟื้นฟูไม่เกิน 7 ปี

+++ เจ้าหนี้มีสิทธิ'แก้ไข'แผนฟื้นฟูภายใน 60 วัน +++

​ปลัดกระทรวงการคลัง กฤษฎา จีนะวิจารณะ ระบุ คณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟูการบินไทยได้หารือร่วมกับสถาบันการเงิน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. และเจ้าหนี้มาโดยตลอด หากยื่นแผนต่อศาลแล้วเจ้าหนี้ทั้งหมดสามารถขอปรับปรุงแก้ไขแผนได้ภายใน 60 วัน จึงต้องรอว่าแผนฟื้นฟูจะออกมารูปแบบใด

กระทรวงการคลังซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าหนี้การบินไทยจะต้องนำแผนฟื้นฟูมาพิจารณา ซึ่งแผนสามารถแก้ไขได้ตลอด แต่สุดท้ายแผนฟื้นฟูจะต้องเป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกฝ่าย

ส่วนจะเพิ่มทุนการบินไทย 3-5 หมื่นล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องให้การบินไทยเดินหน้าต่อไปได้ระหว่างดำเนินการแผนฟื้นฟูในระยะแรกนั้น ก่อนจะเพิ่มทุนจะต้องพิจารณารูปแบบแผนฟื้นฟูก่อน เพราะการใส่เงินมีทั้งใส่เงินทุน หรือแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งยังไม่สามารถระบุได้ในขณะนี้

เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ส่งผลให้ทุกสายการบิน รวมถึงการบินไทยไม่สามารถทำการบินได้ตามปกติ อีกทั้งธุรกิจการบินทั่วโลกเผชิญอยู่กับวิกฤตการหดตัวอย่างรุนแรง จากข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ส่งผลให้กระแสเงินสดของบริษัทฯ ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนไม่เพียงพอที่บริษัทฯ จะกลับมาเริ่มทำการบินได้ แม้ว่าบริษัทฯ ได้ใช้ความพยายามอย่างสุดความสามารถในการหารายได้จากหลายๆ ทาง เช่น การจัดให้มีเที่ยวบินรับคนไทยกลับบ้าน เที่ยวบินขนส่งสินค้า และการหารายได้เสริมจากหน่วยธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจการบิน (Non-Air) อาทิ รายได้จากธุรกิจภัตตาคารของฝ่ายครัวการบิน การให้บริการสายการบินลูกค้าของฝ่ายบริการลูกค้าภาคพื้นและฝ่ายบริการอุปกรณ์ภาคพื้น ฝ่ายช่าง รวมทั้งรายได้จากการขายสินค้าใน Thai Shop และทัวร์เอื้องหลวงของสายการพาณิชย์ เป็นต้น

ด้วยเหตุที่กล่าวมา บริษัทฯ จึงได้ยื่นคำร้องขออนุญาตขายทรัพย์สินบางรายการที่ไม่ได้เป็นทรัพย์สินหลักที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจการบินของลูกหนี้ หรือเป็นทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้ หรือหากเก็บไว้มีแต่จะเสื่อมค่าเสื่อมราคาลง ตลอดจนก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาที่เพิ่มขึ้นจำนวน 4 รายการ ได้แก่ 1. หุ้นสายการบินนกแอร์ 2. หุ้นบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 3. เครื่องยนต์ของเครื่องบินโบอิ้ง 737-400 ที่ไม่ได้ใช้งาน (จำนวน 5 เครื่องยนต์) และ 4. อาคารศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่ ซึ่งศาลล้มละลายกลางได้ไต่สวนและมีคำสั่งอนุญาตให้ขายทรัพย์สิน ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องประกาศขายอาคารศูนย์ฝึกอบรม หลักสี่ กรุงเทพมหานคร เนื่องจากในการทำการบินในแต่ละเที่ยวบินนั้น บริษัทฯ จำเป็นต้องมีเงินจำนวนหนึ่ง พร้อมไว้เพื่อชำระให้แก่ผู้ขายสินค้าหรือให้บริการ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำการบินในเที่ยวบินนั้น ๆ เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 คลี่คลายลง และข้อจำกัดด้านการเปิดน่านฟ้าของประเทศไทยและต่างประเทศเอื้ออำนวยจนมีการอนุญาตให้ทำการบิน ทั้งนี้ หากบริษัทฯ ไม่สามารถกลับมาทำการบินได้ นอกจากบริษัทฯ จะเสียโอกาสในการสร้างรายได้จากธุรกิจการบิน ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่บริษัทฯ มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว ยังอาจเสียสิทธิการบินและตารางการบิน (Flight Slot) ในประเทศต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในทรัพย์สินที่ประเมินมูลค่าไม่ได้อันเป็นสาระสำคัญของการประกอบกิจการของบริษัทฯ หากปล่อยให้เกิดความเสียหายดังกล่าวนี้ จะทำให้บริษัทฯ สูญเสียศักยภาพในการแข่งขันไปอย่างถาวร และมีผลกระทบต่อโอกาสในการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ อย่างแน่นอน ซึ่งความเสียหายดังกล่าวหากปล่อยให้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยากที่จะเยียวยาได้ ทั้งนี้ เงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจการบิน เพื่อต่อยอดและสร้างรายได้ให้แก่บริษัทฯ หรือนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจภายใต้ขอบเขตที่สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมายต่อไป

อนึ่ง สำหรับอาคารสำนักงานศูนย์ฝึกอบรมบริเวณหลักสี่ ก็เป็นทรัพย์สินรายการหนึ่งที่ได้ขายตามคำสั่งอนุญาตของศาลล้มละลายในคดีฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ โดยจะดำเนินการขายด้วยวิธียื่นซองเสนอราคา ซึ่งบริษัทฯ เสนอขายที่ดินและอาคารศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่ แบบไม่รวมสิ่งที่ไม่ใช่ส่วนควบของที่ดินและอาคาร และไม่รวมสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ของบริษัทฯ ที่อยู่ในบริเวณอาคาร โดยเสนอขายในลักษณะและสภาพปัจจุบัน ("as is-where is") กล่าวคือ ผู้เสนอราคาจะต้องไม่เรียกร้องให้บริษัทฯ ก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างใดบนที่ดินและศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่ ทั้งนี้ อาคารศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่ ตั้งอยู่ที่เลขที่ 425 ตำบลตลาดบางเขน (ดอนเมือง) อำเภอบางเขน จังหวัดกรุงเทพมหานคร รวมเนื้อที่ทั้งหมด 19 ไร่ 3 งาน 26 ตารางวา หรือ 7,926 ตารางวา

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอรับ TOR ได้ตั้งแต่วันนี้ - 25 กุมภาพันธ์ 2564 และระหว่างวันที่ 1 - 26 มีนาคม 2564 ทางอีเมล [email protected] และสามารถแจ้งความประสงค์ขอเข้าดูพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ได้ ระหว่างวันที่ 1 - 26 มีนาคม 2564 โดยติดต่อ คุณชวัชร์ อันดี โทร. 096-651-5174 ซึ่งบริษัทฯ จะชี้แจงรายละเอียดข้อกำหนดการเสนอราคาและเงื่อนไขการขาย ในวันที่ 29 มีนาคม 2564 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 135 อาคาร 1 ชั้น 13 สำนักงานใหญ่ การบินไทย ทั้งนี้ บริษัทฯ จะจัดให้มีการยื่นซองเสนอราคา ในวันที่ 1 เมษายน 2564 เวลา 9.00 - 16.00 น. ณ ศูนย์บริการงานจัดซื้อ อาคาร 3 ชั้น 1 สำนักงานใหญ่ การบินไทย และจะประกาศผลการคัดเลือกให้ทราบในวันที่ 16 เมษายน 2564 ต่อไป โดยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร 02-545-3251 หรือดูรายละเอียดได้ที่https://www.thaiairways.com/th_TH/about_thai/company_profile/PropertyForSale.page?