'จุรินทร์' สั่งเร่งสอบคดี 'อคส.' จัดซื้อถุงมือยางเอาคนผิดลงโทษ

"จุรินทร์" สั่งเร่งสอบคดี "อคส." จัดซื้อถุงมือยางเอาคนผิดมาลงโทษ มั่นใจทุกสัญญาเป็นโมฆะ เรียกคืนเงินมัดจำ 2 พันล้านได้แน่

วันที่ 25 ก.พ. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ ที่หน้าห้องประชุมวายุภักษ์ 3 ช้ัน 4 โรงแรม เซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ เกี่ยวกับองค์การคลังสินค้า (อคส.) หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่า หัวใจสำคัญที่เป็นภารกิจที่ได้ติดตามมาโดยตลอด คือ การเร่งรัดนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษโดยเร็วและทำอย่างไรเอาเงินคืน อคส.ให้ได้โดยเร็วที่สุด ขณะนี้ขั้นตอนกระบวนการที่ผู้อำนวยการคนใหม่กำลังเร่งรัดดำเนินการ โดยคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงทางวินัยได้ดำเนินการแล้ว โดยได้รับรายงานล่าสุดว่าคาดว่าจะเสร็จเร็วๆ นี้

"ถ้ากรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงได้ชี้ลงไปว่าผู้ใดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีก 2 ชุดเพื่อชี้โทษและอีกชุดหนึ่งเพื่อชี้ความรับผิดชดใช้ค่าเสียหายว่าใครต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับ อคส.จำนวนเท่าใด เป็นกลไกที่จะต้องปฏิบัติโดยเร็วให้เป็นไปตามขั้นตอนกระบวนการกฎหมายตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง อคส."นายจุรินทร์ กล่าว

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องของบอร์ดหรือกรรมการบริหารนั้น ผู้อำนวยการคนใหม่ได้ยื่นเรื่องให้กับ ป.ป.ช. ตั้งแต่วันที่ 23 ก.พ.2563 และ ป.ป.ช.ได้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนแล้ว รวมทั้งอายัดเงินในบัญชีต่างๆ เสร็จสิ้นก่อนหน้านี้นานแล้ว จากนี้ไปเป็นเรื่องที่ ป.ป.ช.จะดำเนินการพิจารณาชี้มูลว่ามีผู้ใดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหรือกระทำการโดยมิชอบบ้าง เพราะ ป.ป.ช.มีอำนาจตั้งแต่ผู้บริหารพนักงานทุกคนรวมถึงบอร์ดหรือรัฐมนตรี

"สำหรับผมได้สั่งการให้ อคส.ตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ว่าต้องให้ความร่วมมือกับ ป.ป.ช.อย่างเต็มที่ เพื่อเร่งรัดในการเอาผู้กระทำความผิดมาลงโทษและเอาเงินมาคืนให้ได้โดยเร็วที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ โดยไม่มีการละเว้นผู้ใดทั้งสิ้น และเป็นเรื่องที่บอร์ดหรือประธานบอร์ดจะต้องพิจารณาว่ายังสมควรที่จะทำหน้าที่อยู่ต่อไปหรือไม่ ส่วนเรื่องการระงับสัญญาได้รับแจ้งจากผู้อำนวยการคนใหม่ว่าฝ่ายกฎหมายได้พิจารณาเบื้องต้นแล้วว่าสัญญาทุกสัญญาเป็นโมฆะ เพราะผู้ลงนามในสัญญาลงนามเกินอำนาจหน้าที่เนื่องจากเป็นเงินเกินกว่า 50 ล้านบาทและไม่ผ่านบอร์ดและสัญญาก็ไม่ผ่านอัยการ เป็นต้น"นายจุรินทร์ กล่าว

นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า เท่าที่ได้รับรายงานนั้นแต่ละสัญญาก็มีข้อบกพร่อง เช่น ผู้ลงนามแทนบริษัทไม่มีอำนาจหรือบางกรณีเซ็นต์ไปแล้วไม่มีตราประทับบริษัทที่จดทะเบียนไว้ถูกต้องตามกฎหมายส่งผลให้สัญญาเป็นโมฆะนี่เป็นความเห็นเบื้องต้นของฝ่ายกฎหมายเพราะฉะนั้น 125,000 ล้านบาท ที่อยู่ในสัญญาก็เสมือนไม่ได้มีนิติกรรมผูกพันกับ อคส.สัญญานั้นไม่เกิดขึ้นภารกิจที่เหลือคือทำอย่างไรที่จะนำเงิน 2,000 ล้านบาท ที่อดีตรักษาการผู้อำนวยการโอนไปให้กับบริษัทนั้นคืนมาให้ได้โดยเร็วที่สุดโดย ป.ป.ช.ได้อายัดบัญชีเหล่านั้นแล้ว