พลังงาน-สกพอ.เร่งแผนไฟฟ้า อีอีซีต้องการเพิ่ม3หมื่นเมกกะวัตต์

พลังงาน-สกพอ.เร่งแผนไฟฟ้า อีอีซีต้องการเพิ่ม3หมื่นเมกกะวัตต์

“พลังงาน-อีอีซี” เร่งวางแผนผลิตไฟฟ้ารองรับความต้องการของ อีอีซี คาดจะใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกว่า 3 หมื่นเมกะวัตต์ ระบุ ต้องมีความชัดเจนภายในปีนี้ เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าให้ทันต่อความต้องการภายใน 5 ปี พร้อมจัดทำตลาดพลังงานหมุนเวียน รองรับอุตสาหกรรมสีเขียว

การผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะทำให้ความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ในขณะที่การสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ต้องใช้เวลา 5-7 ปี จึงต้องมีแผนผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ขณะนี้ เพื่อให้มีไฟฟ้าทันกับความต้องการ

กระทรวงพลังงานได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2564 เพื่อวางแผนเตรียมความพร้อมด้านพลังงานในอีอีซี และการผลักดันโครงการลงทุนปิโตรเลียมระยะที่ 4

พรชัย รุจิประภา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เปิดเผยภายหลังการหารือว่า แม้โควิด-19 จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนไทยชะลอตัวบ้าง แต่สถิติการใช้ไฟฟ้าล่าสุดชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้ว โดยภาคอุตสาหกรรมการใช้ไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นจนเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เหลือเพียงภาคโรงแรมที่ต้องใช้เวลา หากการเดินทางกลับมาเป็นปกติก็จะฟื้นขึ้นมาทันที

ดังนั้นจึงมองว่าแผนการลงทุนในอีอีซีของภาคเอกชนจะกลับจะปกติจึงต้องเร่งวางแผนด้านพลังงาน เพื่อรองรับการขยายตัวในอนาคต ซึ่งหากโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้าความเส็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 และท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 

รวมถึงเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) และเมืองใหม่สมาร์ทซิตี้หลายเมืองจะทำให้ต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกว่า 4 พันเมกะวัตต์ ในอีก 10 ปีข้างหน้า

161434779171

นอกจากนี้ ยังไม่รวมโรงงานเก่าที่จะขยายการลงทุนและโรงงานที่จะตั้งฐานการผลิตในอีอีซี ซึ่งจากการประเมินตัวเลขสะสมการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่มีมูลค่าการลงทุนในอีอีซี 3 แสนล้านบาท เบื้องต้นคาดว่าใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 2-3 หมื่นเมกะวัตต์ รวมทั้งในอนาคตที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายในปี 2573 การผลิตรถในไทยจะมียานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) 30% ทำให้ต้องใช้ไฟฟ้าสำหรับรถยนต์อีวีเพิ่มหลายร้อยเมกะวัตต์

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะมาตั้งในอีอีซีล้วนเป็นอุตสาหกรรมใช้เทคโนโลยีชั้นสูง รวมทั้งการชาร์จไฟฟ้าในอีวีล้วนต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง ไม่กระจุก ไฟตก ฟรือไฟฟ้าดับ หากเกิดขึ้นจะสร้างความเสียหายให้โรงงานและอุตสาหกรรมไฮเทค ทำให้ความมั่นคงและคุณภาพของไฟฟ้าจึงเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่นักลงทุนจะให้ความสำคัญ

ประกอบกับการตั้งโรงไฟฟ้าใหม่หากเป็นโรงไฟฟ้าทั่วไปจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี ในการวางแผน ออกแบบและก่อสร้างโรงไฟฟ้า แต่หากเป็นการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าจะใช้เวลา 7-8 ปี ซึ่งจากปริมาณไฟฟ้าสำรองของไทยในขณะนี้มี 30% เพียงพอรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยถึงปี 2569-2570 ในตอนนั้นจะเหลือปริมาณสำรองไฟฟ้าเพียง 15-16% ซึ่งเป็นปริมาณที่มีความเสี่ยงสูงมากต่อความมั่นคงและคุณภาพกระแสไฟฟ้า ดังนั้นต้องเร่งวางแผนและสรุปภายในปี 2564 จึงจะสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทัน

“อีก 4-5 ปีข้างหน้า จะมีโรงไฟฟ้าเก่าที่ต้องปลดออกจากระบบ 4-5 พันเมกะวัตต์ ประกอบกับเศรษฐกิจที่ขยายตัวทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ดังนั้นทุกฝ่ายต้องเร่งวางแผนการกำลังผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้กระทบความเชื่อการลงทุน ซึ่งล่าสุดได้ตั้งคณะกรรมการร่วมกับกระทรวงพลังงาน สกพอ.และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องวางแผนเรื่องนี้”

นอกจากนี้ แผนพลังงานในอีอีซีเสนอทำตลาดไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสการรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกที่มีมากขึ้น ทำให้มีโรงงานจำนวนมากต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานลม แสงอาทิตย์ น้ำ 

รวมทั้งในอีอีซีก็มี โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน” อยู่แล้ว หากทำเป็นตลาดเฉพาะขึ้นมา และให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดราคาที่เหมาะสมจากต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงหลักจะช่วยส่งเสริมให้เกิดธุรกิจผลิตไฟฟ้าหมุนเวียนที่เข้มแข็ง รวมทั้งโรงงานที่ใช้ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเหล่านี้ประกาศตัวเป็นธุรกิจสีเขียวที่รักษาสิ่งแวดล้อมได้เต็มที่ เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างแบรนด์ที่ดีในตลาดต่างประเทศ และในอนาคตกระแสความต้องการพลังงานสีเขียวจะเพิ่มมากขึ้น

“สกพอ.ต้องประเมินจำนวนโรงงานและปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าพลังงานสีเขียวว่ามีมากน้อยแค่ไหน เพื่อจะได้วางแผนการผลิตและการบริหารจัดการได้ทัน และตอบสนองต่อความต้องการผู้ประกอบการได้ตรงจุด ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นจุดหนึ่งในการสร้างความน่าสนใจให้อีอีซี”

นอกจากนี้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานเร่งทำแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 4 เพราะจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า และไทยมีพื้นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมานาน 30-40 ปี ทำให้ให้มีความเชี่ยวชาญสูงสู้กับต่างประเทศได้ หากได้รับการต่อยอดส่งเสริมในระยะที่ 4 หรือ การยกระดับไปสู่ปิโตรสีเขียว ที่เน้นการนำกลับมาใช้ใหม่ และเคมีชีวภาพ จากพื้นฐานวัตถุดิบการเกษตรของไทย ก็จะทำให้ไทยกว้างขึ้นมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ และแข่งขันได้กับทุกประเทศทั่วโลก 

รวมทั้งสอดคล้องต่อความต้องการของโลกในอนาคต โดยคาดว่าภายในเดือน มี.ค.นี้ จะผ่านการประชาพิจารณ์ครั้งสุดท้าย และจะนำไปสู่การเดินหน้าดำเนินงานให้เป็นรูปธรรม

“หากไทยไม่มีแผนส่งเสริมปิโตรเคมีระยะที่ 4 อุตสาหกรรมนี้อาจย้านฐานไปประเทศอื่นที่มีขนาดตลาดที่น่าสนใจกว่าไทยได้ ซึ่งแผนฉบับนี้ จะช่วยให้เกิดการต่อยอด และการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมนี้ของไทยไปสู่ปิโตรเคมีชั้นสูงที่โลกมีความต้องการมากในอนาคต ซึ่งยังคงทำให้ไทยยังคงเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ต่อไปได้ และยังต่อสู้กับประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีน ตะวันออกกลาง และสหรัฐได้”