เอกชนรอรัฐไฟเขียวนำเข้าวัคซีนโควิด-19 เพิ่มทางเลือกคนไทยเข้าถึง
รพ.เอกชน รอสัญญานรัฐบาล ไฟเขียวนำเข้าวัคซีนโควิด-19 เพิ่มทางเลือกให้ประชาชนชาวไทย คาดหลังฉีดสถานการณ์ดีขึ้น แนะ พาสปอร์ตวัคซีน อาจต้องเริ่มในประเทศ หรือรูปแบบบับเบิ้ล เนื่องจากความแตกต่างการใช้วัคซีนแต่ละประเทศ คาดทั่วโลกฉีดครบ 75% ต้องใช้เวลา 5 ปี
นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนอาเซียน และกรรมการผู้จัดการ รพ.เมดพาร์ค กล่าวว่า วัคซีนซึ่งเกิดขึ้นเพื่อช่วยให้ประชากรมีภูมิคุ้มกันส่วนหนึ่ง เกิดการเจ็บป่วยหนักลดลง แต่ไม่ใช่ทุกประเทศที่ผลิตและวิจัยได้ วัคซีนขณะนี้ใครหาได้ก็เป็นประโยชน์กับประเทศนั้นๆ ในประเทศเพื่อนบ้าน สิงคโปร์ ถือว่าฉีดมากที่สุด เพราะเขายอมจ่ายแพง และมองว่าการลงทุนคุ้มค่า เขาเริ่มต้นธุรกิจในประเทศได้เร็วขึ้น หากเดินหน้าธุรกิจไม่ได้ก็แย่
“ทั้งนี้หลักการนำเข้าวัคซีนในประเทศไทย จะต้องถูกพิสูจน์โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ว่าใช้ได้หรือไม่ได้ ภายใต้มาตรฐานเดียวกันทั่วโลก และต้องเลือกว่ากลุ่มไหนที่ให้ดีกว่าไม่ให้ก็ต้องฉีด ซึ่งตอนนี้มีการกำหนดบุคลากรทางการแพทย์ที่อายุต่ำกว่า 60 ปี”
ที่ผ่านมา สมาคมโรงพยาบาลเอกชน หรือ โรงพยาบาลเอกชน มีหลายเจ้าติดต่อเข้ามาทั้งจากจีน ไฟเซอร์-ไบออนเทค , โมเดิร์นนา ฯลฯ ดังนั้น ขณะนี้ ภาคเอกชน จึงกำลังรอสัญญานจากรัฐบาล คิดว่าการนำเข้าไม่น่าจะมีปัญหามาก แต่อย่างที่บอกว่าต้องยื่นขอความเห็นชอบจาก อย. และกรมวิทยาศาสตร์แล้วจึงจะใช้ได้ โดยขณะนี้ความเชื่อมั่นในวัคซีนมีเพิ่มมากขึ้น จากเดิมมีคนอยากฉีดเพียง 20-30 % ตอนนี้สูงขึ้น 70-80% สำหรับ รพ.เอกชน ในแถบอาเซียน คิดว่าทุกประเทศภาครัฐจะมีประสิทธิภาพสูงกว่าในเรื่องของทุน และทางกฎหมาย เช่น วัคซีนโควิด-19 จริงๆ แล้ว หลักการยังนำเข้ามาไม่ได้ ต้องใช้มาตราพิเศษของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพราะหลักการจัดซื้อ หากซื้อต้องได้ของ แต่วัคซีนโควิด-19 ต้องจ่ายเงินมัดจำไว้ก่อน
นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า วัคซีนตอนนี้มี 2 ส่วน คือ วัคซีนที่เอกชนจะจัดหามาเพื่อบริการลูกค้าของเขา และ วัคซีนที่รัฐบาลจะให้กับบุคลากรทางด้านสาธารณสุข ที่รวมทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะบุคลากรสาธารณสุข มีจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับประเทศอื่น เรามีแพทย์ 4 คนต่อประชากรหมื่นคน ในขณะที่ประเทศอื่น เช่น มาเลเซีย มี 13 คนต่อประชากรหมื่นคน สิงคโปร์มีราว 20 คนต่อประชากรหมื่นคน และ สหรัฐฯ มีราว 40 คนต่อประชากรหมื่นคน เพราะฉะนั้น แพทย์ในไทยมีน้อยมาก จึงต้องปกป้องกลุ่มนี้ เป็นสาเหตุว่าทำไมประเทศไทยต้องดำเนินนโยบายในการควบคุมเข้มข้น และให้มีผู้ติดเชื้อน้อยโดยเฉลี่ยน้อยกว่าประเทศอื่น เพราะบุคลากรทางด้านสาธารณสุขมีน้อย
“หลังจากฉีดวัคซีน คาดว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น เพราะในสหรัฐอเมริกา ซึ่งติดเชื้อเยอะ เสียชีวิตเยอะ พบว่าสถิติลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แสดงว่าวัคซีนมีประโยชน์มาก” นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าว
ด้าน “ผศ.นพ. มนต์เดช สุขปราณี” กรรมการบริหาร และ แพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อ รพ.เมดพาร์ค กล่าวว่า เนื่องจากประชากรของไทยรัฐบาลเป็นเจ้าภาพ และรัฐบาลตั้งเป้าให้ประชาชนได้รับครอบคลุมอย่างน้อย 50% หรือ 33 ล้านคนภายในปี 64 ดังนั้น รพ.เอกชนจะเป็นทางเลือกให้กับประชากรกลุ่มที่ต้องการเลือกว่าอยากฉีดวัคซีนแบบไหน หากต้องการวัคซีนที่ประสิทธิภาพสูง ราคาไม่เกี่ยง ก็จะเป็นไฟเซอร์-ไบออนเทค และ โมเดอร์นา ซึ่งทางรัฐบาลก็ยืนยันว่าไม่ได้ปิดกั้น ให้เสนอไป อนุญาตให้นำเข้าได้ หากมีผลในทางปฏิบัติได้จริง วัคซีนที่เห็นหลากหลายประชาชนก็คงจะได้เลือกใช้ตามความต้องการ
“เป้าหมายของเมดพาร์ค คือ ดูแลคนไทยให้ได้ดีที่สุดอย่างไร ต้องยอมรับว่าวัคซีนตัวที่อนุมัติทุกตัว ใช้ได้หมด เป็นทางเลือกของทุกคน ส่วนชาวต่างชาติ ต้องดูมาตรฐานของประเทศของเขาว่าใช้มาตรฐานอะไร เช่น สหรัฐฯ ยุโรป คงจะโฟกัสที่ไฟเซอร์-ไบออนเทค และ โมเดอร์นา ดังนั้น เมดพาร์คจะพยายามนำเข้าในส่วนที่รัฐบาลไม่ได้นำเข้า เพราะต้องการสร้างทางเลือกให้มากที่สุดให้กับกลุ่มคนต่างๆ ตามเศรษฐสถานะแต่ละบุคคล ขณะที่ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ขึ้นอยู่กับความชัดเจนของฝ่ายรัฐบาล ซึ่งมีความชัดเจนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา รพ.เมดพาร์ค มีตู้แช่ -80 องศา ซึ่งแต่เดิมสั่งเข้ามาเพื่อใช้ในการศึกษา ทดสอบ ดังนั้น จึงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หากมีวัคซีนที่ต้องแช่ในอุณหภูมิติดลบมาก” ผศ.นพ. มนต์เดช กล่าว
- พาสปอร์ตวัคซีนบับเบิ้ล
สำหรับในแง่ของพาสปอร์ตวัคซีน ผศ.นพ. มนต์เดช ให้ความเห็นว่า อังกฤษเป็นประเทศริเริ่มพาสปอร์ตวัคซีนเพราะมีปัญหาเชื้อดื้อยาค่อนข้างเยอะ ส่วนประเทศอื่นยังไม่พูดถึงเรื่องนี้ สหรัฐฯ ก็กำลังพิจารณาอยู่ สำหรับประเทศไทย ต้องเข้าใจว่าวัคซีนที่ใช้ในแต่ละที่ ประสิทธิภาพไม่เท่ากัน การยอมรับไม่เท่ากัน เช่น หากฉีดซิโนแวค แล้วออกพาสปอร์ตซิโนแวค เขาจะรับหรือไม่ ความจริงแล้ว พาสปอร์ตวัคซีนขณะนี้ใช้ได้ในประเทศเท่านั้น ที่จะยอมรับกันเอง แต่หากไปประเทศสหรัฐฯ อังกฤษ ก็อาจจะต้องกักตัว ดังนั้น ความเป็นไปได้ต้องเป็นบับเบิ้ลของตัวเอง ในประเทศของตัวเองก่อน
“เช่น อิสราเอล มีกรีนพาสปอร์ต เข้ายิมได้ เพราะฉีดไฟเซอร์-ไบออนเทค แล้ว 2 เข็ม เป็นความชัดเจนในทางปฏิบัติภายในประเทศ แต่จะข้ามประเทศอาจะไม่เท่ากัน วัคซีนก็ไม่เหมือนกัน น่าจะใช้เวลาสักพักหนึ่ง แต่หากเป็นประเทศเพื่อนบ้านก็อาจจะต้องมีการตกลงกัน เป็นบับเบิ้ล ว่าเขารับเราหรือไม่”
ทั้งนี้ หลังจากที่มีการฉีดวัคซีน จะเห็นได้จากประเทศที่ล่วงหน้าไปแล้วในการฉีดวัคซีนว่าได้ผล แต่คำว่าได้ผล คือ อัตราการป่วยลดลง เข้ารพ.ลดลง การเสียชีวิตลดลง แต่อัตราการติดเชื้อ และการแพร่เชื้อต้องดูต่อ ซึ่งมีแอสตร้าเซเนก้า เท่านั้นที่บอกว่าลดอัตราการแพร่เชื้อได้ ซึ่งก็ยังเป็นข้อมูลด้านเดียว
- คาดฉีดวัคซีน 75% ทั่วโลกใช้เวลา5ปี
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) และ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐ (CDC) คำนวณปริมาณวัคซีนที่เพียงพอจะคำนวณในปริมาณพื้นฐานของประชากรที่ 75% ดังนั้น สหรัฐอเมริกา คำนวณว่าหากฉีดวัคซีนด้วยความเร็วเช่นในปัจจุบัน จะใช้เวลา 10 เดือน จะถึงเป้าหมาย 75% ของประชากร ขณะที่ในแง่ของทั่วโลก จะเห็นว่าอัตราการฉีดวัคซีนในปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งหมด 92 ประเทศ ต้องใช้เวลาประมาณ 5 ปี เพื่อครอบคลุม 75% ของประชากรโลก ซึ่งยังไม่นับอุปสรรคอะไรเพิ่มเติม
“ข้อมูล ณ วันที่ 24 ก.พ. 64 ปริมาณวัคซีที่ฉีดแล้วในสหรัฐฯ อยู่ที่ 64.2 ล้านโดส เฉลี่ย 1.37 ล้านโดสต่อวัน เทียบเป็นโดสต่อประชากร 100 คน จะเท่ากับ 19.3 โดสต่อ 100 คน โดยมีคนทั้งหมด 44.1 ล้านคนที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส และ 19.4 ล้านคน ที่ได้รับวัคซีน 2 โดส โดยเป็นวัคซีน 2 ประเภท คือ ไฟเซอร์-ไบออนเทค 33.3 ล้านโดส โมเดอร์นา 31.5 ล้านโดส ดังนั้น เมื่อฉีดด้วยเรทประมาณนี้สหรัฐฯ จะฉีดได้ครบ 75% ภายใน 10 เดือน”
ทั้งนี้ แนวโน้มหลังจากที่มีการฉีดวัคซีนในสหรัฐอเมริกา พบว่า ถึงแม้ว่ายังฉีดไม่มาก แต่ใน 1 เดือนที่ผ่านมาแนวโน้มของผู้ป่วยใหม่ลดลงตลอด 30 วัน และอัตราการเสียชีวิตที่แต่เดิมค่อนข้างสูงลดลงเช่นกัน ขณะที่มีการคาดการณ์ว่า ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในสหรัฐฯ จะลดลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว อนุมานได้ว่าเป็นผลมาจากการฉีดวัคซีนในสหรัฐฯ แม้ปริมาณจะยังไม่ครอบคลุมก็ตาม แต่ที่ฉีดไปแล้วให้ผลในทางบวก ส่วนการเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนไม่มี
ขณะที่ทั่วโลก ได้รับวัคซีนไป 209 ล้านโดส ครอบคลุม 92 ประเทศ อัตราการฉีดวัคซีนในคนทั่วโลก 6.24 ล้านโดสต่อวัน หากด้วยอัตรานี้คนทั่วโลก 75% จะได้รับวัคซีนครบ ภายใน 5 ปี ซึ่งช้ามาก โดยประเทศอันดับ 1 คือ อิสราเอล ได้รับวัคซีนครอบคลุมมากที่สุด เฉลี่ยน 82.3 โดส ต่อประชากร 100 คน
- อังกฤษฉีดไฟเซอร์โดสแรกให้มากที่สุด
ผศ.นพ. มนต์เดช กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่น่าสนใจ และน่าเรียนรู้ คือ ประเทศที่อยู่ในภาวะที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ โจทย์ของเขายากว่าเราเยอะ คือ ทำอย่างไรให้คนเสียชีวิตน้อยลง และคนไม่ต้องแอดมิทเข้า รพ. มาก ดังนั้น ต้องหาวิธีที่ว่าจะฉีดวัคซีนแบบไหนเพื่อให้ตรงวัตถุประสงค์ของเขาได้ ยกตัวอย่างเช่น อังกฤษ อนุมัติวัคซีนของไฟเซอร์เมื่อต้นเดือนธันวาคม แต่เนื่องจากมีเคสเยอะ ตายสูง เป้าหมาย คือ ทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้ลดลงเร็วที่สุด
อังกฤษ จึงฉีดไฟเซอร์โดสแรก ส่วนโดสที่สองดีเลย์ ยังไม่ฉีด ซึ่งปกติต้องฉีดภายใน 2 สัปดาห์ แต่เขายังไม่ฉีด เขาพยายามเอาวัคซีนที่มีอยู่ทั้งหมดฉีดให้ครอบคลุมคนให้ได้มากที่สุดในโดสแรก และตามดูว่าอะไรเกิดขึ้นบ้าง และค้นพบตัวเลขที่น่าสนใจว่า หลังจากฉีดไปแค่โดสเดียว ปรากฏว่าประสิทธิภาพสูงกว่า 72% และสามารถลดอัตราการเข้ารพ.หรืออัตราตาย 75%
ส่วนคนอายุมากกว่า 80 ปี สามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้มากถึง 50% ในแค่โดสเดียว วิธีการอนุมัติแบบนี้ได้รับการปรึกษาหารือกันโดยสมาคมแพทย์ทางด้านภูมิคุ้มกัน และผู้เชี่ยวชาญในระดับประเทศว่าน่าจะเป็นวิธีที่มีประโยชน์มากกว่า อังกฤษ กำลังพิสูจน์ ว่าต้องการให้คนได้รับวัคซีนครอบคลุมให้ได้มากที่สุด ถึงแม้จะไม่ใช้วิธีที่ดีที่สุด ซึ่งก็ได้ผลดี
รายงานเหล่านี้ถูกยืนยันด้วยประเทศอิสราเอล ซึ่งเป็นด่านหน้าที่ฉีดไฟเซอร์-ไบออนเทค ไปครบ 2 โดส รัฐบาลอิสราเอล ออกมาชี้แจ้งหลังจากอนุมัติฉีดให้เร็วและครบ 2 โดสมากที่สุด ปรากฏว่าผลออกมาดีกว่าตัวเลขการวิจัยของสหรัฐฯ ซึ่งบริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค ยืนยันว่าหากฉีดครบ 2 โดส ประสิทธิภาพ 95% แต่รัฐบาลอิสราเอลบอกว่าเมื่อนำไปใช้จริง ประสิทธิภาพอยู่ที่ 98.5% สามารถป้องกันไม่ให้คนไข้ต้องแอดมิทเข้ารพ.กว่า 99% เรียกว่ายืนยันทั้งการวิจัยในมนุษย์และนำไปใช้จริง
สำหรับประเทศไทย จะเป็นการฉีดตามคำแนะนำของบริษัท โดย ซิโนแวค ฉีดภายใน 2 สัปดาห์ ดังนั้น ต้องบริหารจัดการให้ดี ขณะที่ แอสตร้าเซเนก้า น่าจะง่ายต่อการบริหารจัดการ เพราะฉีด 1 เข็มภูมิคุ้มกันอยู่ได้นานที่สุด 90 วัน ดังนั้น มองว่าน่าจะฉีดแอสตร้าเซเนก้า ให้มากที่สุด เพราะมีเวลากว่า 3 เดือนที่จะหาเข็มที่ 2 ประเทศไทยตอนนี้ต้องมองว่าเรามีอะไรและทำอย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะทำได้