สีส้มวุ่นไม่เลิก! รฟม.เลื่อนฟังความเห็นร่าง TOR

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ได้เลื่อนกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อนำมาประกอบการจัดทำร่างเอกสารยื่นข้อเสนอโครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวิทวงศ์) ออกไปก่อน

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ได้เลื่อนกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อนำมาประกอบการจัดทำร่างเอกสารยื่นข้อเสนอโครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวิทวงศ์) ออกไปก่อน จากเดิมที่กำหนดเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางออนไลน์เป็นวันแรกในวันนี้ โดยให้เหตุผลว่าเจ้าหน้าที่ยังจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบความคิดเห็นยังไม่เสร็จและยังไม่ได้รับแจ้งว่าจะมีการจัดทำเอกสารขึ้นเว็บไซต์รฟม. ในวันที่ใด

ก่อนหน้านี้ ผู้ว่าการ รฟม. ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ กล่าวว่า กระบวนการประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่ หลังจากที่รฟม.ประกาศแจ้งยกเลิกการประกวดราคารอบก่อนหน้านี้ผ่านทางเว็บไซต์ไปเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 โดยกำหนดในวันที่ 1 มีนาคม รฟม.จะเริ่มกระบวนการประกวดราคารอบใหม่ ซึ่งจะประกาศเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อนำมาประกอบการจัดทำร่างเอกสารยื่นข้อเสนอโครงการ หรือ RFP และเปิดรับฟังความคิดเห็นเป็นการทั่วไปในประเด็นต่างๆ เช่นเงื่อนไขการประกวดราคา การแบ่งซองข้อเสนอ รวมถึงการคำนวณคะแนนข้อเสนอเพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะว่าควรเป็นอย่างไร โดยมีกรอบระยะเวลาเปิดรับฟังความคิดเห็น 15 วัน หลังจากนั้นจะเปิดให้เอกชนเสนอความเห็นอีก 3 วัน

หลังจากนั้น รฟม.จะนำข้อมูลจากการรับฟังความคิดเห็นมาประกอบการจัดทำ RFP ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้ และจะประกาศขายซองข้อเสนอได้ภายในเดือน เมษายน 2564 และจะเสนอผลการคัดเลือกผู้ชนะให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในเดือนสิงหาคม 2564 และหากการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้วเสร็จ รฟม.จะเร่งรัดให้เอกชนผู้ชนะประมูลเริ่มงานก่อสร้างทันทีภายในปีนี้

ที่ผ่านมา บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS หนึ่งในผู้ยื่นซองประมูลได้ยื่นฟ้อง รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กรณีคณะกรรมการคัดเลือกฯมีมติยกเลิกการประมูลสายสีส้มโดยไม่รอฟังคำพิพากษาศาลปกครองว่าการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการประมูล หรือTOR หลังจากขายเอกสารประมูลไปแล้ว สามารถดำเนินการได้หรือไม่ และการเปลี่ยนแปลง TOR ดังกล่าวมีเหตุผลเป็นที่ยอมรับ หรือเป็นการเอื้อประโยชน์เอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่