‘บิทคอยน์’ ธุรกรรมทำโลกร้อน
‘บิทคอยน์’ ธุรกรรมทำโลกร้อน โดยเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทวงการคลังของสหรัฐ ระบุว่า บิทคอยน์เป็นวิธีการทำธุรกรรมที่ไร้ประสิทธิภาพอย่างยิ่ง ต้องใช้พลังงานมหาศาลในการประมวลผลธุรกรรม
เราได้ยินเรื่องราวมหาเศรษฐีบิทคอยน์กันมามากแล้ว รายล่าสุดคืออีลอน มัสก์ ที่เทสลา บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าของเขาได้กำไรทางตัวเลขกว่า 900 ล้านดอลลาร์ (มูลค่าเมื่อต้นเดือน ก.พ.) หลังเข้าซื้อบิทคอยน์ 1.5 พันล้านดอลลาร์ การสนับสนุนอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูครั้งนี้ช่วยดันราคาบิทคอยน์พุ่งกว่า 58,000 ดอลลาร์
แต่ใช่ว่าราคาสินทรัพย์ดิจิทัลจะพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดตลอดกาลแต่เพียงฝ่ายเดียว การใช้พลังงานก็สูงขึ้นด้วย
ยิ่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากสกุลเงินเสมือนนี้ชัดเจนขึ้นเท่าใด บิทคอยน์ก็ถูกวิจารณ์มากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะจากคนดังรวมทั้งเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ที่เรียกบิทคอยน์ว่า “วิธีการทำธุรกรรมที่ไร้ประสิทธิภาพอย่างยิ่ง ต้องใช้พลังงานมหาศาลในการประมวลผลธุรกรรม”
เว็บไซต์บีบีซีรายงานว่า แม้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าบิทคอยน์ใช้พลังงานมากแค่ไหน แต่มีความเห็นตรงกันว่า เงินเสมือนถูกออกแบบมาให้หายาก การขุดบิทคอยน์จึงเป็นธุรกิจที่ใช้พลังงานสูงมาก คำนวณแล้วน่าจะใช้พลังงานปีละราว 40-445 เทราวัตต์ชั่วโมง ค่าประมาณกลางราว 130 เทราวัตต์ชั่วโมง
ศูนย์การเงินทางเลือกมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (ซีซีเอเอฟ) ประเมินการใช้ไฟของบิทคอยน์ และการใช้ไฟอย่างมหาศาลของนักขุดบิทคอยน์นี่เองทำให้เกิดมลพิษ
ทีมงานซีซีเอเอฟสำรวจการใช้พลังงานของคนที่จัดการเครือข่ายบิทคอยน์ทั่วโลกพบว่า ราว 2 ใน 3 มาจากพลังงานฟอสซิล เทคโนโลยีบล็อกเชนที่อยู่เบื้องหลังบิทคอยน์ถูกออกแบบมาให้ใช้พลังคอมพิวเตอร์มหาศาลเท่ากับว่าต้องใช้พลังงานมากตามไปด้วย และต้องอาศัยการกระจายข้อมูลไปยังเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดมหึมา
นักขุดบิทคอยน์คือคนที่ได้ค่าตอบแทนจากการช่วยเก็บข้อมูล ตรวจสอบและบันทึกทุกๆ ธุรกรรมของบิทคอยน์ได้อย่างอิสระ ในความเป็นจริงบิทคอยน์ก็คือรางวัลที่นักขุดได้จากการรักษาบันทึกไว้อย่างแม่นยำนั่นเอง
จีนา ปีเตอร์ส อาจารย์เศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยชิคาโก ที่ร่วมทีมวิจัยกับซีซีเอเอฟ อธิบายว่า ก็เหมือนกับล็อตเตอรีที่ทำงานทุก 10 นาทีี
ศูนย์ประมวลข้อมูลทั่วโลกแข่งกันสะสมและส่งบันทึกธุรกรรมในลักษณะที่ยอมรับได้ให้กับระบบ ทั้งยังต้องเดาตัวเลขสุ่ม คนที่ส่งบันทึกเข้าไปคนแรกและตัวเลขถูกต้องก็ได้รางวัลไปแล้วกลายเป็นบล็อกใหม่ในบล็อกเชน ถึงตอนนี้พวกเขาได้รางวัล 6.25 บิทคอยน์ มูลค่าราว 50,000 ดอลลาร์ต่อบิทคอยน์
ทันทีที่มีคนถูกรางวัล ตัวเลขใหม่ก็จะถูกสร้างขึ้น แล้วกระบวนการทั้งหมดก็เริ่มต้นอีกครั้ง ปีเตอร์สกล่าวว่า ยิ่งราคาสูงยิ่งมีนักขุดลงมาเล่นในเกมมากขึ้น
“พวกเขาอยากมีรายได้ นั่นคือสิ่งที่ทำให้เขาต้องใช้คอมพิวเตอร์ที่ทรงพลังมากขึ้นๆ เพื่อเดาตัวเลขของการสุ่มนี้ การใช้พลังงานจึงสูงขึ้น” ปีเตอร์สกล่าว
อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บิทคอยน์กินไฟคือ ซอฟท์แวร์ที่มั่นใจว่าใช้เวลา 10 นาทีไขปริศนาตัวเลข ดังนั้นเมื่อมีนักขุดบิทคอยน์เพิ่มขึ้น ปริศนาก็ยิ่งแก้ได้ยากขึ้น จำเป็นต้องได้คอมพิวเตอร์กำลังแรงมาใช้
บิทคอยน์ถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้ต้องใช้คอมพิวเตอร์กำลังสูงมากขึ้นทุกที แนวคิดคือยิ่งมีคอมพิวเตอร์หลายเครื่องมาแข่งกันเพื่อรักษาบล็อกเชนความปลอดภัยก็มากขึ้น เพราะใครก็ตามที่ต้องการทำลายระบบจะต้องควบคุมและดำเนินการให้ได้เท่ากับพลังคอมพิวเตอร์ของนักขุดที่เหลือรวมกัน
ซีซีเอเอฟพบว่า การขุดบิทคอยน์ทั้งปีใช้พลังงานมากกว่าอาร์เจนตินาทั้งประเทศ อยู่ที่ราว
121.36 เทราวัตต์ชั่วโมง และไม่มีทีท่าจะลดน้อยถอยลงจนกว่าราคาบิทคอยน์จะร่วง ส่วนการใช้ไฟของอาร์เจนตินาอยู่ที่ 121 เทราวัตต์ชั่วโมง เนเธอร์แลนด์ 108.8 เทราวัตต์ชั่วโมง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 113.20 เทราวัตต์ชั่วโมง และใกล้เคียงกับนอร์เวย์ที่ 122.20 เทราวัตต์ชั่วโมง สหราชอาณาจักรใช้ไฟปีละ 300 เทราวัตต์ชั่วโมงเศษๆ พลังงานที่ใช้สำหรับขุดบิทคอยน์มากพอใช้กับกาต้มน้ำทุกใบในสหราชอาณาจักรเป็นเวลา 27 ปี
อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ไฟฟ้าที่เปิดไว้แล้วไม่ได้ใช้ในบ้านเรือนสหรัฐอย่างเดียวปีหนึ่งๆ สามารถป้อนเครือข่ายบิทคอยน์ทั้งหมดได้ถึง 1 ปี
สถานการณ์แบบนี้มัสก์เองก็โดนสวด การที่บริษัทผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างเทสลาลงทุนในบิทคอยน์ ช่างสวนทางกับจุดยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่บริษัทเคยทำมา
“อีลอน มัสก์ โยนสิ่งดีๆ มากมายที่เทสลาเคยทำในการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านพลังงานทิ้งไปเสียหมด นี่เลวร้ายมาก ผมไม่คิดเขาจะกลับมาเหมือนเดิมได้อีก ปี 2563 เทสลาได้เงินอุดหนุนสิ่งแวดล้อม 1.5 พันล้านดอลลาร์ เป็นเงินจากผู้เสียภาษี แต่เขากลับไปลงทุน1.5 พันล้านดอลลาร์ในบิทคอยน์ ที่ส่วนใหญ่ขุดกันโดยใช้ไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหิน เงินอุดหนุนที่ให้เทสลาจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบ” เดวิด เจอราร์ด ผู้เขียนหนังสือAttack of the 50 Foot Blockchain ให้ความเห็น พร้อมเสนอให้เก็บภาษีคาร์บอนกับสกุลเงินเสมือนเพื่อปรับสมดุลกับการใช้ไฟฟ้าเกินขอบเขต