เกษตรฯจ่อ 'ลด' ดอกเบี้ยอุ้มชาวสวนกล้วยไม้

เกษตรฯเดินหน้าลดดอกเบี้ย อุ้มเกษตรกรชาวสวนกล้วยไม้ หลังพ่ายโควิด-19 ไร้คนสั่งซื้อ ขณะที่ผู้นำเข้ารายใหญ่คือจีนงดออเดอร์

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ระบุ จากการลงพื้นที่จังหวัดนครปฐม เพื่อรับฟังปัญหาสหกรณ์ประกอบการกล้วยไม้ไทย พบว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้ของเกษตรกรชาวสวนกล้วยไม้ลดลงอย่างมาก แต่ยังคงมีรายจ่ายอย่างต่อเนื่อง เช่น ค่าแรงงาน ค่าปุ๋ย ค่าสารเคมีกำจัดวัชพืช ค่าน้ำ ค่าไฟ ซึ่งเกษตรกรจำเป็นต้องดูแลรักษาต้นกล้วยไม้ให้แข็งแรง มีคุณภาพอยู่เสมอ โดยต้องใช้ต้นทุนเฉลี่ย 1 หมื่นบาทต่อไร่ต่อเดือน แต่จากการรายได้ไม่สมดุลกับรายจ่าย ทำให้เกษตรกรหลายรายต้องปล่อยสวนให้ร้างหรือรื้อถอนสวน หรือยกเลิกกิจการเป็นจำนวนมาก

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาจะต้องขยายตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งมีมาตรการด้านการเงิน เช่น การลดดอกเบี้ยให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. สำรวจข้อมูลเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ พร้อมวางแผนจัดงานกล้วยไม้เป็นงานประจำปีของจังหวัดนครปฐมและวางแผนจัดงานกล้วยไม้สัญจร ร่วมกับสหกรณ์ผู้ประกอบการกล้วยไม้ไทย จำกัด จำนวน 12 ครั้ง กระจายทั่วทุกภาคของประเทศ

พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรจำหน่ายสินค้าผ่านออนไลน์ โดยสร้างแพลทฟอร์มตลาดสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด โดยร่วมมือกับลาซาด้าในการออกแบบกล่องบรรจุให้เหมาะสม และลดค่าขนส่งให้กับเกษตรกรและผู้บริโภคที่สั่งซื้อกล้วยไม้

จังหวัดนครปฐมถือเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกกล้วยไม้มากที่สุดในประเทศ โดยเฉพาะกล้วยไม้สกุลหวาย ซึ่งในปี 2563 มีพื้นที่ปลูกกล้วยไม้รวม 11,572.96 ไร่ มีเกษตรกรปลูกกล้วยไม้ 652 ครัวเรือน มีผลผลิตรวม 15,414 ตัน คิดเป็นมูลค่า 712 ล้านบาทต่อปี โดยอำเภอที่มีพื้นที่เพาะปลูกมากที่สุด คือ อำเภอบางเลน 4,447.66 ไร่ รองลงมา คือสามพราน 2,702.1 ไร่ และนครชัยศรี 2,093.74 ไร่ ส่วนตลาดส่งออกที่สำคัญคือจีน มีสัดส่วนมากที่สุดถึง 90% ของผลผลิตทั้งหมด หรือประมาณ 1,156.5 ตันต่อเดือน คิดเป็นมูลค่า 54,350,534.7 บาทต่อเดือน