อคส.ชี้โทษ 3 พนักงานทุจริตถุงมือยาง 'ให้ออก-ไล่ออก'

คณะกรรมการสวนข้อเท็จจริงกรณีทุจริตถุงมือยางแสนล้าน แจ้งข้อกล่าวหา 3 พนักงาน ให้เวลาแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน ถ้าหักล้างไม่ได้เตรียมเอาผิดทางวินัย โทษสูงสุดคือไล่ออก พร้อมเดินหน้าฟ้องทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง เรียกชดใช้ค่าเสียหาย

พ.ต.อ.สุรพงศ์ เปล่งขำ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ องค์การคลังสินค้า หรือ อคส. ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง กรณีการจัดซื้อถุงมือยาง 500 ล้านกล่อง มูลค่า 112,500 ล้านบาท ระบุ คณะกรรมการฯได้เชิญผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 รายมารับทราบข้อกล่าวหา แต่มาเพียงรายเดียว คือ นายเกียรติขจร แซ่ไต่ ซึ่งได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา และจะขอชี้แจงภายใน 15 วันตามสิทธิ์

ส่วนอีก 2 ราย คือ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ อดีตรักษาการผู้อำนวยการ อคส. และนายมูรธาธร คำบุศย์ ไม่มารับฟังข้อกล่าวหา โดยนายมูรธาธร ให้เหตุผลว่าไปพบแพทย์ ซึ่งคณะกรรมการฯ จะส่งข้อกล่าวหาทางไปรษณีย์ต่อไป

สำหรับข้อกล่าวหาที่ได้แจ้งให้ทั้ง 3 ราย รับทราบ คณะกรรมการฯได้พิจารณาจากพยานหลักฐานต่างๆแล้ว พบว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 รายมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย คือ 1.ไม่รักษาและไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอันเกี่ยวกับองค์การ ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง คู่มือการปฏิบัติงานขององค์การ และมติคณะกรรมการอันเป็นเหตุให้เสียหายอย่างร้ายแรง

2.ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่การงานโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเอง หรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ และ3.ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต อาศัยตำแหน่งหน้าที่ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม แสวงหาประโยชน์มิควรได้แก่ตนเอง หรือแก่ผู้อื่น หรือช่วยเหลือผู้อื่นในทางที่จะทำให้เสียประโยชน์ขององค์กร ซึ่งข้อกล่าวหาทั้งหมด ถือเป็นความผิดวินัยร้ายแรง ตามระเบียบองค์การคลังสินค้าว่าด้วยการดำเนินการทางวินัยพ.ศ.2561

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 ราย จะมีเวลา 15 วันในการแก้ข้อกล่าวหา เมื่อครบ 15 วัน คณะกรรมการฯจะนำเอกสารหลักฐานต่างๆของทั้ง 3 รายมาพิจารณา ถ้าไม่สามารถหักล้างได้ ก็จะเสนอไปยังผู้อำนวยการ อคส. เกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต เพื่อตั้งคณะกรรมการ 2 ชุดคือ คณะกรรมการตรวจสอบทางวินัย เพื่อลงโทษทางวินัย ซึ่งความผิดวินัยร้ายแรง จะมีโทษคือ ให้ออก และไล่ออก

+++ เล็งฟ้อง 3 พนักงาน'ชดใช้'ค่าเสียหายทุจริตถุงมือยาง +++

ส่วนอีก 1 ชุด คือ คณะกรรมการความรับผิดทางละเมิด ตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อพิจารณามูลค่าความเสียหายที่ทั้ง 3 รายทำให้เกิดขึ้นกับอคส. และจะต้องชดใช้ให้อคส. โดยเมื่อได้ข้อสรุปมูลค่าความเสียหาย จะส่งเรื่องไปยังกระทรวงการคลังเพื่อยืนยันความเสียหาย จากนั้นอคส.จะส่งฟ้องให้ชดใช้ความเสียหายต่อไป

สำหรับการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 ราย ซึ่งคณะกรรมการฯมีมติเป็นเอกฉันท์ว่ามีความผิดวินัยร้ายแรง คือ อนุมัติจัดซื้อถุงมือยางและจ่ายเงินโดยไม่มีอำนาจ ถือเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของอคส.ว่าด้วยการค้าข้าว พืชผล และสินค้าต่างๆ เพื่อการค้าปกติพ.ศ.2526 ซึ่งกำหนดว่าการอนุมัติซื้อสินค้าวงเงินเกิน 50 ล้านบาทให้เป็นมติของบอร์ด อคส. แต่พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ กลับไม่เสนอให้บอร์ดพิจารณา

ส่วนการทำสัญญาซื้อและขายก็เป็นไปโดยมิชอบ คือ สัญญาไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากอัยการสูงสุด และไม่ได้ดำเนินการตามระเบียบของอคส.ว่าด้วยการจัดซื้อสินค้าเพื่อการค้าปกติ พ.ศ.2561 เพราะไม่ได้ตรวจสอบคุณสมบัติผู้ประกอบการ ไม่ได้ประกาศอย่างเปิดเผย ไม่ได้จัดทำรายงานตามระเบียบฯ

ขณะที่การจัดทำสัญญายังมีลักษณะเป็นการสมคบกันเพื่อเอื้อประโยชน์แก่เอกชน และเป็นการทำให้รัฐเสียเปรียบ โดยสัญญาซื้อ ที่อคส.ทำกับบริษัท การ์เดียน โกลฟส์ จำกัด ผู้ผลิตถุงมือยางนั้น กำหนดให้รัฐจ่ายเงินมัดจำก่อนที่จะให้เอกชนวางหลักค้ำประกันตามสัญญา ทั้งที่เงินมัดจำดังกล่าวเป็นจำนวนมากถึง 2 พันล้านบาท ส่วนสัญญาขายที่อคส.ทำกับเอกชน 7 ราย ที่มาซื้อถุงมือยางจากอคส.นั้น เป็นการขายที่เล็งเห็นได้ว่ารัฐขาดทุน

นอกจากนี้ ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 ราย จะมีความผิดทางคดีอาญาด้วย โดยคาดว่าคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.จะสรุปผลและชี้มูลความผิดเร็วๆนี้ เมื่อป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว จะส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดส่งฟ้องคดีอาญาต่อไป

ขณะเดียวกัน อคส.จะฟ้องร้องคดีแพ่งที่เกี่ยวกับคดีอาญา ตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส่วนกรณีของประธานบอร์ดอคส. สุชาติ เตชจักรเสมา ที่คณะกรรมการฯสอบถามกรณีถูกพาดพิงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่าเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อครั้งนี้นั้น จะทำข้อมูลชี้แจงมาให้คณะกรรมการฯภายในวันที่ 5 มีนาคมนี้ ส่วนจะมีความผิดด้วยหรือไม่นั้น ต้องรอผลการไต่สวนของป.ป.ช. เพราะคณะกรรมการฯมีอำนาจหน้าที่แต่เพียงตั้งข้อกล่าวหาเจ้าหน้าที่อคส. ทั้ง 3 รายเท่านั้น