รัฐจ่อดึงรายได้เชิงพาณิชย์ 'กด' ค่าตั๋วรถไฟฟ้า

คมนาคมกับนักวิชาการประสานเสียงค่าโดยสารรถไฟฟ้าไทยแพงจริง ชี้แนวทางแก้ไขต้องเก็บรายได้เขิงพาณิชย์มาอุดหนุนเหมือนต่างประเทศ

นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า ปัจจุบันราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าของไทยยังแพง แม้ว่าภาครัฐจะกำหนดเก็บค่าแรกเข้าไม่เกิน 14 บาท เพื่อให้อัตราค่าโดยสารไม่เกิน 42-44 บาท ซึ่งแนวโน้มในอนาคตจะต้องมีการเก็บรายได้จากร้านค้าในพื้นที่เขิงพาณิชย์ในการสร้างรายได้ เพื่อให้อัตราค่าโดยสารจะต้องถูกลง เหมือนกับรถไฟฟ้าต่างประเทศ จะเห็นได้ว่ามีร้านค้าจำนวนมากในสถานี

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า การพิจารณาว่าค่ารถไฟฟ้าแพงหรือไม่ รฟม.ในฐานะหน่วยงานหลักให้บริการรถไฟฟ้ามองว่า จะต้องดูที่ต้นทุนและรายได้รวม โดยการบริการรถไฟฟ้าของประเทศไทยแล้วจะเป็นรูปแบบการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน ดังนั้นการคิดค่าโดยสารเอกชนก็ต้องได้รับความเป็นธรรม แต่จะต้องเป็นอัตราค่าโดยสารที่ไม่แพงมาก ซึ่ยเป็นเรื่องของสัญญาระหว่างภาครัฐและเอกชนที่จะต้องดำเนินการตามสัญญา ซึ่งยังไม่มีการร้องเรียนเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพงกับรฟม.เข้ามา

ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าของประเทศไทยที่บอกว่าแพงหรือไม่แพงนั้น ต้องดูว่าเปรียบเทียบกับอะไร ถ้าเปรียบเทียบกับค่าครองชีพถือว่าแพง และหากเปรียบเทียบกับฐานการรถไฟฟ้าจากต่างประเทศ ก็ถือว่าแพงเช่นกัน เพราะเมื่อเปรียบเทียบทั้งค่าครองชีพและฐานต่างประเทศแล้ว ประเทศติดอันดับค่ารถไฟฟ้าราคาแพง

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าของไทยถือว่าแพงที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วน 26-28% ของค่าแรงขั้นต่ำ ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านมีสัดส่วนแค่ 3-9 % เท่านั้น