'กระทรวงพาณิชย์' สั่งร.พ.เอกชนแจงราคายาเพิ่มอีก 100 รายการ

'กระทรวงพาณิชย์' สั่งร.พ.เอกชนแจงราคายาเพิ่มอีก 100 รายการ

"กรมการค้าภายใน” แจ้งโรงพยาบาลเอกชน ส่งราคาซื้อ-ขายยา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ มาให้ภายในสิ้นเดือนนี้จำนวน 100 รายการให้บัญชีUCEP เน้นตรวจโควิด ส่วนวัคซีนโควิด เป็นหน้าที่สธ.ดูแล ย้ำขณะนี้ ราคายา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ลดลงอย่างมาก

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายในเปิดเผยว่า กรมได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังโรงพยาบาลเอกชนกว่า 300 แห่ง ให้แจ้งราคาซื้อ ราคาจำหน่ายยา เวชภัณฑ์ และบริการรักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการรักษาโรค ตามรายการที่อยู่ในบัญชีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ (UCEP)มาให้กรม โดยการแจ้งราคายานั้น ให้แจ้งเพิ่มเติมมาอีก 100 รายการของยายอดนิยม ที่อยู่ในบัญชีUCEPที่โรงพยาบาลเอกชนมักจะจ่ายให้กับผู้ป่วย จากก่อนหน้านี้ ให้แจ้งมาแล้ว 100 รายการ ส่วนค่าบริการรักษาพยาบาล ฯ จะให้แจ้งค่าบริการ ที่เกี่ยวกับการตรวจ และรักษาโควิด-19 มาให้ด้วย โดยกำหนดให้แจ้งมาภายในสิ้นเดือนมี.ค.นี้

 “การแจ้งเพิ่มเติมราคายา เวชภัณฑ์ และบริการรักษาพยาบาลฯ ก็เพื่อนำมาจัดทำเป็นQR Codeให้โรงพยาบาลเอกชนได้จัดแสดงในส่วนที่เห็นได้ชัด และให้ประชาชนที่เข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาล ได้สแกนเพื่อตรวจสอบราคาก่อนการใช้บริการ รวมถึงนำมาเผยแพร่บนเว็บไซต์กรมที่www.dit.go.thเพื่อให้ประชาชนตรวจสอบ และเปรียบเทียบราคาของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่งประกอบการตัดสินใจเข้ารับบริการ ซึ่งทุกรายยินดีให้ความร่วมมือ แจ้งราคามาให้ตามที่กรมแจ้งไป”

         

ส่วนราคาวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นเรื่องของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะกำกับดูแล เพราะขณะนี้ ยังไม่มีการนำเข้ามาขายเป็นการทั่วไป แต่รัฐบาลนำเข้ามาฉีดให้กับประชาชนแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม ประชาชนไม่ต้องกังวลค่ารักษาพยาบาลเกี่ยวกับโควิด-19 เพราะขณะนี้ รัฐบาลรักษาให้ฟรี จึงไม่ต้องกังวลเรื่องนี้

ขณะที่ค่าบริการที่เกี่ยวกับโควิดนั้น น่าจะเป็นค่าการตรวจโควิด-19 ซึ่งมีทั้งแบบกลุ่ม และแบบเดี่ยว หรือการตรวจแบบSwabหรือPCR(ใช้อุปกรณ์แหย่เข้าไปในจมูกแล้วเก็บของเหลวมาตรวจสอบ) ที่โรงพยาบาลแต่ละแห่งตรวจอยู่ในปัจจุบัน แต่หากจะใช้แยกเฉพาะค่าบริการรักษาพยาบาลโรคโควิด-19 เป็นการเฉพาะ โรงพยาบาลเอกชน แจ้งว่า คงไม่สามารถแจ้งได้ เพราะปัจจุบัน การรักษาโรคนี้ เป็นการรักษาตามอาการ เช่น ถ้ามีปอดอักเสบ ก็จะรักษาอาการปอดอักเสบ จึงไม่ใช่การรักษาโรคโควิด-19 โดยเฉพาะ

 

นายวัฒนศักย์ กล่าวต่อว่า กระทรวงพาณิชย์ ยังคงเดินหน้ากำกับดูแลยา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชนอย่างต่อเนื่อง โดยได้นำเข้าสู่บัญชีสินค้าและบริการควบคุมมาตั้งแต่ปี 62 ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 และออกมาตรการต่างๆ เพื่อกำกับดูแลไม่ให้ราคาสูงเกินจริง จนประชาชนเดือดร้อน รวมถึงประกาศราคาบนเว็บไซต์กรม ล่าสุด ประชาชนสามารถตรวจสอบราคายาในเว็บไซต์กรมได้มากถึง 32,419 รายการ ซึ่งเป็นยาทั้งที่อยู่ในบัญชีUCEPและยาตามรหัสบัญชีข้อมูลยาและรหัสยามาตรฐานไทย (TMT),เวชภัณฑ์ 792 รายการ และบริการทางการแพทย์ 5,292 รายการ

จากมาตรการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการไป ส่งผลให้ปัจจุบัน ราคายา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ ได้ปรับลดลงมาก เพราะโรงพยาบาลเอกชนมีการแข่งขันกันมากขึ้น เพื่อดึงดูดลูกค้า และปรับลดราคาลง เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนการนำเข้ามากขึ้น ซึ่งสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชน ที่เข้ารับบริการในโรงพยาบาลเอกชนเป็นอย่างมาก”