ดัชนีเชื่อมั่นต่างชาตินิวไฮ เล็งขนเงินลุย‘หุ้นไทย’กลางปีนี้

ดัชนีเชื่อมั่นต่างชาตินิวไฮ เล็งขนเงินลุย‘หุ้นไทย’กลางปีนี้

“เฟทโก้” เผยดัชนีความเชื่อมั่น "นักลงทุนต่างชาติ" 3 เดือนข้างหน้า (พ.ค.) นิวไฮที่ระดับ 183.33 เชื่อเตรียมกำเงินซื้อหุ้นไทย

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ เฟทโก้ รายงานดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือน ก.พ.2564 ต่อความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า (พ.ค.2564) อยู่ที่ระดับ 152.19 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 14.8% จากเดือนก่อนอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” พบ "นักลงทุนต่างชาติ" มีความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทยสูงที่สุดที่ระดับ 183.33 ปรับขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 47% มาอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรงอย่างมาก” ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (All Time High) ตั้งแต่จัดทำดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในเดือน ส.ค.2557

โดยนักลงทุนต่างชาติให้น้ำหนักปัจจัยบวกจากการไหลเข้าของเงินทุนมากที่สุด 50% ถัดมาเป็นปัจจัยบวกจากการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ 33.3% และสุดท้ายให้น้ำหนักกับสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลาย 16.7% ส่วนปัจจัยลบเป็นปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก ได้แก่ สถานการณ์เศรษฐกิจของภูมิภาคยุโรป 33.3% สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ 33.33% และสถานการณ์โควิด-19 ที่อาจยืดเยื้อ 16.7%

ขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุดเป็นการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นกัน โดยนักลงทุนบางส่วนยังคงกังวลจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีความเสี่ยงปรับขึ้น รองลงมาคือความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และสุดท้ายคือความกังวลการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ

ส่วนผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนอีก 3 กลุ่มที่เหลือ พบว่า กลุ่มนักลงทุนรายบุคคลมีความเชื่อมั่นลดลงที่ระดับ 140.74 ลดลง 2.3% จากเดือนก่อน ถัดมากลุ่มนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์อยู่ที่ระดับ114.29 ลดลง 8.6% จากเดือนก่อน และกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศอยู่ที่ระดับ 129.41 เพิ่มขึ้น 10% จากเดือนก่อน

ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า นักลงทุนต่างชาติที่มีความเชื่อมั่นการลงทุนตลาดหุ้นไทยมากที่สุด เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับนักลงทุนชาติอื่นๆ ซึ่งเป็นเจ้าของเงินทุน จึงน่าจะเห็นสัญญาณฟันด์โฟลว์ที่เตรียมจะเข้ามาลงทุนชัดเจนกว่านักลงทุนกลุ่มอื่นๆ

"ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 152.19 อยู่ในเกณฑ์ 'ร้อนแรง' ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สี่ โดยนักลงทุนให้น้ำหนักปัจจัยบวกจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คลี่คลายมากที่สุด ภายหลังจากที่ไทยได้รับวัคซีนลอตแรก รองลงมาเป็นแนวโน้มการไหลเข้าของเงินทุน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ"

ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานที่สนับสนุนการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ได้แก่ แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ สถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย การกระจายวัคซีนไปยังประชาชน โดยในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าคนไทยจะมีภูมิคุ้มกันกลุ่มรองรับการเปิดประเทศและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ได้แล้ว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่เป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยได้อานิสงส์จากกระแสเงินทุนต่างชาติที่มีแนวโน้มเข้ามาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) เพราะภาวะเศรษกิจของตลาดหุ้นเกิดใหม่มีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวได้ดีในปี 2564 อีกทั้งในวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้กลุ่มประเทศเกิดใหม่ยังมีฐานะการคลังที่ดีแตกต่างชาติวกฤตเศรษฐกิจครั้งก่อน สะท้อนจากที่ประเทศส่วนใหญ่ประมาณ 70-80% มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นรับมือกับการถอนนโยบายการตุ้นทางการเงิน (QE Tapering) ของธนาคารกลางสหรัฐได้

และสุดท้ายคือโอกาสปรับประมาณการกำไรของตลาดหุ้นไทย หรือกำไรต่อหุ้น (EPS) ปี 2564 ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสปรับขึ้นสูงกว่าระดับปัจจุบัน เนื่องจากนักลงทุนให้น้ำหนักกับการซื้อขายโดยดูจากอัตราส่วนราคาต่อกำไรล่วงหน้า (Forward P/E) ที่สะท้อนอนาคตของบริษัทจดทะเบียนได้ดีกว่ามูลค่าปัจจุบัน โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนจากสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) ต่อไป

ขณะที่หมวดธุรกิจที่นักลงทุนต่างประเทศสนใจลงทุนมากที่สุด คือ หมวดท่องเที่ยว รองลงมาเป็นหมวดธนาคารและหมวดปิโตรเคมี เช่นเดียวกับผลสำรวจรวมทุกกลุ่มนักลงทุนที่ให้คะแนนหมวดธุรกิจท่องเที่ยวมากที่สุดเช่นกัน โดยเป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของเฟทโก้ว่ากลุ่มธุรกิจดังกล่าวจะสามารถฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ในช่วงครึ่งปีหลังจากการเกิดประเทศรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง

ทั้งนี้ ราคาหุ้นในกลุ่มท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างอ่อนแอ (Underperform) จึงเหมาะสำหรับเป็นตัวเลือกลงทุนระยะยาวของกลุ่มนักลงทุนสถาบันสถาบันต่างประเทศ เช่น กองทุนบำเน็จบำนาญ (Pension Fund) ขณะที่กลุ่มธนาคารและกลุ่มพลังงานเป็นกลุ่มหุ้นที่อยู่ในเศรษฐกิจแบบเก่า (Old Economy) ที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเห็นการฟื้นตัวในปีนี้ หลังจากปีก่อนถูกขายตามภาวะเศรษฐกิจ

ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวอีกว่า ตลาดหุ้นไทยปี 2564 เป็นขาขึ้น และคาดว่าฟันด์โฟลว์จะไหลกลับเข้ามาลงทุนในช่วงกลางปีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังต่อเนื่องไปยังปี 2565 แม้จะไม่สามารถประเมินเม็ดเงินลงทุนเป็นมูลค่าได้ชัดเจน แต่เชื่อว่ากระแสเงินทุนที่จะไหลเข้ามาจะมีปริมาณที่มากอย่างมีนัยสำคัญ และจะช่วยหนุนการเติบโตของตลาดทุนไทยในระยะถัดไป

“สภาพคล่องทั่วโลกอยู่ในระดับสูงและยังสินทรัพย์ปลายทางเพื่อลงทุน แต่ที่เรามองว่านักลงทุนต่างชาติจะกลับมาช่วงกลางปี เนื่องจากปัจจุบันมีปัจจัยกดดันชั่วคราวจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่เร่งตัวขึ้น ส่งผลให้ฟันด์โฟลว์เลือกที่จะไหลเข้าตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้วที่มีความคืบหน้าการวัคซีนมากกว่าไทย ดังนั้น การกลับเข้ามาของต่างชาติน่าจะชัดเจนตั้งแต่กลางปี 2564 เป็นต้นไป”